×

การลงทุนฟื้นตัว ‘เร็วและแรง’ แซงเศรษฐกิจไปไหม?

22.01.2023
  • LOADING...
การลงทุน

สวัสดีครับนักลงทุนทุกท่าน หวังว่าพอร์ตลองทุนของเราจะฟื้นตัวตามตลาดการเงินที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นปี 2023 

 

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา สินทรัพย์ที่ปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นยังคงเป็นกลุ่มคริปโต ตลาดหุ้นญี่ปุ่นฟื้นตัวขึ้นบ้างหลังนโยบายการเงินของ BOJ ไม่เข้มงวดเร็วอย่างที่ตลาดเคยกังวล และธีมเติบโตสูงอย่าง Innovation มีแรงซื้อกลับหลัง Bond Yield ร่วงลงต่อเนื่อง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ต้นปีอันดับของสินทรัพย์ส่วนใหญ่ยังไม่เปลี่ยนแปลง คริปโตยังเป็นสินทรัพย์ที่ปรับตัวขึ้นสูงสุด 35-40% ตามด้วยสินค้าโภคภัณฑ์อย่างทองแดงที่บวก 11% พร้อมกับหุ้นฮ่องกง (Hang Seng Index) ที่ปรับตัวขึ้น 11% ขณะที่ดอลลาร์ (Dollar Index) ยังเป็นเพียงสินทรัพย์เดียวที่ปรับฐานลง 1.5% ภายในช่วงต้นปี

 

3 ธีมหลักที่เราเห็นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แก่ Fed Easing vs. Rest of the World Tightening, US Soft-Landing และ China Restart รับข้อมูลเพิ่มและเกิดการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมามีธีมใหม่อย่าง Next-Gen Tech Taking-Off เป็นทางเลือกของนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง

 

China (Still) Reopening ยังไม่ไปถึง China Restart 

การผ่อนคลายมาตรการ Zero-COVID ที่เร็วกว่าคาด และการตอบรับที่ดีของชาวจีน ยังคงส่งผลบวกกับการลงทุนต่อเนื่องในช่วงนี้

 

แม้ผมจะกังวลในแง่ความต่อเนื่อง เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจจีนล่าสุดยังไม่ได้แสดงถึงการฟื้นตัวของการลงทุนหรือภาคอุตสาหกรรม แต่ตลาดดูจะไม่ให้ความสำคัญมากนักกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ผมเรียกว่า China Restart

 

ระยะสั้นผมมองว่า นักลงทุนอาจจับตาไปที่ A-Share ซึ่งมักปรับตัวขึ้นได้ดีกว่า H-Share ช่วงหนึ่งเดือนหลังตรุษจีน (ตั้งแต่ปี 2009-2022 ดัชนี CSI 300 ให้ผลตอบแทนดีกว่า MSCI China ราว 1.7-2.8%) หลังจากนั้นค่อยกลับไปจับตาที่กลุ่มที่สามารถสร้าง Multiple Expansion เช่น Tech ต่อไปได้ 

 

Fed Easing กลายเป็น Fed Pause และปัญหาอาจเปลี่ยนเป็นเรื่องภายในประเทศ

เป็นไปตามที่ผมคาดไว้ว่า ตลาดเริ่มปรับมุมมองว่าการลดดอกเบี้ยอาจเกิดขึ้นจริงได้ยาก ด้วยตัวเลขเศรษฐกิจในปัจจุบัน และการหยุดขึ้นดอกเบี้ยและคงไว้ในระดับสูง ดูจะมีเหตุผลมากที่สุด

 

ล่าสุดปัญหา ‘เพดานหนี้’ กลับมาเป็นเรื่องด่วนทางการเมือง เมื่อหนี้ภาครัฐสูงกว่าเพดาน 31.4 ล้านล้านดอลลาร์เป็นที่เรียบร้อย และมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นกว่า 7.8 แสนล้านดอลลาร์ในปีนี้

 

ผมมองว่าปัญหาการเมืองยิ่งทำให้ตลาดไม่เชื่อว่า Fed จะสามารถขึ้นดอกเบี้ยต่อจากนี้ได้มาก เนื่องจากจะเพิ่มต้นทุนของภาครัฐอย่างมหาศาล ขณะเดียวกันธีมนี้ก็กดดัน Bond Yield ระยะยาวจากบนภาพเศรษฐกิจ เนื่องจากถ้าไม่มีการลงทุนภาครัฐ นักลงทุนอาจต้องเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจเพียง 0.5-1.0% เท่านั้น

 

กลายเป็นว่าธีม Fed Pause จะส่งผลลบกับกลุ่มมูลค่า (Value) และ Defensive ที่ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนกลุ่ม (Rotation) กับเทคโนโลยีที่มักปรับตัวขึ้นได้ดีในช่วง Yield ขาลง และมีความสามารถในการหารายได้นอกประเทศได้

 

Next-Gen Tech Taking-Off มาแทนที่ US Soft-Landing 

ตลาดมองข้ามการชะลอตัวของเศรษฐกิจและกลับเข้าลงทุนเทคโนโลยีแห่งอนาคต เป็นผลจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ยีลด์ และแนวโน้มรายได้ที่ไม่ได้มีทิศทางเป็นขาขึ้น 

 

การลงทุนธีมนี้มักขยับตัวได้อย่างหวือหวา เพราะความผันผวนของธุรกิจสูง 

 

ปัญหาหลักอยู่ที่ยีลด์อาจเป็นขาลงแค่ชั่วคราว ราคาพลังงานอาจปรับตัวขึ้นกลับมาจากธีม China Reopening และสภาพคล่องในระบบอาจไม่ได้กลับไปสูงได้เหมือนช่วงก่อนโควิด หรือช่วงที่มีนโยบายเศรษฐกิจสนับสนุนช่วงล็อกดาวน์ 

 

สำหรับผมการที่ Next-Generation Tech จะชนะตลาดได้ จำเป็นต้องมีต้นทุนการเงินที่ต่ำ สภาพคล่องที่สูง และเงินลงทุนที่สามารถรับ Long Duration Investment ได้จริง 

 

ดังนั้นแม้ว่าสินทรัพย์เหล่านี้จะปรับตัวลงอย่างหนักในปี 2022 และเริ่มฟื้นตัวโดดเด่น สภาพตลาดอาจยังไม่เอื้ออำนวยให้ธีมนี้ขึ้นเป็นธีมหลักได้จนกว่าจะเริ่มเห็นเศรษฐกิจที่ผ่านความกังวล Recession และนโยบายการเงินพลิกเป็นขาลงได้จริงเสียก่อน นักลงทุนจึงควรหาจังหวะ Take-Profit และรอดูสถานการณ์

 

สำหรับสัปดาห์ที่ 23-27 มกราคม 2023

ตลาดยังอยู่ในช่วงการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนทั่วโลก โดยบริษัทที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ เช่น Microsoft, Tesla, Chevron, Siam Cement และ PTTEP

 

ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าสนใจของไทยคือ การรายงานตัวเลขการค้าจากกรมศุลกากร วันที่ 24 มกราคม คาดว่าการส่งออกจะหดตัว -9.6%y/y ในเดือนธันวาคม แย่กว่าเดือนก่อนหน้าที่หดตัว 6.0% อย่างไรก็ดี การนำเข้าจะหดตัวพร้อมกันที่ -8.0% ทำให้การขาดดุลการค้าอยู่ในระดับต่ำที่ 1.4 พันล้านดอลลาร์

 

ฝั่งต่างประเทศแนะนำจับตาไปที่ฝั่งยุโรป ในวันที่ 24 จะมีการรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (S&P Global Eurozone Manufacturing PMI) เดือนมกราคม คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นมาที่ระดับ 48.5 จุด จากเดือนก่อน 47.8 จุด ชี้ว่าเศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวเร็วกว่าที่ตลาดคาดไว้

 

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ จะมีการรายงานการขยายตัวของ GDP ไตรมาสที่ 4 คาดว่าจะชะลอตัวลงเหลือ 2.7%q/qSAAR จากไตรมาสก่อนที่ขขยายตัวสูง 3.2%q/qSAAR สนับสนุนมุมมองของตลาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจไม่ถึงกับถดถอย

 

ต่อด้วยในวันที่ 27 มกราคม จะมีการรายงานเงินเฟ้อ (PCE Deflator) เดือนธันวาคม คาดว่าจะลดลงเหลือเพียง 5.0% จากเดือนก่อนที่ 5.5% แม้เงินเฟ้อพื้นฐาน (PCE Core Deflator) อาจยังขยายตัว 0.3%m/m แต่ก็ชัดเจนว่าเป้าหมายดอกเบี้ยนโยบายของ FOMC (Terminal Policy Rate) รอบนี้ไม่จำเป็นต้องสูงไปกว่า 5.00% มาก

 

ปิดท้ายด้วยนโยบายการเงิน จับตาไปที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 25 มกราคมนี้ 

 

ทั้งตลาดมองว่า กนง. จะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ไปที่ระดับ 1.50% โดยเงินบาทที่แข็งค่าและเงินเฟ้อที่ลดลงเป็นประเด็นที่ ธปท. อาจชะลอการขึ้นดอกเบี้ยต่อจากนี้ไปก่อน 

 

ส่วนธนาคารกลางอื่นๆ ที่น่าสนใจคือ Bank of Canada (BOC) จะมีการประชุมในวันที่ 25 และคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (Overnight Lending Rate) ครั้งสุดท้ายในรอบนี้ 25bps ไปจบที่ระดับ 4.50%

 

ในมุมมองของผม การเปลี่ยนแปลงของตลาดในช่วงสัปดาห์นี้ถึงสัปดาห์หน้ายังคงเน้นหนักไปที่การ ‘รับข้อมูล’ และปรับธีมให้เข้ากับเศรษฐกิจ ขณะที่ผมมองว่า ยังเร็วเกินไปที่จะหวังว่าการผ่อนคลายนโยบายการเงินจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ครับ 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X