การบุกรุกทำลายพื้นที่รอบโบราณสถานโดยนายทุนและนักการเมืองเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย ล่าสุดกรณีพื้นที่ของเขาน้อยและเขาแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา ซึ่งมีโบราณสถานสมัยศรีวิชัยเพียงไม่กี่แห่งในคาบสมุทรภาคใต้ กลุ่มโบราณสถานในสมัยอยุธยา ซึ่งสะท้อนรากเหง้าและตัวตนของสงขลา ถือเป็นภูมิทัศน์วัฒนธรรมชั้นยอด มีสภาพน่าเป็นห่วง ถูกบุกรุกจนเกือบประชิดโบราณสถาน โดยเฉพาะวัดเขาน้อย โบราณสถานสมัยศรีวิชัย ที่กลุ่มทุนไถปรับที่ห่างเพียง 60 เมตรเท่านั้น!
พงศ์ธันว์ สำเภาเงิน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา ได้ให้ข่าวกับไทยพีบีเอสว่า เมื่อได้รับแจ้งเหตุจึงเข้าไปตรวจสอบ แต่ผลคือถูกข่มขู่กลับมา เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะมีอำนาจเถื่อนเข้ามาเกี่ยวข้อง แม้ว่าบางหน่วยงานจะออกมาแก้ข่าวว่าไม่มีการข่มขู่ก็ตาม ถ้าบุกรุกทำลายพื้นที่กันได้ขนาดนี้ ผู้อ่านจะเชื่อไหมครับ
บทความที่เกี่ยวข้อง
- เสียงจากคนในและนักอนุรักษ์ในเมืองสงขลา กับปัญหาการบุกรุกพื้นที่โบราณสถาน
- มรดกโลกแก่งกระจาน: การเมืองของคำศัพท์ แค่เลี่ยงบาลีไม่ใช้คำว่า ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ ก็ได้มรดกโลก
แต่เรื่องนี้สะท้อนว่าปัญหาการบุกรุกโบราณสถานไม่ใช่เรื่องที่แก้ปัญหาได้ง่ายด้วยหน่วยงานราชการเพียงแห่งเดียว แต่ต้องช่วยกันหลายภาคส่วน เพราะการต่อสู้ระหว่างฝ่ายอนุรักษ์กับฝ่ายที่เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัว ไร้สำนึก ไม่คำนึงว่าโบราณสถานนั้นคือสมบัติของชาวเมืองสงขลาและคนทั้งประเทศ เป็นเรื่องยากมาก
สภาพของเขาน้อยที่ถูกบุกรุกพื้นที่ในปัจจุบัน บนยอดเขานั้นคือที่ตั้งของโบราณสถานเขาน้อย
ภาพถ่ายเก่า ทำให้เห็นสภาพของเขาน้อยเมื่อ 40 กว่าปีก่อน ยังมีสภาพสมบูรณ์ ไม่ถูกบุกรุกและทำลาย
เขาน้อย-เขาแดงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในสมัยโบราณ เพราะสามารถเห็นทัศนียภาพได้ไกล เหมาะกับการควบคุมเรือ พื้นที่บริเวณทางเหนือของเขาน้อย-เขาแดงเป็นที่ตั้งของเมืองสทิงพระ พบคูน้ำล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า มีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11 รุ่งเรืองในสมัยศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ 13-17) และสืบเนื่องมาจนถึงสมัยอยุธยา
สภาพโบราณสถานวัดเขาน้อยในปัจจุบัน สร้างขึ้นในสมัยศรีวิชัย และได้รับการบูรณะในสมัยอยุธยา (ภาพจาก ลักษณ์ บุญเรือง ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา)
จากการสำรวจและขุดค้น ทำให้บริเวณนี้พบโบราณวัตถุหลากหลายชนิดที่สะท้อนถึงการติดต่อค้าขายกับอาณาจักรบ้านเมืองต่างๆ เช่น ประติมากรรมแบบศรีวิชัย จาม เขมร มีทั้งรูปพระโพธิสัตว์ สะท้อนการนับถือศาสนาพุทธมหายาน พระพุทธรูป ท้าวกุเวร พระคเณศ เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถัง, ซ่ง, หยวน และหมิง อีกด้วย
ในขณะที่โบราณสถานวัดเขาน้อยเป็นเจดีย์เก่าแบบศรีวิชัยก่อด้วยอิฐ มีซุ้มจระนำโดยรอบส่วนฐานที่ยกเก็จ (ภาษาช่าง ยกเก็จ แปลว่าการเพิ่มของมุมฐานของเจดีย์) ภายในซุ้มจระนำนี้ประดับพระพุทธรูป ซึ่งช่างในสมัยอยุธยาได้เข้ามาดัดแปลงปั้นพระพุทธรูปแบบอยุธยาแทน การประดับพระพุทธรูปมากมายนี้ต้องการสื่อถึงคติมณฑลจักรวาลของศาสนาพุทธมหายาน ที่ถือว่าพระพุทธเจ้านั้นมีจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน ซึ่งคอยช่วยคุ้มครองมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย
นอกจากนี้แล้ว จากการขุดค้นเมื่อ 40 กว่าปีก่อนยังได้พบประติมากรรมประดับเจดีย์ทำจากดินเผาและหลักฐานอื่นๆ อีกมากมาย เมื่อมีเจดีย์ตั้งบนยอดเขา ย่อมจะต้องมีกุฏิ อาคารประกอบ และชุมชนอยู่อาศัยอีกด้วย ซึ่งคงอยู่ไม่ห่างจากเจดีย์ ดังนั้น การบุกรุกพื้นที่ห่างจากโบราณสถานเพียง 60 เมตร จึงเป็นเรื่องน่ากังวลอย่างมาก
สภาพของโบราณสถานเขาน้อยภายหลังการบูรณะเมื่อ 40 กว่าปีก่อน (ภาพจาก ลักษณ์ บุญเรือง ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา)
ปัจจัยที่ทำให้เมืองสทิงพระและเมืองตรงเขาแดงสำคัญขึ้นมานั้น เพราะตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรจากสงขลาไปตรัง หรือไปไทรบุรี (เคดาห์) ได้สะดวก ไม่ต้องอ้อมช่องแคบมะละกา ในบันทึกของฝรั่งเศสระบุว่า สงขลายังเป็นเมืองที่ตั้งติดต่อทำการค้ากับจีน บอร์เนียว และมะนิลา ทำให้ฝรั่งเศสเชื่อว่าเมืองนี้จะสามารถพัฒนาขึ้นเป็นเมืองท่าชั้นนำได้ในอนาคต อีกทั้งยังสามารถควบคุมการค้าเครื่องเทศ โดยเฉพาะพริกไทยได้ ที่สำคัญคือสงขลามีพื้นที่เหมาะกับการปลูกข้าวเพื่อเลี้ยงประชากร
ภาพถ่ายมุมสูงแสดงให้เห็นชัดว่า โบราณสถานเขาน้อยกำลังถูกรุกคืบอย่างหนัก มีการถางป่าและทำลายพื้นที่อย่างรุนแรง (ภาพจาก สามารถ สาเร็ม นักวิชาการท้องถิ่น)
อย่างไรก็ตาม ด้วยการตั้งเมืองอยู่บนสันทรายโบราณใกล้ชายฝั่ง ทำให้ไม่มีน้ำจืดเพียงพอ ชาวเมืองจึงต้องขุด ‘พัง’ หรือสระน้ำ ทำให้พบสระน้ำอยู่หลายแห่งรอบเมือง เช่น พังสายหมาน พังหลุง พังแขกชีใต้ ดังนั้นบริเวณรอบพังจึงพบร่องรอยของชุมชนอยู่ด้วย เห็นได้จากเศษภาชนะดินเผา ประติมากรรมทางศาสนา เช่น ท้าวกุเวร พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
กุฑุ หรือซุ้มประดับภาพของเทวดาในศิลปะศรีวิชัย ทำจากหินทรายสีแดง พบที่โบราณสถานเขาน้อย ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
ความจริงแล้วสทิงพระก็เป็นพื้นที่ที่น่าเป็นห่วง เพราะทุกวันนี้ยังมีกระบวนการขุดลักลอบโบราณวัตถุ ทำให้แหล่งโบราณคดีเสียหายไปมาก ทางการและประชาชนอาจต้องช่วยกัน เพราะสงขลาเป็นเมืองที่มีศักยภาพต่อการยกเป็นมรดกโลก
ในสมัยอยุธยาตอนกลาง-ปลาย สงขลากลายเป็นเมืองท่าการค้าสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อกลุ่มชาวมลายูมุสลิม (บางหลักฐานว่าเป็นชวา แต่ที่ไม่ค่อยน่าเชื่อถือคือเป็นชาวเปอร์เซีย) นำโดย ดาโต๊ะ โมกอล ได้ตั้งเมืองขึ้นที่บริเวณหัวเขาแดงเมื่อ พ.ศ. 2162-2185 ตรงกับสมัยพระเจ้าทรงธรรม (ข้อมูลบางแหล่งว่าตั้งสมัยพระเอกาทศรถก็มี) โดยขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช
แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของอยุธยา ที่ตั้งราชวงศ์ใหม่คือ ราชวงศ์ปราสาททอง จึงทำให้สุลต่านสุลัยมานแข็งเมือง ประกอบกับเผชิญกับโจรสลัดที่เข้าปล้นเมือง เป็นเหตุผลทำให้มีการสร้างป้อมกำแพงเมืองล้อมรอบเมืองและภูเขาบนเขาแดง ในจังหวะเดียวกันนี้ ทางบริษัทการค้าของอังกฤษ (EIC) พยายามเข้าไปแทรกแซงการเมืองของสงขลาด้วยการไปช่วยซ่อม สร้างป้อมปราการให้แก่เจ้าเมืองสงขลาเมื่อราว พ.ศ. 2223 เพราะหวังจะเข้าไปมีผลประโยชน์ทางการค้า
ป้อมหมายเลข 9 เมืองสงขลาเก่า จากลักษณะเป็นงานก่อสร้างสมัยก่อนลามาร์และคงได้รับการปรับปรุงใหม่โดยลามาร์ (อ้างอิง: ชนาธิป ไชยานุกิจ, 2559)
แต่แล้ว ในปี พ.ศ. 2223 สมเด็จพระนารายณ์ทรงส่งกองทัพมาปราบสุลต่านสุลัยมาน (ซึ่งถือเป็นกบฏ) ได้สำเร็จ ทำให้ในครั้งนั้นพระองค์สั่งให้รื้อป้อมกำแพงเมืองลงหลายจุด ดังที่ มองซิเออ เวเรต์ ได้บันทึกไว้ในจดหมายลงวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1685 (พ.ศ. 2228) ว่า “…แต่ก่อนนี้เมืองสงขลาเปนบ้านเมืองมีป้อมคูประตูหอรบ แต่พระเจ้ากรุงสยามได้โปรดให้ทำลายเสียประมาณ 3 หรือ 4 ปีมาแล้ว (พ.ศ.2223) เพราะเหตุว่าได้เกิดมีพวกขบถไปยึดเมืองสงขลาไว้ และพระเจ้ากรุงสยามก็ต้องทำศึกปราบพวกขบถเหล่านี้มากว่า 30 ปีแล้ว…” (หอสมุดพระวชิรญาณ 2470ก, 114-115)
ตัวแปรใหม่ที่เข้ามาคือ ฝรั่งเศสได้พยายามโน้มน้าวสมเด็จพระนารายณ์ให้เห็นประโยชน์ของการยอมยกเมืองสงขลาให้กับตน โดยใช้เหตุผลว่า ฮอลันดากำลังขยายอิทธิพลควบคุมการค้าในอ่าวไทย หากฮอลันดาคิดจะใช้เรือรบปิดปากอ่าวก็ย่อมทำได้ไม่ยาก ดังนั้นถ้าหากเมืองสงขลาเป็นของฝรั่งเศสก็จะมีคนมาคอยคุ้มกันเมืองให้กับทางอยุธยา (หอสมุดพระวชิรญาณ 2470ข, 62-63) ผลก็คือ สมเด็จพระนารายณ์ทรงเห็นด้วย จึงส่งนายช่างฝรั่งเศสลงไปปรับปรุงป้อมกำแพงเมือง
แผนผังเมืองสงขลาและทะเลสาบสงขลา วาดโดยลามาร์ เมื่อ พ.ศ. 2230 รูปสี่เหลี่ยมคางหมูคือแนวกำแพงเมืองสงขลา เขาน้อยและเขาแดงนั้นอยู่ทางด้านทิศใต้ อนึ่ง ภาพนี้วาดใหม่ตามของเดิมโดยเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร (อ้างอิง: ชนาธิป ไชยานุกิจ, 2559)
สภาพบางส่วนของเขาแดงที่ถูกระเบิดเขาน้อยจนกลายเป็นทะเลสาบ
มองซิเออร์ เดอ ลามาร์ วิศวกรฝรั่งเศส ได้ลงไปราว พ.ศ. 2229-30 จากบันทึกของลามาร์ พบว่าเขาได้วางแผนการสร้างป้อมกำแพงเมืองสงขลาไว้อย่างดี เพื่อให้มีสภาพเป็นเมืองป้อมบนภูเขา กำแพงเมืองกับป้อมมีความหนาและความสูงมากเป็นพิเศษ กระจายไปทั่วหัวเขาแดง เพื่อสามารถต่อสู้กับปืนใหญ่จากเรือได้ ส่วนยอดหัวเขาแดงยังสร้างป้อมรูปดาว (fort en étoile) ไว้ด้วย เพื่อใช้ควบคุมเรือในทะเลและเมืองด้านล่างไปพร้อมกัน เพื่อให้เป็นเมืองป้อมที่ทหารประจำการได้อย่างยาวนาน ยังสร้างแท็งก์น้ำก่อด้วยหินให้กับทหารประจำบนป้อมอีกด้วย
ป้อมใกล้ชายฝั่งทะเลของเมืองสงขลาเก่า (อ้างอิง: ชนาธิป ไชยานุกิจ, 2559)
จากการสัมภาษณ์ ชนาธิป ไชยานุกิจ นักโบราณคดีประจำสำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา รายงานว่า เดิมทีป้อมมีทั้งหมด 15 ป้อม โดยอยู่บนบก 14 ป้อม และบนเกาะเล็กๆ ในทะเล 1 ป้อม ซึ่งปัจจุบันมองไม่เห็นแล้ว (เนื้อหาเกี่ยวกับเมืองสงขลา หัวเขาแดงนี้ บางส่วนปรับปรุงมาจากบทความเรื่อง ‘สร้างป้อม สร้างกำแพงเมือง ขอบเขตอยุธยา ปัญหาการเมืองและการค้าในสมัยสมเด็จพระนารายณ์’ เขียนโดย พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ใน Ayutthaya Underground ประวัติศาสตร์อยุธยาจากวัด วัง ชั้นดิน และสิ่งของ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2562)
นอกเหนือไปจากความสำคัญทางประวัติศาสตร์แล้ว เขาแดงยังมีความสำคัญทางด้านจิตวิญญาณของคนสงขลาอีกด้วย ชาวจีนและชาวไทยต่างมีความเชื่อต่อ ‘ทวดเขาแดง’ ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกปักรักษาเมืองสงขลา เชื่อว่าทุกที่มีเจ้าที่ประจำอยู่ตามป่าเขา ตามสุสาน ตามสะพาน เจดีย์ ดังนั้นทุกปีจึงมีพิธีกรรมบูชาสมโภชปู่ทวดหัวเขาแดง นอกจากนี้แล้ว ในพิธีเก่าแก่คือโนราโรงครู ยังมีการเรียกวิญญาณทวดเขาแดงให้มาลงทรงอีกด้วย เช่นเดียวกับชาวมุสลิมที่เชื่อว่า ครั้งหนึ่ง ‘โต๊ะผ้าแดง’ ได้เคยมาช่วยพัดลมพายุไม่ให้เข้าเมืองสงขลา
แม้ว่าตัวโบราณสถานที่เป็นสิ่งก่อสร้างยังไม่ถูกทำลายโดยตรงก็ตาม แต่การบุกรุกของนายทุนบนเขาน้อย-เขาแดงนี้ถือเป็นการทำลายสิ่งที่เรียกว่า ‘ภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม’ (Cultural Landscape) ที่เกี่ยวเนื่องกับโบราณสถาน ทำให้โบราณสถานนั้นเสื่อมคุณค่าไปอย่างน่าเสียดาย ไม่ต่างจากกรณีของหมู่บ้านป่าแหว่ง ดอยสุเทพ ส่งผลทำให้คุณค่าของพื้นที่ทางประวัติศาสตร์โบราณคดีนั้นเสื่อมลง
ที่สำคัญคือ การบุกรุกทำลายอย่างโจ่งแจ้งนี้ยังเป็นการทำลายสิ่งที่เรียกว่า ‘จิตวิญญาณ’ อันเป็นหัวใจของทั้งเมืองและผู้คนอีกด้วย เพราะโบราณสถานไม่ใช่แค่ ‘วัตถุ’
มองกันให้ลึกขึ้น ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยเกิดปัญหาเรื่องการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมนี้ เกิดจากปัญหาของโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมที่สั่งสมมายาวนาน โดยเฉพาะระบบอุปถัมภ์และระบบพวกพ้อง จนทำให้ระบบมาเฟียยิ่งใหญ่เหนือกฎหมายและความถูกต้อง การจะแก้ไขเรื่องนี้จึงไม่ง่าย ขอให้กำลังใจกับสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา และภาคประชาสังคมที่พยายามเคลื่อนไหวกดดัน เพื่อให้ได้คำตอบของเรื่องนี้ที่ชัดเจนเพื่อวางมาตรการแก้ไขในอนาคต
คำอธิบายภาพเปิด: ภาพมุมสูงแสดงตำแหน่งของโบราณสถานเขาน้อยและเขาแดง จะเห็นได้ว่าพื้นที่ใกล้กับโบราณสถานเขาน้อยนั้นถูกบุกรุกอย่างหนัก (ภาพจาก สามารถ สาเร็ม นักวิชาการท้องถิ่น)
ขอขอบคุณ:
- ลักษณ์ บุญเรือง ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา กรมศิลปากร
- สามารถ สาเร็ม นักวิชาการท้องถิ่นสงขลา
อ้างอิง:
- ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. “ชุมชนโบราณสทิงพระ,” ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีสำคัญในประเทศไทย. Available at: https://db.sac.or.th/archaeology/archaeology/115
- สามารถ สาเร็ม. “ความสำคัญของภูเขาปลายคาบสมุทรสทิงพระในหน้าประวัติศาสตร์สงขลา,” คิดอย่าง. Available at: https://www.kidyang.com/post/ความสำคัญของภูเขาปลายคาบสมุทรสทิงพระ-ในหน้าประวัติศาสตร์สงขลา? fbclid=IwAR3GR0OS-Q7lIqyb6EUGH5omEFHvIAH2qg20NqzV1IaF2C4UcB-46LDQM9o