×

จับตา Yield Curve ผกผัน (Inverted) ทำนักลงทุนหวั่นเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงถดถอย

01.04.2022
  • LOADING...
เศรษฐกิจสหรัฐฯ

“เพราะเส้นอัตราผลตอบแทนจะเกิดภาวะผกผัน (Inverted Yield Curve) ก่อนที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในทุกๆ ครั้งมาตั้งแต่ปี 1989 นั่นทำให้นักลงทุนบางส่วนใช้ภาวะดังกล่าวเป็นสัญญาณว่าสภาวะเศรษฐกิจถดถอยกำลังมาถึง และเป็นที่มาที่ทำให้นักลงทุนปิดรับความเสี่ยง พร้อมกับหนุนให้ราคาทองคำฟื้นตัวขึ้น แม้จะเผชิญกับแรงกดดันจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ก็ตาม” 

 

ตามปกติแล้วในช่วงเศรษฐกิจดี ผู้ที่ถือครองพันธบัตรระยะยาวควรจะต้องได้รับ ‘ผลตอบแทน’ ที่สูงกว่าผู้ที่ถือครองพันธบัตรระยะสั้น นั่นเป็นเพราะว่าพันธบัตรระยะยาวมีความเสี่ยงโดยรวมมากกว่าจากระยะเวลาการถือครองพันธบัตรที่นานกว่า หากนักลงทุนนึกภาพไม่ออก อาจจะลองเทียบเคียงกับเวลาที่นักลงทุนฝากเงินในบัญชีธนาคาร หากผู้ฝากสามารถถอนเงินได้ตลอดเวลาธนาคารก็มักจะไม่จ่ายดอกเบี้ยให้ผู้ฝาก ให้ทางกลับกัน หากผู้ฝากฝากเงินในธนาคารเป็นเวลานานกว่านั้น ผู้ฝากก็จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งตลาดตราสารหนี้ก็เป็นไปในในลักษณะเดียวกันนั่นคือ   ‘ยิ่งให้กู้เงินนานเท่าไร ก็จะได้รับผลตอบแทนมากขึ้นเท่านั้น’

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 


 

ความวิตกของนักลงทุนถูกกระตุ้นขึ้น หลังจากเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) แบนราบ (Flat) มากขึ้น จนก่อให้เกิดความกังวลว่า ภายในปีนี้ เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) อาจเกิดภาวะผกผัน (Inverted Yield Curve) ซึ่งเป็นภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอยู่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว และนั่นก็เป็นสัญญาณบ่งชี้ความไม่ปกติในตลาด รวมถึงสะท้อนให้เห็นว่าผู้คนมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับอนาคตอันใกล้นี้  

 

โดยทั่วไปแล้ว นักลงทุนจะจับตาส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีเป็นพิเศษ เนื่องจากสถิติในอดีตพบว่าตั้งแต่ปี 1989 เป็นต้นมา เกิดสภาวะเศรษฐกิจทั้งหมด 4 ครั้ง ที่สำคัญคือ มีการเกิด Inverted Yield Curve ระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี ก่อนที่จะเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในทุกครั้ง ดังนั้น นักลงทุนส่วนใหญ่มองว่าการเกิด Inverted Yield Curve ระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี จะเป็นสัญญาณเตือนที่น่าเชื่อถือว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยกำลังใกล้เข้ามา

 

ล่าสุดเพิ่งเกิดภาวะ Inverted Yield Curve ระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีในช่วงสั้นๆ ในระหว่างการซื้อขายของวันอังคารที่ 29 มีนาคม โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีราว 0.0003% (0.03 bps) แม้ปัจจุบันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีจะกลับมาเคลื่อนไหวสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี แต่ส่วนต่างยังคงห่างกันไม่ถึง 0.1% (10 bps) เท่านั้น ทำให้ตลาดเริ่มวิตกว่าหากเกิด Inverted Yield Curve ระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีอีกครั้ง และต่อเนื่องจะสะท้อนโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเผชิญกับสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในอนาคต

 

“แต่กระนั้น YLG ก็ไม่อยากให้นักลงทุนตื่นตระหนกจนเกินไป เพราะ Inverted Yield จะต้องมีความต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหนึ่งจึงจะเป็นสัญญาณ ‘ขาลง’ สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ นอกจากนี้ สถิติในอดีตยังบอกอีกว่า แม้ว่าจะเกิด Inverted Yield Curve แต่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจไม่เกิดขึ้นทันที และมีบางครั้งในช่วงก่อนปี 1989 ที่เศรษฐกิจสามารถหลีกเลี่ยงสภาวะถดถอยได้ แม้จะเกิด Inverted Yield Curve ระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีก็ตาม” 

 

โดย BofA พบว่า นับตั้งแต่ปี 1956 เป็นต้นมา จะใช้เวลานับจากเกิด Inverted Yield Curve ไปจนถึงสภาวะเศรษฐกิจถดถอย สั้นสุดคือ 8 เดือน (US Recession ปี 1959) และยาวนานสุดคือ 24 เดือน (US Recession ปี 1959) โดยค่าเฉลี่ยและค่ามัธยฐานจากเกิด Inverted Yield Curve ไปจนถึงสภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะอยู่ที่ 15.1 และ 16.3 เดือนตามลำดับ  

 

แม้ว่าหากเกิดความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเกิดสภาวะถดถอยจะเป็นปัจจัยส่งผลเชิงบวกต่อราคาทองคำ แต่ YLG แนะนำว่านักลงทุนไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไป และนักลงทุนก็ควรจะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมตัวปรับพอร์ตการลงทุนให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X