Bloomberg รายงานโดยอ้างอิงดัชนี Global Aggregate Bond Sub-indexes ว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวอายุ 10 ปีของโลกได้ร่วงลงต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอายุ 1-3 ปี ซึ่งเป็นภาวะที่เรียกว่า Inverted Yield Curve เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี สะท้อนถึงสัญญาณความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย
Inverted Yield Curve ถือเป็นภาวะที่ผิดปกติ เนื่องจากโดยทั่วไปเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรหรือ Yield Curve มักจะมีลักษณะเป็นทางชันขึ้น คือพันธบัตรรัฐบาลที่ระยะยาวกว่าจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น เนื่องจากการลงทุนในระยะยาวมีความเสี่ยงโดยรวมมากกว่าจากระยะเวลาการถือครองพันธบัตรที่นานกว่า
การเกิดขึ้นของ Inverted Yield Curve บ่งชี้ถึงภาวะที่นักลงทุนมีความต้องการลงทุนในพันธบัตรที่อายุยาวมากกว่าพันธบัตรอายุสั้น ส่งผลให้ยีลด์ของพันธบัตรระยะสั้นปรับสูงขึ้นเร็วกว่าพันธบัตรระยะยาว ซึ่งจากสถิติในอดีตที่ผ่านมาภาวะนี้มักจะเกิดก่อนที่เศรษฐกิจจะเป็นขาลงหรือเศรษฐกิจถดถอย
Prashant Newnaha นักวางกลยุทธ์ด้านอัตราดอกเบี้ยของ TD Securities Inc. ในสิงคโปร์กล่าวว่า ความกังวลต่อปัญหาเงินเฟ้อของบรรดาธนาคารกลางทั่วโลกจะทำให้อัตราดอกเบี้ยถูกตรึงไว้ในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาด ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรแบนราบ
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (28 พฤศจิกายน) Christine Lagarde ผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ออกมาระบุถึงแนวโน้มที่ ECB จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ เนื่องจากเธอมองว่าเงินเฟ้อในยูโรโซนยังไม่เร่งตัวขึ้นถึงจุดสูงสุด ซึ่งสอดคล้องกับการออกมาให้ความเห็นของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) หลายรายที่มองว่า Fed ยังจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไป
“เยอรมนีน่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว ขณะที่ภาวะถดถอยในสหรัฐฯ อาจจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปีหน้า” David Folkerts-Landau หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Deutsche Bank AG ระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ทำความรู้จัก บอนด์ยีลด์ Bond Yield ผลตอบแทนพันธบัตร เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้นอย่างไร
- จีนถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มครั้งแรกในรอบ 8 เดือน สวนทางญี่ปุ่นถือลดลง
- ปริมาณการถือครองพันธบัตรรัฐบาลของ BOJ พุ่งทำสถิติทะลุ 50%
อ้างอิง: