×

กลยุทธ์ลงทุนรับมือ Trump 2.0

19.07.2024
  • LOADING...
Trump Trade 2.0

การเลือกตั้งสหรัฐอเมริกากลายเป็นประเด็นเด่นที่สุดในหน้าข่าวทั่วโลกทันที เมื่ออดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รอดจากการถูกลอบสังหาร และได้รับการสนับสนุนให้เป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในฝั่งรีพับลิกันเป็นที่เรียบร้อย

 

บรรดานักวิเคราะห์ทั่วโลกเริ่มเห็นไปในทางเดียวกันว่าโอกาสที่ทรัมป์จะกลับมาเป็นประธานาธิบดีมีสูงขึ้นอย่างมาก นักลงทุนอย่างเราจึงต้องวิเคราะห์การกลับมาของทรัมป์และพรรครีพับลิกันว่าจะส่งผลอะไรกับเศรษฐกิจ และ Trump Trade 2.0 คืออะไรกันแน่

 

ในมุมเศรษฐกิจ ผมมองว่าการสลับขั้วการเมืองที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ 3 ด้าน ได้แก่ การใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ภาษี และนโยบายต่างประเทศ

 

ด้านการลงทุนและใช้จ่ายภาครัฐ จุดสนใจจะเปลี่ยนจากพลังงานทางเลือก และยูเครน ไปเป็นพลังงานเก่า จีน และเกาหลีเหนือ

 

ผมคาดว่าผลกระทบเชิงงบประมาณไม่สูง เพราะการใช้จ่ายและลงทุนไม่นับรวมดอกเบี้ยของสหรัฐฯ กว่า 70% เป็นงบประจำ การเปลี่ยนแปลงจะเป็นลักษณะของการผันงบประมาณที่มีอยู่ไปใช้ในด้านอื่น

 

นโยบายที่มีโอกาสถูกถอดมากที่สุดคาดว่าจะเป็น Inflation Reduction Act (IRA) มูลค่า 4.3 แสนล้านดอลลาร์ และงบประมาณด้านการทหารที่เกี่ยวข้องกับการรบในยูเครน (ทั้งที่ตั้งไปแล้วและกำลังของเพิ่ม) ในวงเงินรวมราว 1.8 แสนล้านดอลลาร์ รวมกันคิดเป็นราว 2.4% ของ GDP

 

ผมมองว่างบประมาณเหล่านี้จะถูกผันไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานดั้งเดิม ที่คาดว่าจะลดต้นทุนพลังงาน และสร้างงานให้ชาวอเมริกัน ตอบโจทย์เศรษฐกิจได้ง่ายกว่า

 

ประเด็นที่สองคือเรื่องภาษี คาดว่าจะมีการต่ออายุนโยบายลดภาษี TCJA แน่ แต่อาจไม่มีการลดภาษีนิติบุคคลเพิ่มเติม

 

ในมุมมองของผม การกลับมาของทรัมป์ทำให้โอกาสการต่ออายุนโยบาย Tax Cuts and Jobs Act (TCJA) ที่กระทบกับการใช้จ่ายของชาวอเมริกันสูงถึงราว 1-1.5% ของ GDP และกำลังจะหมดอายุลงปลายปี 2025 เกิดขึ้นค่อนข้างแน่นอน

 

แต่ในฝั่งภาษีนิติบุคคล ครั้งนี้ดูจะไม่ใช่นโยบายที่ทรัมป์ให้ความสำคัญมากนัก เนื่องจากระดับ Corporate Tax ปัจจุบันที่ 21% ถือว่าไม่สูงเมื่อเทียบกับทั่วโลก และการขาดดุลการคลังต่อปีปัจจุบันก็สูงมาก

 

ประเด็นด้านภาษี ผมมองว่าจะเพิ่มความเสี่ยงด้านวินัยการคลัง และอาจทำให้ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวลงยาก

 

ประเด็นร้อนที่สุดคือภาษีการค้า คาดว่าจะเพิ่มความผันผวนและความไม่แน่นอนอย่างมากให้กับเศรษฐกิจสหรัฐฯ และโลก

 

ความไม่แน่นอนอย่างแรกอยู่ที่ลักษณะของนโยบาย ในปัจจุบันทรัมป์โยนแนวคิดไว้ 2 รูปแบบ

 

แบบแรกคือขึ้นภาษี 10% รับสินค้านำเข้าทั้งหมด ที่ไม่แน่ว่าจะเป็นการกำหนดขั้นต่ำหรือเป็นภาษีส่วนเพิ่ม ขณะที่อีกแนวคิดหนึ่งของทรัมป์คือการเก็บภาษีนำเข้าเฉพาะสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นเป็น 60% ในทุกหมวด

 

ในทางทฤษฎี ภาษีการค้านอกจากจะเป็นต้นทุนของชาวอเมริกันที่ต้องแบกรับเพิ่มขึ้นราว 2.5-3 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี หรือราว 1.2% ของ GDP ภาษีการค้าอาจหนุนให้ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินค้า รวมถึงอาจทำให้ตลาดหุ้นประเทศคู่ค้าถูกกดดันไปพร้อมกัน

 

เมื่อเราเข้าใจนโยบายของทรัมป์และผลกระทบกับเศรษฐกิจคร่าวๆ แล้ว ก็ได้เวลาประเมิน Trump Trade 2.0

 

ผมมองว่าการกลับมาครั้งนี้พื้นฐานของตลาดไม่เหมือนเดิม ทำให้การวางกลยุทธ์รับมือมีความแตกต่าง

 

Trump Trade 1.0 เกิดขึ้นตอนดอกเบี้ยต่ำและเป็นขาขึ้น แตกต่างจากปัจจุบันที่ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ สูงและเป็นขาลง

 

เมื่อคิดรวมกับนโยบายของทรัมป์ข้างต้นแล้วจะเห็นได้ชัดว่า Trump Trade 1.0 และ 2.0 เป็น Inflationary ทั้งคู่ แต่ช่วงปี 2017-2020 มีนโยบายการเงินทยอยเข้มงวดเข้าควบคุม ต่างจากครั้งนี้ ถ้า Fed ลดดอกเบี้ยทันที อาจส่งผลให้เงินเฟ้อไม่ลดลงตามเป้าหมาย หรือพลิกกลับเป็นขาขึ้นได้

 

ในรอบนี้ผมจึงมองว่าการกลับมาของทรัมป์อาจทำให้ Fed ชะลอหรือลดขนาดการลดดอกเบี้ย ไม่ใช่ปัจจัยบวกกับบอนด์

 

ความต่างอย่างที่สองคือ Trump Trade 2.0 เกิดขึ้นในช่วงที่ Valuation ของหุ้นสหรัฐฯ แพงกว่า 1.0 มาก

 

เปรียบเทียบจาก Long-Term P/E ของ S&P 500 ช่วงครึ่งหลังของปี 2016 ที่ 21x กับปัจจุบันที่ 34x จะเห็นชัดว่าหุ้นขยายตัวขึ้นถึงกว่า 60% แม้นโยบายในรอบนี้จะไม่ได้มีความเสี่ยงที่อาจทำให้หุ้นปรับฐาน แต่ทั้งหมดอาจไม่ใช่นโยบายที่จะกระตุ้นให้ตลาดเกิดความอยากลงทุนในระดับราคาที่แพงมากขึ้นได้เช่นกัน

 

มีความเป็นไปได้สูงที่ Trump Trade 2.0 จะเป็นการหมุนเวียนเปลี่ยนสไตล์ เช่น จากหุ้นใหญ่ไปหุ้นเล็ก หุ้น Global มาเป็น Domestic หรืออาจขยับไปลงทุนหุ้นต่างประเทศแทนที่การกระจุกตัวในหุ้นบริษัทใหญ่

 

ด้านผลตอบแทนในอดีต ครึ่งหลังของปี 2016 ก่อนทรัมป์ชนะเลือกตั้ง การลงทุนกลุ่ม Cyclicals อย่าง Technology, Financials และ Consumer Discretionary ทำผลตอบแทนได้ดีที่สุดถึง 11-17% ขณะที่ Utilities, Consumer Staple และ Healthcare เป็น 3 กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนแย่ที่สุด ผมมอง Trump Trade 1.0 และ 2.0 แทบไม่แตกต่างกันในเชิงแนวคิด จึงคาดว่าตลาดจะตอบรับเหมือนเดิม

 

อย่างไรก็ดี อย่ารีบวางใจว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามคาดทั้งหมด ผมเชื่อว่าจากนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้ง (5 พฤศจิกายน) ต้องมีอะไรเซอร์ไพรส์เราอีกแน่นอนครับ

 

ดัชนี S& P500 ช่วงที่โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

 

ภาพ: Bloomberg and FSS

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X