×

รู้จัก Health Code หนึ่งในเครื่องมือเทคโนโลยีที่จีนใช้ควบคุมการระบาดของโควิด-19

17.04.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • รัฐบาลจีนใช้ระบบ QR Code ช่วยในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 โดยให้ประชาชนทั่วประเทศสแกนเพื่อแสดงสถานะจากโค้ดสุขภาพ (Health Code) ที่แบ่งเป็นสีม่วง แดง ส้ม เหลือง และเขียว เพื่อกำหนดความเคลื่อนไหวของประชาชนแต่ละคนว่าสามารถทำกิจกรรมใดหรือเดินทางไปไหนได้ เช่น การออกจากบ้าน ขึ้นรถไฟฟ้า ไปทำงาน เข้าร้านอาหารหรือซูเปอร์มาร์เก็ต
  • Alibaba และ Tencent ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีน เป็นผู้พัฒนาระบบโค้ดสุขภาพดังกล่าว ซึ่งใช้งานบนแอปพลิเคชันสมาร์ทโฟนผ่านแอปฯ ชำระเงิน Alipay และแอปฯ ส่งข้อความ WeChat ซึ่งมีผู้ใช้งานรวมหลายร้อยล้านคน ถือเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ประชาชนจำนวนมากเข้าถึงได้ง่าย

จีนพัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชากรให้ดีขึ้น โดยหนึ่งในเทคโนโลยีที่แทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของประชาชนคือ QR Code ที่คนจีนใช้จับจ่ายซื้อสินค้าและบริการ รวมถึงขึ้นรถไฟฟ้าและใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกที่เปลี่ยนแปลงสังคมจีนสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless) อย่างแท้จริง

 

ในช่วงที่เกิดวิกฤตแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลจีนได้นำเอาเทคโนโลยี QR Code นี้มาปรับใช้เป็นระบบโค้ดสุขภาพ (Health Code) ภาษาจีนเรียก 健康码 (เจี้ยนคังหม่า) เพื่อช่วยควบคุมกิจกรรมและการเดินทางของประชาชน ท่ามกลางมาตรการล็อกดาวน์หรือปิดเมือง ที่บังคับใช้อย่างเข้มงวดทั่วประเทศ

 

Health Code คืออะไร

ระบบโค้ดสุขภาพนี้อ้างอิงจากฐานบิ๊กดาต้าของประชากรทั่วประเทศ ซึ่งทำงานผ่านการสแกน QR Code และแสดงผลเป็นโค้ดแถบสีม่วง แดง ส้ม เหลือง และเขียว เพื่อบ่งบอกสถานะสุขภาพและกำหนดความเคลื่อนไหวของประชาชนแต่ละคนว่าสามารถทำกิจกรรมใดหรือเดินทางไปไหนได้ เช่น การออกจากบ้าน ขึ้นรถไฟฟ้า ไปทำงาน เข้าร้านอาหารหรือซูเปอร์มาร์เก็ต โดยผู้ที่มี QR Code สีเขียวจะสามารถทำกิจกรรมหรือเข้าออกสถานที่ตามที่รัฐอนุญาตได้อย่างอิสระ แต่ผู้ที่มีโค้ดสีแดงหรือเหลืองจะถูกจำกัดการทำกิจกรรมในที่สาธารณะ เพื่อลดความเสี่ยงในการระบาด

 

 

สีม่วง

หมายถึงผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับการวินิจฉัยยืนยันจากแพทย์ หรือผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการ รวมถึงผู้ต้องสงสัยว่าอาจติดเชื้อ ซึ่งคนกลุ่มนี้จะถูกกักโรคไว้รักษาตัวที่โรงพยาบาล 

 

สีแดง

หมายถึงผู้ที่ติดต่อสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19 รวมถึงผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ หรือผู้ที่เดินทางข้ามมณฑลมาจากหูเป่ย หรือมาจากเมืองอู่ฮั่น หรือมีประวัติเคยไปหูเป่ยในช่วงเวลา 14 วัน ซึ่งจะต้องถูกกักตัวอยู่ในที่พักเป็นเวลา 14 วัน 

 

สีส้ม

หมายถึงบุคคลที่ทำงานและอาศัยใกล้ชิดกับผู้ที่ติดต่อสัมผัสผู้ป่วยโควิด-19 หรือบุคคลที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดนอกเหนือจากมณฑลหูเป่ย จะต้องกักตัวในบ้าน 14 วันเช่นกัน

 

สีเหลือง

หมายถึงบุคคลที่เดินทางไปมาข้ามเมืองหรือมณฑลที่ไม่ใช่หูเป่ย จะต้องกักตัวเฝ้าระวังในบ้านหรือที่พักอาศัย 7-14 วัน

 

สีเขียว

หมายถึงบุคคลที่อยู่นอกเหนือจาก 4 สีข้างต้น สามารถเดินทางได้อิสระในพื้นที่ที่ไม่มีการล็อกดาวน์เป็นพิเศษ

 

แม้ว่าทางการจีนจะไม่ได้ประกาศบังคับใช้ระบบโค้ดสุขภาพนี้โดยตรง แต่ในหลายเมือง ประชาชนที่ไม่มีสมาร์ทโฟนและแอปพลิเคชันที่แสดงโค้ดสุขภาพนี้ จะไม่สามารถออกจากที่พักหรือเข้าไปในที่สาธารณะที่มีการควบคุมได้ 

 

 

ระบบนี้ทำงานอย่างไร

Alibaba และ Tencent ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีน ได้รับเลือกจากรัฐบาลให้เป็นเจ้าภาพพัฒนาระบบโค้ดสุขภาพดังกล่าว สำหรับใช้งานบนแอปพลิเคชันสมาร์ทโฟนยอดนิยมของตนเอง อย่างแอปฯ ชำระเงิน Alipay และแอปฯ รับส่งข้อความ WeChat ซึ่งมีผู้ใช้งานรวมหลายร้อยล้านคน ถือเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ประชาชนจำนวนมากเข้าถึงได้ง่าย

 

เมืองหางโจว ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ Alibaba เป็นหนึ่งในเมืองแรกๆ ที่เริ่มใช้ระบบโค้ดสุขภาพผ่าน Alipay ตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ เพื่อกำหนดว่าประชาชนกลุ่มใดควรต้องกักตัว

 

ก่อนที่จะได้รับโค้ดสุขภาพนั้น ประชาชนทุกคนต้องลงทะเบียน กรอกข้อมูลส่วนตัวที่จำเป็น ทั้งชื่อ-สกุล หมายเลขบัตรประชาชน หมายเลขพาสปอร์ต หมายเลขโทรศัพท์ และตอบคำถาม ทั้งประวัติการเดินทาง และยืนยันว่ามีการติดต่อกับบุคคลที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในช่วง 14 วันที่ผ่านมาหรือไม่ รวมถึงระบุว่า มีอาการป่วยใดๆ ที่เข้าข่ายติดเชื้อ เช่น มีไข้ เหนื่อยหอบง่าย ไอ น้ำมูกไหล คอแห้ง เจ็บคอ และท้องร่วง ฯลฯ 

 

หลังกรอกข้อมูลเสร็จและผ่านการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่แล้ว ผู้ใช้จะได้รับโค้ดสุขภาพในแบบ QR Code เป็นสีต่างๆ ซึ่งผู้ที่ได้โค้ดสีแดงจะต้องเข้ารับการกักตัวในสถานที่ของทางการเป็นเวลา 14 วัน ผู้ที่ได้สีเหลืองจะต้องกักตัวเป็นเวลา 7 วันเป็นอย่างน้อย ส่วนผู้ที่ได้สีเขียวสามารถเดินทางไปทั่วเมืองได้อย่างอิสระ

 

โค้ดสุขภาพนี้ยังสามารถทำหน้าที่แกะรอยติดตามความเคลื่อนไหวของประชาชนในที่สาธารณะได้ เพราะประชาชนต้องใช้ QR Code สแกนเมื่อผ่านเข้าสู่ที่สาธารณะต่างๆ ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้อย่างรวดเร็วว่าผู้ที่ติดเชื้อนั้นอยู่ในจุดไหน และติดต่อกับใครบ้าง

 

 

ปรารถนา กีรานนท์ คนไทยที่อาศัยอยู่ในเมืองกุ้ยหยาง มณฑลกุ้ยโจวของจีน เล่าให้ THE STANDARD ฟังว่า คนจีนและชาวต่างชาติที่พำนักอาศัยในจีนทั่วประเทศจะต้องสแกน QR Code เพื่อแสดงสถานะสุขภาพเมื่อออกจากบ้านทุกครั้ง ซึ่งที่พักอาศัยในจีนส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะอพาร์ตเมนต์และคอนโดมิเนียม ซึ่งการเข้าออกแต่ละครั้งจะต้องแสดงโค้ดให้ รปภ. ดู  

 

เมื่ออยู่นอกบ้าน การใช้ระบบขนส่งสาธารณะก็ต้องสแกน QR Code เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นรถเมล์หรือโดยสารรถไฟใต้ดิน

 

แม้แต่การใช้รถยนต์ส่วนตัว เมื่อกลับถึงเขตที่พักแล้ว รปภ. จะต้องให้คนในรถสแกนแสดงสถานะสุขภาพทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้น และจะมีการวัดอุณหภูมิให้ทุกคนด้วย

 

เมื่อมีการเดินทางไปมณฑลอื่น ตอนขากลับจะต้องสแกน QR Code ซึ่งมันจะเปลี่ยนสีเองโดยอัตโนมัติเป็นสีเหลือง ซึ่งหมายความว่าเราไม่ปลอดภัยแล้ว เพราะมีการเดินทางไปที่อื่น ดังนั้น เมื่อกลับถึงบ้าน รปภ. จะสั่งให้เราต้องกักตัวอยู่ในบ้าน 14 วัน

 

และทุกวันจะมีเจ้าหน้าที่คอยโทรมาถามให้เราวัดอุณหภูมิตัวเอง และห้ามออกไปไหน ถ้าจะสั่งอาหาร จะมีคนข้างล่างนำขึ้นมาให้เรา พูดง่ายๆ ก็คือห้ามเราออกจากประตูบ้านเลย แต่ถ้ามีการเดินทางไปมณฑลหูเป่ยหรือรอบๆ เมืองอู่ฮั่น เมื่อกลับมา โค้ดก็จะกลายเป็นสีแดงทันที (ข้อมูลก่อนที่อู่ฮั่นจะยกเลิกคำสั่งล็อกดาวน์)

 

ตัวแอปฯ ยังมีข้อมูลตัวเลขอัปเดตสถานการณ์การระบาดทั่วโลกทุกวัน ทั้งในประเทศจีนและต่างประเทศ เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์การระบาดได้ด้วยตนเอง  

 

มีการใช้งานในวงกว้างแค่ไหน

ระบบโค้ดสุขภาพบนแอปฯ Alipay ถูกใช้อย่างกว้างขวางในกว่าร้อยเมืองทั่วประเทศ ภายในช่วง 1 สัปดาห์แรกหลังเปิดตัว ก่อนจะได้รับคำขอจากทางการให้เร่งเปิดใช้งานทั่วประเทศในอีกไม่กี่วันหลังจากนั้น ซึ่งในปลายเดือนกุมภาพันธ์มีมากกว่า 200 เมือง ที่ใช้งานระบบโค้ดสุขภาพผ่านแอปฯ Alipay ขณะที่ระบบโค้ดสุขภาพบนแอปฯ WeChat นั้นก็มีการพัฒนาและใช้งานเป็นวงกว้างแล้วมากกว่า 300 เมืองในปัจจุบัน

 

ในวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลจีนยังเปิดตัวเวอร์ชันใหม่ของระบบโค้ดสุขภาพ ที่ให้ประชาชนเพิ่มข้อมูลลงทะเบียนด้วยระบบสแกนและจดจำใบหน้า ก่อนที่จะได้รหัส QR Code

 

โค้ดสุขภาพนี้ยังมีบทบาทสำคัญหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีนเริ่มคลี่คลาย และหลายมณฑลทยอยผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางด้วย 

 

ในวันที่ 10 มีนาคม มณฑลหูเป่ย ศูนย์กลางการแพร่ระบาด ใช้ระบบโค้ดสุขภาพ แบ่งกลุ่มประชาชนออกตามรหัสสี โดยผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ หรือเป็นผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการ หรือมีไข้สูง จะได้รับรหัสสุขภาพสีม่วง ที่หมายความว่าต้องกักตัวและรับการรักษา ส่วนบุคคลที่ติดต่อกับคนกลุ่มนี้จะได้รับโค้ดสีแดงที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทาง และผู้ที่ไม่มีประวัติติดต่อกลุ่มผู้ติดเชื้อจะได้รับรหัสสีเขียว ซึ่งหมายความว่าสามารถเดินทางภายในมณฑลได้อย่างปลอดภัย

 

 

การใช้งานมีปัญหาหรือไม่

แน่นอนว่าระบบโค้ดสุขภาพนี้ยังมีความไม่สมบูรณ์และมีปัญหาบางอย่าง เช่นความผิดพลาดในการกำหนดรหัสสีของแต่ละคน ซึ่งทำให้เกิดการบังคับกักตัวประชาชนผิดกลุ่ม ในหางโจวประชาชนหลายคนร้องเรียนว่าได้รับรหัสสีแดง จากเหตุผลผิดๆ ที่ระบุในการลงทะเบียน เช่น อาการคัดจมูก เหนื่อยง่าย ซึ่งเป็นอาการของไข้หวัดทั่วไป 

 

ขณะที่ทางการได้รับแจ้งร้องเรียนถึงความผิดพลาดของระบบโค้ดสุขภาพผ่านสายด่วนจำนวนมาก จนทำให้ต้องเปิดช่องทางออนไลน์ เพื่อรับเรื่องร้องขอทบทวนการกำหนดรหัสสีใหม่

 

อีกปัญหาคือ ฐานข้อมูลประชากรที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ และมาตรฐานการกำหนดรหัสสีของประชาชนที่แตกต่างกันของแต่ละรัฐบาลท้องถิ่น 

 

ตัวอย่างเช่น นายหยวน ชาวมณฑลหูเป่ย เดินทางกลับไปมณฑลกุ้ยโจว ช่วงปลายเดือนมีนาคม หลังยกเลิกล็อกดาวน์ แต่ปรากฏว่าเขาต้องถูกกักตัวเป็นเวลา 14 วัน เพราะโค้ดสุขภาพของเขากลายเป็นสีแดง ซึ่งแม้ก่อนหน้านี้เขาจะได้รหัสสีเขียวในมณฑลหูเป่ยก็ตาม แต่ทางรัฐบาลท้องถิ่นมณฑลกุ้ยโจวก็ไม่ยอมรับ ซึ่งรัฐบาลจีนก็พยายามแก้ปัญหาด้วยการอัปโหลดข้อมูลผู้ติดเชื้อ ผู้ต้องสงสัย และผู้ติดต่อใกล้ชิด เพื่อเป็นฐานข้อมูลกลางให้รัฐบาลท้องถิ่นแต่ละแห่งนำไปใช้กำหนดรหัสสุขภาพของประชาชน

 

นอกจากนี้ยังมีรายงานความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว เนื่องจากระบบโค้ดสุขภาพนั้นจำเป็นต้องใช้ข้อมูลส่วนตัวหลายอย่าง ทำให้ประชาชนหลายคนกลัวว่า ข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญของตนจะรั่วไหลและไม่มั่นใจในความปลอดภัยของระบบโค้ดสุขภาพนี้

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่จีนเดินหน้าใช้ระบบนี้อย่างต่อเนื่อง รัฐบาลหลายประเทศ ก็หันมาใช้เทคโนโลยีที่คล้ายกัน เพื่อรับมือการระบาดของโควิด-19 โดยสิงคโปร์ เปิดตัวแอปพลิเคชันตรวจสอบผู้ที่ติดต่อกับผู้ติดเชื้อเมื่อเดือนที่ผ่านมา ส่วนญี่ปุ่นก็กำลังพิจารณาใช้แอปพลิเคชันที่คล้ายกัน ขณะที่รัสเซียมีการเสนอใช้ระบบ QR Code ติดตามความเคลื่อนไหวของประชาชน และช่วยในการบังคับประชาชนให้กักตัวเช่นกัน

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising