กองทุนต่างประเทศแห่เข้าซื้อพันธบัตรตลาดเกิดใหม่เอเชีย อย่างเกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ไทย และอินเดียในสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่ส่งสัญญาณดีท่ามกลางวิกฤตในภาคธนาคารจากฝั่งตะวันตก
Bloomberg รายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนักลงทุนต่างชาติแห่เทเงินเข้าตลาดพันธบัตรเกาหลีใต้มากที่สุดในรอบ 8 เดือน เช่นเดียวกับตลาดพันธบัตรอินโดนีเซีย ที่เห็นเงินไหลเข้าแข็งแกร่งสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม นอกจากนี้ยังเห็น Flow ของกองทุนต่างประเทศที่เข้าซื้อพันธบัตรไทยและอินเดียในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย
ตลาดพันธบัตรตลาดเกิดใหม่เอเชียนับว่าได้รับอานิสงส์จากสกุลเงินที่มีความทนทาน (Resilient) และสัญญาณของอัตราเงินเฟ้อที่ใกล้แตะจุดพีค ท่ามกลางภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ผันผวนหนักที่สุดในรอบกว่าทศวรรษได้จุดประกายให้นักลงทุนมองหาที่หลบภัย ‘ทางเลือก’ ท่ามกลางคลื่นผลกระทบจากวิกฤตในภาคธนาคาร
ด้าน Winson Phoon, Head of fixed-income research จาก Maybank Securities ในสิงคโปร์กล่าวว่า พันธบัตรตลาดเกิดใหม่เอเชียกลายเป็นหลุมหลบภัยชั่วคราว เนื่องจากการเคลื่อนไหวค่อนข้างสงบและเป็นโล่ป้องกันที่ดีในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ เว้นแต่หากวิกฤตในภาคการธนาคารจะเลวร้ายลง และสภาวะการระดมทุนทั่วโลกเข้มตึงตัวขึ้น
ในสัปดาห์ที่แล้วพันธบัตรของประเทศเอเชียกำลังพัฒนาราคาเพิ่มขึ้นถึง 1.4% โดดเด่นกว่าภูมิภาคอื่นๆ ของโลก โดยพันธบัตรจากยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริการ่วงลงราว 1% ขณะที่ในลาตินอเมริการ่วงลงเกือบ 2%
ขณะที่สกุลเงินของตลาดเกิดใหม่เอเชียก็ปรับตัวแข็งค่าขึ้นได้ค่อนข้างดีในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ยังเป็นการช่วยรักษาอัตราผลตอบแทนพันธบัตร โดยเงินบาทของไทย เงินวอนของเกาหลีใต้ และดอลลาร์ไต้หวัน แข็งค่าอยู่ในอันดับต้นๆ ในหมู่สกุลเงินตลาดเกิดใหม่ 23 สกุลในสัปดาห์ที่แล้ว
นอกจากนี้ ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจยังช่วยเป็นแรงหนุน โดยตั้งแต่ เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ไทย ไปจนถึงจีน ได้เปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ เป็นไปตามที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ ซึ่งบ่งชี้ว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออาจถึงจุดสูงสุดแล้ว
โดยทีมนักเศรษฐศาสตร์ของ Goldman Sachs Group Inc. เขียนไว้ในบันทึกว่า อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในเอเชียอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับลาตินอเมริกา รวมถึงยุโรปกลาง ตะวันออกกลาง และแอฟริกา นอกจากนี้การเติบโตของเอเชียยังแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับประเทศเกิดใหม่ทั่วโลก ซึ่งเป็นผลมาจากการเปิดประเทศของจีน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เกิดอะไรขึ้นกับ ‘ฮ่องกง’ ทำไมสถานะ ‘ศูนย์กลางทางการเงินของเอเชีย’ กำลังถูกสั่นคลอน และอาจกลายเป็นแค่อดีต
- ส่องกรณีศึกษาการเติบโตของ เศรษฐกิจสิงคโปร์ ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่รออยู่ข้างหน้า
- เปิดจุดเด่น เวียดนาม หลังจ่อขึ้นแท่นประเทศที่คว้าชัยในยุค Deglobalization
อ้างอิง: