วันนี้ (19 กุมภาพันธ์) ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมด้วย ปรีชา สุดสงวน อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา และคณะ กล่าวถึงความคืบหน้าในคดีที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้ได้รับการพักโทษ ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยคดีนี้เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 สำนักงานอัยการสูงสุดได้รับสำนวนคดีการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักรจากพนักงานสอบสวนกองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)
โดยทักษิณเป็นผู้ถูกกล่าวหาในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และร่วมกันนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์เป็นเท็จ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 ที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี และประเทศไทยเกี่ยวพันกัน
ประยุทธ กล่าวว่า วันนี้เมื่อเวลาประมาณ 08.30 น. พนักงานสอบสวน บก.ปอท. ได้นำตัวทักษิณมาส่งให้กับพนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญา โดยมี ปรีชา สุขสงวน อธิบดีอัยการ และ วิพุธ บุญประสาท อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 เป็นผู้รับตัว
ในคดีนี้ทักษิณได้ส่งเอกสารร้องขอความเป็นธรรม ผ่านพนักงานสอบสวนตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม ที่พนักงานอัยการพร้อมด้วย พนักงานสอบสวน เข้าไปแจ้งข้อกล่าวหากับทักษิณที่โรงพยาบาลตำรวจ
โดยล่าสุดทางอัยการสูงสุดได้พิจารณาหนังสือร้องขอความเป็นธรรมแล้ว เห็นว่าคดีนี้มีประเด็นที่ต้องสอบสวนเพิ่มเติม ตามหนังสือที่ร้องขอความเป็นธรรม จึงมีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม และนัดให้มาฟังคำสั่งทางคดีในวันที่ 10 เมษายนนี้ เวลา 09.00 น. ที่สำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญา 8 อัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก
ประยุทธกล่าวต่อว่า วานนี้ (18 กุมภาพันธ์) ที่ทักษิณได้รับการปล่อยตัวเพื่อพักโทษในคดีอาญาเรื่องอื่น พนักงานสอบสวน บก.ปอท. ได้ไปรับตัวทักษิณตามหนังสืออายัดตัวของพนักงานสอบสวนลงวันที่ 28 สิงหาคม 2566 โดยเมื่อรับตัวมาแล้วพนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวชั่วคราวไปในวันเดียวกัน
ส่วนหลักประกันที่ทักษิณใช้ในการขอประกันตัว คดีนี้เป็นหลักทรัพย์จากในสมุดบัญชีที่ได้รับการรับรองจากธนาคารเงินจำนวน 500,000 บาท ซึ่งทางอัยการจะอายัดบัญชีดังกล่าวไว้
เมื่อถามว่ามีเงื่อนไขในการปล่อยตัวครั้งนี้หรือไม่ ปรีชาระบุว่า สำหรับอัยการไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งนี้บรรยากาศขณะที่รับตัวทักษิณช่วงเช้าหลังจากที่ตำรวจนำตัวมาส่ง ตนเองได้พูดคุยกับทักษิณ ซึ่งจากสภาพที่ตนเห็น มองว่าทักษิณมีอาการป่วยขั้นวิกฤต เพราะต้องนั่งรถวีลแชร์มา เพราะเดินไม่ไหว และจากการที่ได้พูดคุย ทักษิณพูดไม่ค่อยมีเสียง ดูท่าทางมีการป่วยหนัก และมีการสวมที่ดามคอมา
เมื่อถามว่า แพทองธาร ชินวัตร หรือ อุ๊งอิ๊ง บุตรสาวได้เดินทางมาด้วยหรือไม่ ปรีชากล่าวว่า ทักษิณเดินทางมากับคนสนิทที่มาทำหน้าที่เป็นนายประกันเท่านั้น ลูกสาวไม่ได้เดินทางมาด้วย โดยขั้นตอนการลงชื่อรายงานตัวและเข้าพบอัยการใช้เวลาประมาณ 30 นาทีก่อนที่ทักษิณจะกลับ
เมื่อถามว่าวันที่ 10 เมษายน จะเป็นการนัดทักษิณมาเพื่อฟังคำสั่งทางคดีหรือไม่ ปรีชากล่าวว่า วันที่ 10 เมษายน เป็นการนัดฟังผลคำสั่งทางคดีว่าจะมีคำสั่งว่าอย่างไร ว่าจะสั่งฟ้อง ไม่สั่งฟ้อง หรือเลื่อนนัดฟังคำสั่ง
ประยุทธได้อธิบายเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าวว่า สำนวนเดิมที่มีคำสั่งเห็นควรสั่งฟ้องเป็นคำสั่งแรกตั้งแต่ทักษิณยังไม่กลับเข้าประเทศไทย แต่เมื่อทักษิณกลับเข้าประเทศไทยและมีการแจ้งข้อกล่าวหาไปแล้วตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม รวมถึงมีการส่งหนังสือร้องขอความเป็นธรรม ทำให้ทางคณะพนักงานสอบสวนได้มีการสอบสวนสำนวนใหม่ จึงทำให้วันที่ 10 เมษายนนี้ ตัวทักษิณจะต้องมารับฟังคำสั่งด้วยตนเอง ว่าทางอัยการจะเห็นสมควรสั่งฟ้องทางคดีหรือไม่
โดยคำสั่งจะแบ่งออกเป็น 3 แนวทาง 1. สั่งฟ้อง 2. ไม่สั่งฟ้อง 3. เลื่อนนัดฟังคำสั่ง ถ้าหากสำนวนที่สอบเพิ่มเติมนั้นยังไม่ครบถ้วน แต่ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรจะต้องแจ้งให้ตัวทักษิณทราบ และด้วยคดีนี้เป็นคดีนอกราชอาณาจักรคำสั่งอัยการสูงสุดถือว่าสิ้นสุด
เมื่อถามว่าสังคมมีความกังวลว่าจะมีขบวนการช่วยเหลือทักษิณในคดีนี้ ประยุทธกล่าวว่า คดีนี้มีอำนาจเด็ดขาดอยู่ที่อัยการสูงสุด จึงขอให้ไปดูประวัติการทำงานของอัยการว่ามีการทำงานไปในทิศทางใด และขอให้สังคมมั่นใจในกระบวนการพิจารณาของอัยการ แม้ว่าคดีดังกล่าวจะมีผู้ต้องหาเป็นบุคคลสำคัญที่สังคมให้ความสนใจ