ในโลกของธุรกิจร้านอาหาร ‘ทุน’ ถือเป็นกุญแจสำคัญไม่แพ้สูตรอาหาร แต่หากขาดเงินทุนหรือสภาพคล่อง ก็ยากที่จะผลักดันให้ธุรกิจเดินหน้าเติบโตต่อไปได้
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เจ้าของธุรกิจร้านอาหารจำนวนไม่น้อยเริ่มหันไปมองนักลงทุน ในฐานะแหล่งทุนสำคัญที่พร้อมเข้ามาร่วมผลักดันให้ธุรกิจไปต่อได้เร็วและไกลกว่าที่จะทำคนเดียว โดยเฉพาะในยุคที่การแข่งขันรุนแรงและเงินทุนคือแต้มต่อสำคัญในเกมธุรกิจนี้
ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ หรือที่รู้จักกันดีในนาม ‘ชาร์คหมู’ CEO แห่ง Ookbee และหนึ่งในนักลงทุนคนสำคัญจากรายการ Shark Tank Thailand ได้มาเปิดมุมมองลึกถึงโลกการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนในธุรกิจอาหาร (F&B) ในงาน Thailand Restaurant Cnference 2025 ที่เจ้าตัวยอมรับว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่ลงทุนไว้มากที่สุด และให้ผลตอบแทนดีกว่าที่หลายคนคาดคิด
ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารของ Ookbee
‘ทุน’ กลายเป็นอาวุธสำคัญของร้านอาหาร
แม้จะเริ่มต้นจากการเป็นนักลงทุนในสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี แต่ ‘ชาร์คหมู’ กลับพบว่า ‘ธุรกิจอาหาร’ โดยเฉพาะร้านอาหารขนาดกลางและเล็ก กลับให้ผลตอบแทนในเชิงรายได้ที่อาจจะสูงกว่าธุรกิจเทคในไทยหลายแห่ง
ยกตัวอย่างหากเปรียบเทียบกับ Netflix ที่อาจมีรายได้ไม่เกิน 2,000 ล้านบาทต่อปี หรือร้านก๋วยเตี๋ยวเรือชื่อดังอย่างทองสมิทธิ์อาจมีรายได้ระดับร้อยล้าน ใกล้เคียงหรือมากกว่านั้น แต่จริงๆ แล้ว “Netflix โปรดักต์มันเพอร์เฟกต์ แต่ไม่ว่าอย่างไรรายได้ในไทยไม่มีทางทะลุ 2,000 ล้านบาท เพราะสเกลประเทศไทยเล็ก โดยมีผู้ใช้ถึง 1 ล้านคน”
ในฐานะนักลงทุน สิ่งที่นักลงทุนมองหาไม่ใช่แค่ ‘ความอร่อยของแบรนด์’ หรือ ‘เจ้าของมีแพชชั่น’ แต่ต้องมีศักยภาพในการเติบโต โดยมีตัวชี้วัดชัดเจน เช่น รายได้ การขยายสาขา และโอกาสคืนทุน แน่นอนว่านักลงทุนสายการเงินจะไม่ซื้อธุรกิจที่ทำกำไรปีละ 10 ล้าน แต่ขอเงินลงทุน 200 ล้าน เพราะมันไม่คุ้มเสี่ยง
ที่สำคัญนักลงทุนจะเลือกลงทุนในแบรนด์ที่สามารถเติบโตไปได้ หรือมีแผนชัดเจนในการขยาย เช่น ร้านเครื่องดื่มที่สามารถเปิดแฟรนไชส์หรือขยายสาขาได้ต่อเนื่องเดือนละ 1 แห่ง หรือมีแผนระดมทุนเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต
ทำไม SME ถึงหันมาหานักลงทุน แทนที่จะกู้เงินจากสถาบันการเงิน
ชาร์คหมูกล่าวต่อไปว่า เจ้าของธุรกิจ SME ที่กำลังมองหาแหล่งเงินทุน การตัดสินใจระหว่างการ ‘กู้เงิน’ กับการ ‘หานักลงทุน’ เป็นเรื่องใหญ่ และแนวโน้มใหม่ที่เริ่มชัดเจนมากขึ้น ในช่วงหลัง SME จำนวนไม่น้อยเริ่มเลือกนักลงทุน แทนที่จะเดินเข้าสถาบันการเงินแบบเดิม ๆ
เหตุผลสำคัญที่เปิดรับนักลงทุนเข้ามาร่วมทุน เป็นการแลกเปลี่ยนโดยให้ ‘หุ้น’ หรือ ‘ความเป็นเจ้าของบางส่วน’ ของกิจการไป แทนที่จะเป็นหนี้สิน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยบ่มเพาะให้เจ้าของธุรกิจเริ่มคุ้นชินกับโครงสร้างของบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นหลายราย โดยเฉพาะถ้ามีแผนนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต
ในประเทศไทย นักลงทุนประเภทนี้มักเป็นกองทุนร่วมลงทุน หรือ Venture Capital ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือ เป็นพันธมิตรที่ร่วมเสี่ยงไปกับธุรกิจ หรือพูดง่ายๆ คือหากกิจการไม่สามารถไปต่อได้จนต้องปิดตัวลง นักลงทุนก็สูญเงินลงทุนไปเช่นกัน ไม่มีการเรียกเงินคืนและไม่มีการยึดทรัพย์
ในทางกลับกัน หากเลือกกู้เงินจากสถาบันการเงิน ธุรกิจจะต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งมูลค่าต้องใกล้เคียงกับวงเงินที่กู้ และในกรณีที่ธุรกิจล้มเหลว ทรัพย์สินเหล่านั้นจะถูกยึดทันทีเพื่อชำระหนี้
นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมในช่วงหลัง SME จำนวนไม่น้อยจึงเลือก นักลงทุน แทนที่จะไปกู้สถาบันการเงิน เพราะไม่ใช่แค่เรื่องเงินทุน แต่คือพันธมิตรที่พร้อมโตไปด้วยกัน และเข้าใจความเสี่ยงของธุรกิจอย่างแท้จริง
ทำไมธุรกิจ SME ถึงต้องระดมทุน
สำหรับการระดมทุนไม่ใช่แค่เรื่องของเงิน แต่คือโอกาสเร่งการเติบโตของธุรกิจให้ก้าวกระโดด ซึ่งเจ้าของธุรกิจ SME หลายราย มีการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปด้วยกำไรที่สะสมปีต่อปีอาจไม่เพียงพอในยุคที่การแข่งขันรุนแรงและโอกาสในตลาดเปลี่ยนแปลงเร็ว การมีเงินทุนก้อนใหญ่ในมือจากนักลงทุน คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะเข้ามาเป็นตัวเร่งให้ธุรกิจขยายตัวได้ในทันที
แต่ข้อเสียของการมีนักลงทุนคือ ต้องยอมเสียหุ้น ซึ่งเป็นทรัพยากรจำกัดของบริษัท ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดว่า การขายหุ้นให้นักลงทุน คือการขายบริษัท แต่ในความจริงแล้วคือการหาเงินเข้ามาเพื่อเร่งการเติบโต
ยกตัวอย่างง่ายๆ หากธุรกิจร้านอาหารมีเพียง 1 สาขา และสามารถทำกำไรได้ปีละ 20 ล้านบาท ถ้าอาศัยกำไรเพื่อขยายสาขา ก็อาจเพิ่มได้เพียงปีละ 1-2 สาขาเท่านั้น แต่หากสามารถระดมทุนได้ 200 ล้านบาทจากนักลงทุน ธุรกิจจะสามารถขยายได้ทันทีถึง 10 สาขา สะท้อนให้เห็นว่าไม่ใช่แค่การเติบโตที่เร็วขึ้น แต่ยังเพิ่มรายได้และกำไรในอนาคตได้แบบก้าวกระโดด
อาวุธลับธุรกิจ SME ช่วยดึงนักลงทุน
ชาร์คหมู CEO แห่ง Ookbee ฉายภาพต่อไปว่า ในมุมของนักลงทุนทุกราย ก่อนจะลงเงิน ย่อมต้องการรู้ว่าเจ้าของบริษัทคิดอะไร และจะพาแบรนด์ไปในทิศทางไหน โดยเฉพาะการมีแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ (IPO) หรือทำ M&A เป็นเรื่องสำคัญ เพราะคือเส้นทางคืนทุนที่นักลงทุนใช้ประเมินความคุ้มค่า
- เจ้าของธุรกิจต้องตอบให้ได้ว่า เป้าหมายของแบรนด์คืออะไร จะมีแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ (SET) หรือไม่ ที่สำคัญกำไรต้องใกล้เคียงหรือไม่ด้อยไปกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน เพราะนักลงทุนสามารถเลือกลงทุนในบริษัทอื่นที่จดทะเบียนในตลาดได้ง่ายกว่า หากเจ้าของธุรกิจยังไม่มีความสามารถในการทำกำไร
- แต่ถ้ากำไรสูงยังไม่โดดเด่น ก็ต้องแสดงทิศทางการเติบโตชัดเจน เพราะนักลงทุนจะมองหาแนวโน้มการเติบโต เช่น ยอดขายและกำไรที่เติบโตต่อเนื่องในแต่ละไตรมาส เช่น Q1 โต 5%, Q2 โต 7% และคาดว่าในอนาคตจะโตถึง 15% ก็สามารถสร้างความมั่นใจได้ว่าธุรกิจมีอนาคต
- ต้องเป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและมีความถี่ในการใช้จ่าย
ยกตัวอย่างร้านอาหารกลางคืน ร้านที่คนต้องใช้ซ้ำบ่อย ๆ นักลงทุนจะมองว่ามีโอกาสสร้างรายได้สม่ำเสมอ และอาจให้ผลตอบแทนในรูปแบบเงินปันผลได้ในระยะยาว
- ธุรกิจที่มีแผนขยายสาขา แต่ยอดขายสาขาเดิมยังแข็งแรง แน่นอนว่าการขยายสาขาเป็นสัญญาณบวก แต่นักลงทุนจะดูควบคู่กับยอดขายต่อสาขาเดิมว่ายังดีอยู่หรือไม่ หากขยายสาขาแล้วฐานเดิมไม่ถูกกระทบ ก็ถือเป็นการเติบโตแบบยั่งยืน
ภาพ : ปวรุตม์ งามเอกอุดมพงศ์ / THE STANDARD LIFE
- สร้างแบรนด์ใหม่ที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน นักลงทุนให้ความสำคัญกับธุรกิจที่มีการแตกแบรนด์หรือสร้างสินค้าใหม่ และแต่ละแบรนด์ต้องมีแคแรกเตอร์ชัด เพื่อสร้างความหลากหลายและลดความเสี่ยงในการพึ่งพาแบรนด์เดียว
- ต้องมีทางออกที่ชัดเจนให้นักลงทุน ไม่ใช่แค่ปันผล นักลงทุนต้องการรู้ว่าหากลงทุนไปแล้ว จะมีจุดที่สามารถขายหุ้นคืนได้ในอนาคต เช่น การนำธุรกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์ หรือขายกิจการให้เครือนักลงทุนอื่น ซึ่งจะทำให้นักลงทุนสามารถ Exit ได้ด้วยมูลค่าที่สูงขึ้น
- เจ้าของกิจการต้องมีความพร้อมและมีของในมือ นักลงทุนจะเลือกเจ้าของกิจการที่มีฐานลูกค้าแน่น ร้านเป็นที่นิยม มีศักยภาพขยายกิจการ และพร้อมเปิดใจทำงานร่วมกัน เพื่อวางแผนขยายธุรกิจในระดับที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่นักลงทุนมองหา ไม่ใช่เพียงแค่ความฝันของเจ้าของกิจการ แต่คือข้อมูลจริง ตัวเลขชัด และศักยภาพการเติบโตที่จับต้องได้ หาก SME หรือเจ้าของร้านอาหารสามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้ โอกาสในการระดมทุนเพื่อเติบโตต่อก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
ท้ายที่สุดในวันที่การเติบโตของธุรกิจนั้นไม่ง่าย การเข้าใจมุมมองนักลงทุน และรู้จักใช้ทุนให้เป็น คืออีกหนึ่งวิธีที่ SME หรือเจ้าของร้านอาหารควรเรียนรู้ เพราะนักลงทุนวันนี้ ไม่ได้สนใจแค่ไอเดีย แต่สนใจว่าคุณจะพาเงินของเขาโตได้เร็วแค่ไหน ดังนั้นเจ้าของธุรกิจที่เข้าใจนักลงทุนจะสามารถสื่อสารให้ตรงจุด และทำให้ธุรกิจโตได้เร็วกว่าที่คิด