×

Inventing Anna เส้นบางๆ ระหว่างนักต้มตุ๋นกับนักล่าฝันในระบบทุนนิยมของสังคมยุคใหม่

23.02.2022
  • LOADING...
Inventing Anna

HIGHLIGHTS

  • เสน่ห์ของซีรีส์เรื่องนี้คือ การทำให้เราเข้าไปทำความเข้าใจบุคลิกอันซับซ้อนของแอนนา ที่ไม่ใช่แค่การผลาญเงินเพื่อสร้างภาพลักษณ์ แต่ในมุมหนึ่งเธอคือนักธุรกิจหญิงที่ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ แม้สิ่งนั้นจะเป็นการโกหกก็ตาม แล้วย้อนกลับมาตั้งคำถามกับคนดูว่าการที่เธอ ‘Fake it till you make it’ (โกหกไปก่อนจนกว่ามันจะเป็นจริง) มันผิดมากแค่ไหน 
  • หลังจากดูซีรีส์เรื่องนี้จบทำให้ผู้เขียนนึกถึงหลายๆ เคสในเมืองไทย เช่น ยุครุ่งเรืองของครีมกวน เจลน้ำดอกบัวตอง, ครีมจากสารสกัดน้ำนมนางพญาผึ้งป่า 5,000 ปี หรือเซรั่มจากเห็ดสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ฯลฯ จนกลายเป็นคนดังชั่วข้ามคืน สร้างเครดิตทางธุรกิจให้ประชาชนตาดำๆ ตอนนี้ ทุกวันนี้ พวกเขาหายไปไหน? หรือระบบทุนนิยมและสังคมยุคปัจจุบันกำลังสร้างสร้างแอนนาหลายๆ เวอร์ชันในประเทศต่างๆ กันอยู่ 

“นี่คือเรื่องของการต้มตุ๋นที่เป็นความฝันแห่งศตวรรษที่ 21 ฉันพูดถึงหัวขโมยต้นแบบ การขโมยความเป็นที่หนึ่ง โซ่ตรวนในความทะเยอทะยานของผู้หญิง มันเกี่ยวกับเหตุผลที่คนยุคนี้มีแต่หลอกลวง” วิเวียน เคนท์ ตัวละครนักข่าวสาวใน Inventing Anna ได้กล่าวไว้ ซึ่งอธิบายเรื่องราวของซีรีส์เรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะมันไม่ใช่แค่ซีรีส์ประวัติของนักต้มตุ๋นธรรมดา แต่มันกำลังตั้งคำถามกับระบบทุนนิยมและชนชั้นทางสังคม ที่สามารถสร้างคนแบบแอนนาออกมาได้เรื่อยๆ 

 

กระเสของ Inventing Anna ในประเทศไทยค่อยๆ ไต่ระดับความนิยมขึ้นแบบช้าๆ แตกต่างจะประเทศฝั่งตะวันตกที่ซีรีส์ 9 ตอนจบเรื่องนี้ขึ้นอันดับหนึ่งอย่างรวดเร็ว เพราะเรื่องราวของ แอนนา โซโรคิน หรือชื่อที่เธอเรียกตัวเองว่า แอนนา เดลวีย์ ค่อนข้างเป็นข่าวใหญ่ในปี 2017-2018 จากกรณีฉ้อโกงเงินหลายแสนเหรียญจากเพื่อนและสถาบันการเงินใหญ่ๆ ซึ่งเอาเข้าจริงเป็นเงินที่ไม่ได้มากมาย เมื่อเทียบกับคดีฉ้อโกงอื่นที่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา แต่นี่คือเรื่องน่าอายในแวดวงธุรกิจและสังคมชั้นสูงของนิวยอร์กที่ได้ชื่อว่าเป็นป้อมปราการที่ทะลุทะลวงยากที่สุดในโลก แต่ดันมาเสียรู้ให้กับผู้หญิงวัย 20 กว่าๆ ได้อย่างไร 

Inventing Anna

 

Inventing Anna พาคนดูเข้าไปทำความรู้จักตัวตนของ แอนนา เดลวีย์ ผ่านการรายงานข่าวของ วิเวียน เคนท์ นักข่าวสาวที่อยากให้บทความเกี่ยวกับแอนนากอบกู้ชื่อเสียงที่เสียไปในอดีตของเธอกลับคืนมา แต่เรื่องมันไม่ง่ายขนาดนั้น เมื่อทุกคนที่เกี่ยวกับข้องกับเรื่องนี้อยากจะปิดปากเงียบ เพราะมันสะท้อนถึงจุดอ่อนและความหละหลวมของโลกธุรกิจและสังคมชั้นสูงแห่งนิวยอร์ก ซึ่งการที่ได้พุดคุยกับแอนนาทำให้รู้ว่าเด็กสาวคนนี้ไม่ธรรมดา เพราะเธอคือผู้หญิงฉลาด ทะเยอทะยาน พูดได้ 7 ภาษา และบันทึกในสมองความจำเป็นภาพ จนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า สิ่งที่เธอทำลงไปเพราะตั้งใจต้มตุ๋น หรือนี่คือการล่าฝันที่เริ่มต้นด้วยการโกหกต่างหาก

Inventing Anna

 

เนื้อหาของเรื่องเล่าผ่านผู้คนที่รายล้อมแอนนาที่มีมุมมองเกี่ยวกับตัวเธอแตกต่างกันออกไป และทำให้เข้าใจว่าแอนนาไม่ใช่แค่ผู้หญิงอยากรวยสมองกลวง แต่เธอมีความสามารถในการเลือกใช้คน โดยอาศัยจุดอ่อนของระบบ และขยี้ปมของคนนั้นๆ เพื่อไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งมันค่อยๆ เผยให้เงินถึงความหมกมุ่นเรื่องภาพลักษณ์ของคนในยุคปัจจุบัน 

 

ในเรื่อง แอนนา โซโรคิน สร้างตัวตนใหม่ในชื่อ แอนนา เดลวีย์ ทายาทมหาเศรษฐีเยอรมัน เจ้าของกองมรดกมูลค่ามหาศาล นั่นคือกุญแจดอกแรกที่ไขเข้าสู่สังคมชั้นสูงที่มักจะขับเคลื่อนด้วยข่าวลือแบบ ‘เขาว่ากันว่า’ แต่เขาคนนั้นคือใครก็ไม่ค่อยมีคนดิ้นรนไปพิสูจน์

 

 

เท่านั้นยังไม่พอ เธอต้องเลือกเพื่อนให้ถูกคนเพื่อทะลุทะลวงเข้าไปสู่ยอดบนสุดของสังคม เธอกลายเป็นเพื่อนกับ ‘วาล’ เกย์ในวงการแฟชั่นที่หลงใหลในรสนิยมเลิศวิไลของเธอ จนทำให้ได้ไปอาศัยอยู่กับ ‘นอร่า’ ตำนานนักธุรกิจหญิงแห่งนิวยอร์กที่เอ็นดูวาลเป็นพิเศษ และกลายเป็นสะพานข้ามไปสู่โลกธุรกิจที่ใฝ่ฝัน

 

 

 

เอาเข้าจริงตัวละครเหล่านี้มีอยู่ในทุกสังคม ทั้งไฮโซและนักธุรกิจขี้เหงาที่ชอบคบเกย์รุ่นน้องเพื่อสร้างสีสันให้ชีวิต หรือแม้แต่การค่อยๆ สร้างเครดิตให้ตัวเองผ่านกลุ่มเพื่อนไฮโซ หรือการไปปรากฏตัวตามงานสังคมหรูๆ ขึ้นอยู่กับว่าต้องเลือกออกงานให้ถูกก็เท่านั้นเอง 

 

แอนนาหอบหิ้วโปรเจกต์การสร้าง Exclusive Club ไปเรี่ยไรเงินจากสถาบันการเงินใหญ่ๆ แต่ก็ถูกปฏิเสธ เธอจึงว่าจ้าง ‘อลัน’ ที่ปรึกษาธุรกิจระดับตำนานของนิวยอร์กที่ไม่รับทำงานให้ใครง่ายๆ แต่แอนนารู้จักขยี้ปมสร้างความรู้สึกใหม่ๆ ให้กับนักธุรกิจวัยชราที่คิดว่าตัวเองกำลังตกรถไฟในยุคเปลี่ยนผ่านกลับมามีสีสันอีกครั้ง จนเขากลายเป็นคีย์แมนให้แอนนาเข้าถึงสถาบันการเงิน สถาปนิกชื่อดัง และวงการศิลปะ จนเธอกลายเป็นคนดังในแวดวงทางสังคม ใช้ชีวิตหรูหราไปกับเงินกู้ที่ได้รับมา ยิ่งเมื่อได้รู้จักกับ ‘เนฟ’ พนักงานโรงแรมผู้สามารถเข้าถึงบริการแบบ VIP ทั่วนิวยอร์ก ยิ่งทำให้แอนนากลายเป็น It Girl คนใหม่ในนิวยอร์กที่ใครๆ ก็เปิดประตูต้อนรับ 

 

 

เมื่อก้าวขึ้นมาด้วยภาพลักษณ์ สุดท้ายแอนนาก็กลายเป็นเหยื่อในกับดักของตัวเอง เพราะสูญเงินไปกับการสร้างภาพลักษณ์จนไม่สามารถดึงเงินทางไหนมาใช้ได้อีก เธอเริ่มหยิบยืมเงินจากคนรอบตัว กลายเป็นชนวนเหตุให้ใครต่อใครเริ่มตั้งคำถามว่า ‘แอนนา เดลวีย์’ มีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ นำมาสู่การฟ้องร้องซึ่งค่อยๆ เผยถึงภูมิหลังของ ‘แอนนา โซโรคิน’ ว่าเป็นใคร และทำไมเธอจึงเชื่อหมดหัวจิตหัวใจว่าจะสามารถสร้างตัวตนใหม่ขึ้นมาได้

 

เสน่ห์ของซีรีส์เรื่องนี้คือ การทำให้เราเข้าไปทำความเข้าใจบุคลิกอันซับซ้อนของแอนนา ที่ไม่ใช่แค่การผลาญเงินเพื่อสร้างภาพลักษณ์ แต่ในมุมหนึ่งเธอคือนักธุรกิจหญิงที่ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ แม้สิ่งนั้นจะเป็นการโกหกก็ตาม แล้วก็ย้อนกลับมาตั้งคำถามกับคนดูว่า การที่เธอ ‘Fake it till you make it’ (โกหกไปก่อนจนกว่ามันจะเป็นจริง) มันผิดมากแค่ไหน ทำให้แอนนากลายเป็นตัวละครที่ทั้งน่าสงสารและน่าหมั่นไส้ในเวลาเดียวกัน

 

หลังจากดูซีรีส์เรื่องนี้จบทำให้ผู้เขียนนึกถึงหลายๆ เคสในเมืองไทย เพราะในช่วงเวลาเดียวกันกับที่แอนนาต้มตุ๋นผู้คนในนิวยอร์กเมื่อปี 2017-2018 ในเมืองไทยก็เป็นยุครุ่งเรืองของครีมกวน เราได้เห็นเศรษฐีใหม่ที่ร่ำรวยจากเจลน้ำดอกบัวตอง, ครีมจากสารสกัดน้ำนมนางพญาผึ้งป่า 5,000 ปี หรือเซรั่มจากเห็ดสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ฯลฯ จนกลายเป็นคนดังชั่วข้ามคืน สร้างเครดิตทางธุรกิจให้ประชาชนตาดำๆ เข้าไปเป็นดาวน์ไลน์ในธุรกิจขายตรง ว่าแต่ว่า…ทุกวันนี้พวกเขาหายไปไหน? หรือระบบทุนนิยมและสังคมยุคปัจจุบันกำลังสร้างสร้างแอนนาหลายๆ เวอร์ชันในประเทศต่างๆ กันอยู่ โดยเราเองก็มีส่วนช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จจากความโลภและหลงใหลในภาพลักษณ์กำมะลอที่ถูกสร้างขึ้นมา Inventing Anna จึงเหมือนการตบหน้าเตือนสติเบาๆ ว่าเรากำลังทำแบบนี้กันอยู่หรือเปล่า 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X