×

เจาะประเด็นการลงทุนรับผู้นำสหรัฐฯ พร้อมเผยเทคนิคเลือกกองทุนลดหย่อนภาษีรับโค้งสุดท้ายปีมังกร [ADVERTORIAL]

26.11.2024
  • LOADING...

SCB WEALTH จัดงานสัมมนา Exclusive Investment Talk ในหัวข้อ ‘เจาะประเด็นการลงทุนรับผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ พร้อมวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจโลก’ ให้แก่กลุ่มลูกค้าบุคคลที่มีสินทรัพย์สุทธิในระดับสูง (HNWIs) ณ SCB Investment Center ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนให้ข้อมูลภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนระดับโลก พร้อมคำแนะนำในการปรับพอร์ต รวมถึงการใช้ประโยชน์กองทุนรวมลดหย่อนภาษี และใช้เครื่องมือสับเปลี่ยนกองทุน เพื่อบริหารจัดการพอร์ตลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมายในการสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว

 

โดยในงานมี 2 ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน ได้แก่ เกษรี อายุตตะกะ CFP® ผู้อำนวยการกลยุทธ์การลงทุน และ ธนกฤต ศรันกิตติภัทร CFP® ผู้อำนวยการที่ปรึกษาการลงทุน SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์

 

เกษรี อายุตตะกะ CFP® ผู้อำนวยการกลยุทธ์การลงทุน SCB CIO ธนาคารไทยพาณิชย์ เผยมุมมองผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีต่อเศรษฐกิจและการลงทุนว่า การที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และจะมีพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งวันที่ 20 มกราคม 2025 จะส่งผลให้การผ่านร่างนโยบายต่างๆ ทำได้ค่อนข้างง่าย

 

 

มัดรวมนโยบายสำคัญของทรัมป์ที่มีผลต่อเศรษฐกิจและการลงทุน

 

สำหรับนโยบายสำคัญของทรัมป์ ได้แก่ นโยบายด้านภาษี ที่จะปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลที่มีรายได้ภายในประเทศจาก 21% เหลือ 15% ซึ่งจะเอื้อให้ภาคธุรกิจเสียภาษีน้อยลง ช่วยให้กำไรต่อหุ้น (EPS) ปรับตัวดีขึ้น, การสนับสนุนปรับลดภาษีธุรกิจต่างๆ, การยกเลิกให้เครดิตภาษีกลุ่มพลังงานสีเขียว, การยืดเวลาลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกไป จากเดิมสิ้นสุดสิ้นปี 2025 และการไม่เก็บภาษีรายได้จากประกันสังคม ค่าทิป และค่าล่วงเวลา

 

ด้วยมาตรการลดภาษีเหล่านี้จะทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการคลังมากขึ้น เนื่องจากใช้จ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการป้องกันประเทศ แต่จัดเก็บรายรับภาษีได้น้อยลง รวมทั้งช่วยหนุน GDP สหรัฐฯ

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีนโยบายกีดกันการค้าที่อาจกดดัน GDP สหรัฐฯ ได้แก่ การจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการจากจีน 60% รวมทั้งการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้ากับประเทศอื่นๆ ยกเว้นจีน 10-20%

 

ด้านนโยบายที่อยู่อาศัย จะส่งเสริมการสร้างที่อยู่อาศัยในชานเมืองและบริเวณรอบนอกเขตเมือง รวมทั้งลดหย่อนภาษีและสนับสนุนผู้ซื้อบ้านครั้งแรก ขณะที่นโยบายด้านผู้อพยพ จะจำกัดจำนวนผู้อพยพ และมีแผนเนรเทศผู้อพยพผิดกฎหมาย 7-11 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำลังแรงงานในสหรัฐฯ และเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อบนค่าจ้าง

 

นอกจากนี้ยังมีนโยบายต่ออุตสาหกรรมต่างๆ ได้แก่ กลุ่มสุขภาพ จะลดต้นทุนยาตามใบสั่งของแพทย์ และต้นทุนดูแลสุขภาพโดยรวม กลุ่มพลังงาน จะยกเลิกข้อจำกัดการผลิตน้ำมันและก๊าซในประเทศ ยกเลิกข้อจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และขยายการส่งออกก๊าซธรรมชาติ กลุ่มเทคโนโลยี จะดำเนินการคดีสำคัญกลุ่มเทครายใหญ่ที่ยังค้างอยู่ เช่น การผูกขาดตลาด และกลุ่มธนาคาร มีความเป็นไปได้ที่จะผ่อนคลายกฎระเบียบให้ธนาคารไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์สากลการกำกับดูแลเงินกองทุนของธนาคาร (Basel III)

 

สำหรับผลกระทบของนโยบายทรัมป์ที่มีต่อเศรษฐกิจโลกนั้น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่า กรณีสหรัฐฯ ยุโรป และจีน เก็บภาษีนำเข้าระหว่างกันเพิ่มขึ้น 10% และสหรัฐฯ เก็บภาษีประเทศคู่ค้าอื่นๆ จะทำให้ GDP ของโลกปี 2025 ปรับลดลง 0.8% และปรับลดลง 1.2% ในปี 2026 จากนั้นจะค่อยๆ ฟื้นตัวในปี 2027 แต่ GDP ในระยะกลางก็ยังลดลงอยู่เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีนโยบายนี้ออกมา 

 

ในระยะสั้น เศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบจากกำแพงภาษีที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้ต้นทุนการค้าสูงขึ้น เงินเฟ้อสูงขึ้น ขณะที่ SCB CIO มองว่า GDP โลกจะเติบโตในอัตราที่ชะลอลงมากกว่า GDP ของสหรัฐฯ จากประเด็นกำแพงภาษี เพราะจะทำให้รายได้ที่แท้จริง (รายได้ที่หักเงินเฟ้อแล้ว) ลดลง และทำให้ภาคธุรกิจในประเทศต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากกำแพงภาษี เลื่อนการลงทุนออกไปจากความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้า

 

ส่วนผลต่อเศรษฐกิจไทย ในระยะกลาง GDP จะลดลงประมาณ 0.5% จากการที่สินค้าไทยที่เคยส่งออกไปสหรัฐฯ ถูกเก็บภาษีเพิ่ม ทำให้ส่งออกได้น้อยลง ขณะที่จีนก็จะกระจายสินค้าส่งออกไปยังประเทศอื่นรวมถึงไทย เมื่อถูกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่ม ทำให้สินค้าไทยได้รับผลกระทบจากการถูกสินค้าจีนทุ่มตลาด 

 

นอกจากนี้ยังกระทบกับการลงทุน เพราะนักลงทุนต่างชาติที่ไม่มั่นใจว่าไทยจะถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าเพิ่มอย่างไร อาจมีแนวโน้มชะลอการลงทุน แต่ในเวลาเดียวกัน หากมองระยะกลาง ไทยจะได้ประโยชน์จากการที่นักลงทุนมองหาการลงทุนในประเทศอาเซียนที่ถูกเก็บภาษีนำเข้าน้อยกว่าจีน 

 

 

เกาะติดนโยบายดอกเบี้ยของ Fed หลังทรัมป์กลับมาเป็นประธานาธิบดี

 

สำหรับแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) หลังจากทรัมป์กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ SCB WEALTH คาดว่า Fed จะลดดอกเบี้ยอีก 0.25% (25 bps) ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) เดือนธันวาคมนี้ เนื่องจากเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่เหมาะสมและยังไม่มีแรงกดดันจากเงินเฟ้อ ขณะที่ตลาดแรงงานตึงตัวลดลง ทำให้จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยต่อ

 

ส่วนปี 2025 นักลงทุนมองว่า Fed อาจลดดอกเบี้ยเพียง 0.75% (75 bps) น้อยกว่าที่ Fed มองว่าจะลด 1% (100 bps) จากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลายตัวออกมาดี และนโยบายของทรัมป์อาจทำให้เงินเฟ้อกลับมา

 

ส่วนมุมมองของ SCB CIO คาดว่า Fed มีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ย 1% (100 bps) ในปี 2025 โดย Fed จะประเมินสถานการณ์เงินเฟ้อและการจ้างงานจากมาตรการของทรัมป์ และข้อมูลเศรษฐกิจที่ประกาศออกมา ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนทิศทางอัตราดอกเบี้ย

 

นอกจากนี้ คาดว่า เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed มีแนวโน้มดำรงตำแหน่งประธาน Fed ต่อจนครบวาระ และดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่องไปได้จนกว่าจะครบวาระตำแหน่งประธาน Fed 4 ปี ในเดือนพฤษภาคม 2026 และครบวาระตำแหน่งผู้ว่าการ Fed 14 ปี ในปี 2028 

 

ผลกระทบต่อจีนและประเทศในเอเชียจากการกลับมาของทรัมป์

 

เมื่อพิจารณาผลกระทบต่อจีนหลังทรัมป์เป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง จีนมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าอย่างมาก ทำให้ SCB WEALTH คาดว่า ทางการจีนจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม และ/หรือ ออกมาตรการตอบโต้กลับ เช่น ปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลงบางส่วน และขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้กลับ 

 

ขณะที่พื้นที่อื่นในเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ค่อนข้างสูง และเสี่ยงเผชิญการขึ้นภาษีนำเข้าเพิ่มเติมจากสหรัฐฯ ได้แก่ เวียดนาม ไต้หวัน และเกาหลีใต้ อย่างไรก็ดี เวียดนามยังมีแนวโน้มได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนอยู่ 

 

กลยุทธ์การลงทุน หลังทรัมป์ชนะเลือกตั้ง

 

เมื่อติดตามสถานการณ์ตลาดการเงินพบว่า มีการตอบสนองต่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างรวดเร็ว โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาทองคำปรับลดลง 

 

ทั้งนี้ SCB WEALTH มองว่า ในระยะสั้นตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาดหุ้นโลก จากการลดภาษีเงินได้บริษัท และการต่ออายุการลดภาษีเงินได้บุคคล รวมทั้งการผ่อนคลายกฎระเบียบ ซึ่งจะช่วยชดเชยผลลบจากการขึ้นภาษีนำเข้าจากคู่ค้าโดยเฉพาะจีน 

 

ส่วนในระยะยาว ความกังวลบนประเด็นขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้น จะกระทบ Valuation ผ่านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (UST Yield) ระยะยาวที่เพิ่มขึ้น และความเสี่ยงที่ประเทศคู่ค้าจะตอบโต้ทางการค้า โดยกลุ่มหุ้นสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะได้อานิสงส์จากแนวนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ ได้แก่ กลุ่ม Financials, Energy, Materials และ Traditional Autos ด้านผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ใน S&P 500 ในไตรมาสที่ 3 ปี 2024 โดยรวมกำไรขยายตัวและดีกว่าตลาดคาด 

 

ขณะที่ SCB WEALTH มองว่า ตลาดหุ้นจีนมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากกำแพงภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่กระทบกำไร บจ. จีน ตามที่ บจ. ใน CSI 300 โดยรวม มีรายได้จากต่างประเทศ 14% และถึงแม้ที่ผ่านมาจีนพยายามกระจายความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทานผ่านการไปตั้งโรงงานนอกจีนแล้ว แต่ก็อาจมีความเสี่ยงที่สหรัฐฯ จะคุมเข้มสินค้าจีนที่ถูกส่งออกมาสหรัฐฯ ผ่านประเทศที่ 3 อยู่ดี ขณะเดียวกัน ยังเผชิญผลลบทางอ้อมจากเศรษฐกิจจีนที่ได้รับผลกระทบภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และไปกดดันผลประกอบการของ บจ. จีนโดยรวม

 

นอกจากนี้ แนวโน้มเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าเทียบเงินหยวนและ UST Yield ที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลลบต่อตลาดหุ้นจีนด้วย 

 

สำหรับตราสารหนี้ SCB WEALTH มองว่า เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Yield Curve) มีแนวโน้มปรับเพิ่มความชัน จากการที่นักลงทุนเชื่อมั่นน้อยลงว่า Fed จะลดอัตราดอกเบี้ยเชิงรุก เพราะมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจยังเติบโตดี ประกอบกับกังวลเรื่องการใช้จ่ายทางการคลังที่มากขึ้นและเงินเฟ้อที่สูงขึ้น หลังทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง จึงแนะนำให้เน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และหุ้นกู้เอกชนสหรัฐฯ ที่มีอายุ 2-4 ปี ที่ให้อัตราผลตอบแทนในกรอบ 4.3-4.9% ในปัจจุบัน

 

ในส่วนราคาทองคำปรับลดลงเนื่องจากเผชิญแรงขายทำกำไร หลังทราบผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกอบกับยังได้รับแรงกดดันจากดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่า และ UST Yield สหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น

 

ในส่วนของกลยุทธ์การลงทุน เพื่อให้สอดรับกับการกลับมาของทรัมป์นั้น SCB WEALTH แนะนำให้นักลงทุนยังลงทุนต่อเนื่อง (Stay Invested) บนพอร์ตลงทุนระยะยาว 1 ปีขึ้นไป (Core Portfolio) เพื่อตอบโจทย์ 3 วัตถุประสงค์ ได้แก่

 

  1. สร้างกระแสเงินสด ให้พอร์ตมีเสถียรภาพ แนะนำพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และหุ้นกู้เอกชนคุณภาพสูง (Investment Grade) ของสหรัฐฯ อายุ 2-4 ปี 

 

  1. สร้างการเติบโตให้พอร์ต เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าพอร์ตในระยะยาว โดยเน้นลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่ม Quality Growth สหรัฐฯ ที่กำไรของ บจ. ยังเติบโตดี และอยู่ในกลุ่ม New Economy ผสมผสานกับกลุ่ม Defensive สหรัฐฯ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากสงครามการค้า นอกจากนี้ ให้กระจายการลงทุนในตลาดหุ้นเกิดใหม่ (EM) ด้วย ได้แก่ ตลาดหุ้นอินเดีย อินโดนีเซีย จีน A-Share และไทย 

 

  1. ป้องกันความเสี่ยง ด้วยทองคำ ซึ่งช่วยป้องกันความเสี่ยงเงินเฟ้อและความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ได้ดี โดยที่ขณะนี้ทองคำมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางทั่วโลกสะสมทองคำเป็นทุนสำรองเพิ่มขึ้นด้วย 

 

ขณะที่พอร์ตลงทุนส่วนเสริม (Opportunistic Portfolio) ลงทุนระยะสั้นกว่า 1 ปี สำหรับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางขึ้นไป แบ่งเงินบางส่วน (15-25%) ลงทุน แนะนำดังนี้

 

  • ตลาดหุ้นเวียดนาม เนื่องจากเศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวแข็งแกร่ง รัฐบาลตั้งเป้าการเติบโตของ GDP ปี 2025 อยู่ที่ 6.5-7.0% กำไร บจ. ในไตรมาส 3/24 มีแนวโน้มเติบโตได้ดี ขณะที่การยกเลิกมาตรการ Pre-Funding เพื่อสอดรับแนวโน้มการอัปเกรดสถานะตลาดหุ้นสู่ตลาด EM ที่ชัดเจนขึ้น มีแนวโน้มดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ และ Valuation ของตลาดยังน่าสนใจ แต่ยังต้องติดตามแผนการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์ที่มีกับจีนและเวียดนาม

 

  • ตลาดหุ้นไทย จากภาพรวมเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก ทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม และการบริโภคมีแนวโน้มฟื้นตัว ซึ่งจะช่วยสนับสนุนกำไรของ บจ. ขณะที่ Valuation ของดัชนียังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยค่อนข้างยืดหยุ่น แม้ EPS จะถูกปรับประมาณการลดลงตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน 2024 แต่ดัชนียังปรับเพิ่มขึ้นได้ค่อนข้างดี ซึ่งได้แรงหนุนจากปัจจัยในประเทศ ทั้งนี้ ผลจากกำแพงภาษีของสหรัฐฯ อาจกระทบการส่งออกและการลงทุนในระยะสั้น แต่ในระยะกลาง-ยาว จะเกิดการย้ายฐานการผลิต ซึ่งช่วยสนับสนุนเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ที่จะไหลเข้ามา

 

  • ดัชนี Russell 2000 ในระยะสั้นมีโอกาสปรับขึ้นได้จากการที่ Valuation เมื่อเทียบกับ S&P 500 ยังน่าสนใจ อีกทั้งดัชนีมีแนวโน้มได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง เนื่องจาก บจ. ที่อยู่ในดัชนีมีสัดส่วนหนี้ที่คิดอัตราดอกเบี้ยลอยตัวค่อนข้างมาก ทั้งยังได้ประโยชน์จากโมเมนตัมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังดี และแนวนโยบายทรัมป์เอื้อประโยชน์ต่อดัชนี เพราะ บจ. ในดัชนีมีรายได้จากในสหรัฐฯ เป็นหลัก และผลการดำเนินงานของดัชนียัง Laggard S&P 500 อยู่

 

กลยุทธ์บริหารพอร์ตกองทุนลดหย่อนภาษีรับมือทรัมป์นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดี

 

ธนกฤต ศรันกิตติภัทร CFP® ผู้อำนวยการที่ปรึกษาการลงทุน SCB CIO ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “สิ่งที่นักลงทุนกังวลในเวลานี้คือ จะปรับพอร์ตลงทุนอย่างไรให้สอดรับกับสถานการณ์ตลาด พร้อมกับการรับมือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2025 หลังจากทรัมป์เป็นประธานาธิบดี โดยเฉพาะพอร์ตลงทุนลดหย่อนภาษี เนื่องจากช่วงนี้เป็นโค้งสุดท้ายของการลงทุนลดหย่อนภาษีสำหรับปีนี้ ซึ่งมีผลวิจัยระบุว่า 90% ของนักลงทุนจะเริ่มกลับมาดูพอร์ตลดหย่อนภาษีช่วงนี้”

 

 

ทั้งนี้ SCB WEALTH มองว่า สิ่งที่นักลงทุนต้องพิจารณาก่อนลงทุนกองทุนลดหย่อนภาษีมีด้วยกัน 6 ประเด็น คือ

 

  1. สิทธิประโยชน์ทางภาษี ข้อกำหนด เงื่อนไขการลงทุน ของกองทุนลดหย่อนภาษี ซึ่งมีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (ThaiESG) รวมถึงศึกษาว่ากองทุนที่สนใจมีนโยบายการลงทุนอย่างไร โดยในกรณีที่ไม่มีข้อจำกัดด้านเงินลงทุน สามารถลงทุนได้เต็มสิทธิเลย แต่ต้องระมัดระวังไม่ลงทุนเกินสิทธิที่มี เพราะส่วนที่เกินจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี 

 

  1. กำหนดวัตถุประสงค์การลงทุน โดยจากข้อมูลในอดีต ผู้ที่ลงทุนกองทุนรวมลดหย่อนภาษีส่วนใหญ่มักจะซื้อเพื่อการลดหย่อนภาษีเพียงอย่างเดียว และถือจนกระทั่งถึงเวลาขายหน่วยลงทุนได้ หากเป็นไปได้ SCB WEALTH แนะนำให้นักลงทุนกำหนดวัตถุประสงค์ในการลงทุนด้วย เช่น เพื่อลงทุนระยะยาวหรือเพื่อเกษียณอายุ ซึ่งการกำหนดวัตถุประสงค์จะช่วยให้นักลงทุนตื่นตัวกับการเข้าไปบริหารจัดการพอร์ตกองทุนลดหย่อนภาษีมากขึ้น

 

  1. คำนึงถึงระยะเวลาลงทุนที่มี โดยกรณีเริ่มลงทุนเร็วจะมีทางเลือกการลงทุนได้มาก เพราะมีเวลาลงทุนนาน แต่กรณีที่เริ่มต้นลงทุนช้าก็จะทำให้ทางเลือกการลงทุนน้อยลง จากความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของนักลงทุนที่ลดลง

 

  1. พิจารณานโยบายและข้อกำหนดการลงทุน ซึ่งจะช่วยคัดกรองได้ว่าจะเลือกลงทุนกองทุนลดหย่อนภาษีกองไหน เนื่องจากกองทุนรวมลดหย่อนภาษีมีนโยบายแยกย่อยให้เลือกค่อนข้างหลากหลาย

 

  1. สภาพคล่อง หลายท่านลงทุนลดหย่อนภาษีโดยวางแผนไว้ตั้งแต่ต้นปี กระจายการลงทุนตั้งแต่ต้นปี ทำให้การลงทุนลดหย่อนภาษีทำได้ราบรื่น แต่ในกรณีที่ไม่ได้วางแผนไว้ เพิ่งมาพิจารณาการลงทุนไตรมาสสุดท้าย และต้องลงทุนด้วยจำนวนเงินก้อนใหญ่ทีเดียว จะต้องวางแผนให้ดีว่าจะนำเงินส่วนไหนมาลงทุน

 

  1. บริหารจัดการ ให้พิจารณาการลงทุนกองทุนลดหย่อนภาษีในแบบพอร์ตการลงทุนโดยรวม พร้อมกับใช้เครื่องมือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน หรือ Switching บริหารพอร์ต เช่น มองการลงทุนในตลาดหุ้นจีนไม่ค่อยดีแล้ว หากจะขายก็ผิดกฎ แต่จะไปลงทุนสินทรัพย์ไหนยังนึกไม่ออก ก็สามารถสับเปลี่ยนเงินลงทุนไปยังกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market) หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนลดหย่อนภาษีก่อนได้ เมื่อมั่นใจแล้วว่าจะนำเงินไปลงทุนกองทุนลดหย่อนภาษีกองไหน ก็ค่อยสับเปลี่ยนเงินไปยังกองทุนนั้นต่อได้ 

 

ตัวอย่างการใช้กลยุทธ์สับเปลี่ยนกองทุนรับมือทรัมป์กลับมาเป็นประธานาธิบดี ได้แก่ กรณีนักลงทุนเคยซื้อกองทุน RMF ลดหย่อนภาษีที่ลงทุนตลาดหุ้นจีนไว้ ซึ่งมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากการที่ทรัมป์ขึ้นภาษีสินค้านำเข้ากับจีน ก็อาจลงทุนเพิ่ม ถัวเฉลี่ยต้นทุนได้ หากมองว่าอนาคตระยะยาวยังดี หรืออาจถือไว้ ไม่ลงทุนเพิ่มในช่วงนี้ เพื่อรอดูสถานการณ์ โดยอาจลงทุนในกองทุน RMF ที่ลงทุนในตลาดเงินหรือตราสารหนี้ก่อน 

 

เมื่อติดตามสถานการณ์แล้วเห็นภาพชัดขึ้นว่าจีนมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่น่าสนใจ มีความมั่นใจกับตลาดหุ้นจีนมากขึ้น จึงค่อยสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนจากกองทุน RMF ที่ลงทุนในตลาดเงินหรือตราสารหนี้ มายังกองทุน RMF ที่ลงทุนในตลาดหุ้นจีน

 

 

อีกตัวอย่างคือ กรณีที่เคยลงทุนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ไว้แล้วขาดทุนอยู่มาก อาจเลือกลงทุนในกองทุน ThaiESG ซึ่งมีนโยบายการลงทุนในหุ้นไทยเหมือนกัน เพื่อถัวเฉลี่ยต้นทุน หรือกรณีลงทุนกองทุน ThaiESG อยู่ก็สามารถจัดพอร์ตลงทุน ThaiESG ได้ เนื่องจากกองทุนนี้มีทั้งนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ ตราสารทุน และกองทุนผสม ให้เลือกลงทุน

 

ขณะเดียวกัน นักลงทุนสามารถใช้พอร์ตลงทุนต้นแบบตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ สำหรับการลงทุนในกองทุนรวมทั่วไป มาปรับใช้กับกองทุนลดหย่อนภาษีได้ เช่น ตัวอย่างพอร์ตลงทุนที่มีความเสี่ยงปานกลาง ซึ่ง SCB CIO แนะนำแบ่งเงินลงทุนใน Core Portfolio 85% และ Opportunistic Portfolio 15% หรือจะเน้นการลงทุนภายใต้ Core Portfolio อย่างเดียว อาจแบ่งเงินไว้ในสินทรัพย์สภาพคล่อง 5% ตราสารหนี้ 52% กองทุนผสม 4% ตราสารทุน 35% และสินค้าโภคภัณฑ์ 4% ก็สามารถนำกองทุน RMF ที่มีนโยบายการลงทุนสอดคล้องกับกลยุทธ์การลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ภายใต้ Core Portfolio มาจัดพอร์ตได้ 

 

คำเตือน

  • การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
  • กองทุนรวมนี้มีลักษณะเฉพาะและความเสี่ยงเฉพาะ ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ระบุไว้ในคู่มือการลงทุน กรณีไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขทางภาษีจะไม่ได้สิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขของกองทุน รวมถึงควรลงทุนในกองทุนรวมที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การลงทุนของตน และยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนได้
  • เนื่องจากกองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
  • ศึกษาข้อมูลกองทุนหลักและหนังสือชี้ชวนกองทุนเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ไทยพาณิชย์ จำกัด และแอปพลิเคชัน SCB EASY หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ SCB Call Center โทร. 0 2777 7777
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X