“ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย เธอไม่อินกับผู้ชาย Bad Boy” กลายเป็นเพลงที่เด็กๆ วัยรุ่นฟันน้ำนม สามารถร้องกันได้อย่างพร้อมเพรียงโดยไม่ได้นัดหมาย
THE STANDARD สนทนาพิเศษกับ 2 หนุ่ม ฮาย-ธันวา เกตุสุวรรณ และ เซน-นครินทร์ ขุนภักดี เจ้าของเพลงฮิต ทรงอย่างแบด (Bad Boy) จากวง Paper Planes วงร็อกแนว Pop Punk และ Emo Trap ค่าย genie records ที่เวลานี้กำลังถูกยกย่องให้เป็นหัวหน้าแก๊งเด็กฟันน้ำนม หลังสร้างปรากฏการณ์เป็นเพลงแห่งชาติขวัญใจเด็กๆ
จุดเริ่มต้น ทำไมต้องทรงอย่างแบด
ฮาย ธันวา นักร้องนำของวง เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่าทำไมต้อง ‘ทรงอย่างแบด แล้วแซดอย่างบ่อย’ ว่า ได้ไปเห็น Instagram Stories โพสต์ว่า “ทรงอย่าง Bad Sad อย่างบ่อย” ของเพื่อนคนหนึ่งที่ได้ไปสังสรรค์ ตอนไปทรงยังดี เท่ๆ แบดๆ แต่ตอนกลับนั้น กลับหมดสภาพ เสียทรง
ฮายอธิบายต่อไปว่า คำนี้ ‘ทรงอย่าง Bad Sad อย่างบ่อย’ นั้นทริกเกอร์กับเรา จึงทำให้เราเรียกความสนใจได้ดี และยังรีเลตกับเราอีก ตอนนั้นจึงจดเก็บไว้ แล้วก็ไปเขียนเพลงตอนอยู่แคมป์ที่ต่างจังหวัด
เพลงชาติวัยรุ่นฟันน้ำนม
ฮายได้บอกเล่าความรู้สึกของตนเองต่อปรากฏการณ์ ‘เพลงชาติวัยรุ่นฟันน้ำนม’ ว่า “มีความรู้สึกแปลกใจ” เพราะการมีชื่อเสียงในกลุ่มเด็กๆ นั้นไม่ได้อยู่ในความตั้งใจแรกตั้งแต่ต้น ตอนนั้นตั้งใจเพียงว่าจะทำเพลงนี้เพื่อกลุ่มวัยรุ่นที่ติดตามเรา
ตอนที่เพลงนี้เป็นกระแส เป็นปรากฏการณ์ที่เด็กๆ ร้องเพลงเราได้ เราเองก็มีความรู้สึกงงๆ หลังจากนั้นก็เริ่มมีความสนุก ความตลก และความน่ารักตามมา พอยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ เราเริ่มมานั่งวิเคราะห์กัน เป็นความรู้สึกที่อ่อนนุ่ม และเราไม่ได้มีมู้ดนี้บ่อยๆ ท้ายที่สุดก็ทำให้เรากลายเป็นคนที่อ่อนโยนและรู้สึกสบายตัวขึ้น
ทำไมจึงกลายเป็นปรากฏการณ์
ฮายยังได้กล่าวถึงสิ่งที่วงได้วิเคราะห์ว่า อะไรคือเหตุผลที่ทำให้เพลงไปโดนใจเด็กๆ อย่างแรกคือ อาจเป็นเมโลดีที่มีความง่ายๆ เพียงแค่ 3 โน้ต ได้แก่ ‘โด เร มี’ หรืออาจจะเป็นคำที่เราใช้เป็นกึ่งคำผวน มีความคล้องจอง ซึ่งเป็นคำที่เข้าถึงเด็กๆ ได้ง่าย เช่น ตอนที่ร้องว้าก “โธ่ พ่อหนุ่มแบดดด” (ลากเสียง) เราใช้โน้ตเพียงตัวเดียว เป็นดนตรีที่มีความสนุกและปลดปล่อยอารมณ์ออกมา
อีกส่วนหนึ่งน่าจะมาจากแพลตฟอร์มต่างๆ ของโซเชียลมีเดีย สิ่งที่เราได้เห็นจากพฤติกรรมการเสพเพลงของเด็กๆ ล้วนมาจากเพื่อนๆ ในวัยเดียวกันที่มีความสนใจเหมือนกัน เมื่อเริ่มทำพฤติกรรมต่อๆ กัน พ่อแม่ก็เปิดเพลง ที่โรงเรียนก็เปิดเพลง และด้วยความที่เพลงมีความง่ายๆ ก็ทำต่อๆ กันไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นกระแส
“ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลต่อชีวิตเราเหมือนกัน พวกเราอายุโตมากแล้ว ห่างกันไม่รู้กี่ช่วงอายุ เด็กบางคน 2 ขวบ ห่างกับเรากี่รอบไม่รู้ นับว่าเป็นการข้ามเจเนอเรชัน รู้สึกตื้นตันใจมาก”
คอนเสิร์ตที่เด็กเยอะที่สุด
ฮายเล่าย้อนความรู้สึกวันที่ไปเล่นคอนเสิร์ตในงานวันเด็กแห่งชาติที่สวนสัตว์ซาฟารีเวิลด์ว่า ตั้งแต่เกิดมา คอนเสิร์ตครั้งนี้เป็นคอนเสิร์ตที่เด็กเยอะที่สุด การที่เราไปเล่นคอนเสิร์ตที่สวนสัตว์ซาฟารีเวิลด์วันนั้น ก็เป็นสถานที่ที่เป็นไปได้ยากมากที่จะจัดคอนเสิร์ตด้วยเช่นกัน
“ตอนที่ผมร้องท่อนแบดบอยแล้วมีปลาโลมามาเป็นแขกรับเชิญพิเศษ มันว้าวมาก มากกว่าการจุดพลุ เพราะผมเองก็ไม่รู้ว่าปลาโลมาจะมา ตอนปลาโลมาขึ้นมาตรงกับจังหวะของเพลง เป็นสิ่งที่เพอร์เฟกต์ ตกใจ และอิมแพ็กกับเรามากๆ”
เอาหูฟังมาคล้อง ใส่เสื้อแขนยาว ปิดรอยสัก?
ฮายตอบข้อสงสัยของสังคมเกี่ยวกับรอยสัก และการแต่งตัวของตนเองในงานวันเด็กที่สวนสัตว์ซาฟารีเวิลด์ที่แต่งตัวมิดชิด นำหูฟังมาคล้อง เพื่อปกปิดรอยสักของตนเองหรือไม่
โดยเขายืนยันว่า “ไม่ถึงขนาดนั้น” การที่เราแต่งตัวเช่นนั้นมองว่าเป็นเรื่องของกาลเทศะ แต่ปกติจะเป็นคนที่ใส่เสื้อแขนยาวอยู่แล้ว เพราะคิดว่าใส่แล้วดูเรียบร้อย ส่วนการเอาหูฟังมาคล้องคอก็เพียงเพราะเห่อของเท่านั้น ไม่ใช่การใส่และการคล้องเพื่อปกปิดรอยสักแต่อย่างใด
“เมื่อมันเรียบร้อยจะทำให้เราดูซอฟต์ลง เมื่อเราดูซอฟต์ลงทำให้เราคุยกับผู้ใหญ่ได้ง่ายขึ้น จริงๆ ก็อยากให้เรื่องรอยสักเป็นเรื่องปกตินะ เราก็ไม่ได้เปิดทั้งหมด และไม่ได้ปิดทั้งหมดเช่นกัน”
เด็กๆ ‘อยากสัก’ ต้องรอเวลาที่เหมาะสม
ฮายมองเรื่องการสักว่าไม่ได้มีผลเสียอะไร หากสักในช่วงเวลาที่เหมาะสม การสักนั้นมีวิธีคิดเหมือนกับเรื่องอื่นๆ แต่เหตุผลที่เด็กยังไม่ควรสักในตอนนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของภาพลักษณ์เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของความรับผิดชอบบางอย่างด้วย
อีกอย่างเราไม่ได้อยู่ในโลกที่สามารถยอมรับเราได้ทุกอย่าง ถ้าเราอยู่ในโลกที่มีวิธีคิดเปลี่ยนไปแล้ว 100% มองว่าเรื่องรอยสักเป็นเรื่องธรรมดาแล้ว การจะสักตั้งแต่เกิดก็เป็นสิ่งที่ทำได้
ปัจจุบันเรายังอยู่ร่วมกับคนในหลายเจเนอเรชัน หากเราสักในเวลาที่ไม่เหมาะสมอาจจะถูกตัดสินจากรูปลักษณ์ภายนอกได้ แม้สังคมจะพยายามรณรงค์ในเรื่องของการไม่ตัดสินผู้อื่น แต่ยังไม่ได้หมดไป การสักในเวลาที่เหมาะสมน่าจะดีกว่า และรอยสักไม่ได้มีปัญหาอะไรกับเรื่องของวิธีคิด แต่เปรียบเหมือนการแต่งตัว
ทุกเพลง ทุกผลงาน ‘ใช้ความจริงใจ’
ฮายยังกล่าวถึงผลงานของวงหลังจากที่เป็นปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่า ไม่ได้กดดันไปถึงผลงานเพลงในอนาคต พร้อมให้เหตุผลว่า เพราะวงมีไดเรกชันของตัวเองอยู่ จะไม่พยายามทำเพลงเพราะรู้ว่าเด็กชอบหรือเข้าทางเด็ก เพราะทั้งหมดที่วิเคราะห์กันไปตอนต้น อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกเลยก็เป็นไปได้
“แต่ผมเชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่เด็กจะสัมผัสได้คือความจริงใจ สำหรับเพลงนี้ต้องเล่าย้อนกลับไปว่า วงของเรามีเพลงฮิตเพลงหนึ่งชื่อว่า เสแสร้ง (ข้อมูล ณ วันที่ 18 มกราคม 2566 ยอดรับชม 103 ล้านครั้ง) เราไม่สามารถทำเพลงแบบนั้นได้อีกแล้ว เมื่อไรที่เราไปเรียนรู้วิธีคิดเรื่องของดนตรี หรือไปลอกสูตรความสำเร็จ เราจะล้มเหลว”
ฮายอธิบายต่อไปว่า เราทำเพลงนี้ด้วยความรู้สึกเดียวกันคือ ‘ใช้ความจริงใจ’ มีความชอบจริงๆ และเพลงนี้เราก็รู้สึกแบบนั้นมากกว่าเพลง เสแสร้ง ด้วยซ้ำ เราจึงปล่อยเพลงนี้ออกมาด้วยความรู้สึกนั้น พอเด็กๆ รับรู้ได้ เรามีความเชื่อเล็กๆ ในใจว่า เด็กๆ ที่บริสุทธิ์มากๆ และเมื่อเราบริสุทธิ์มากๆ กับเขาเช่นกัน จะสามารถสื่อสารด้วยกันได้ เราก็มีความคิดว่าเพลงต่อไปต้องไม่เป็นแพตเทิร์นสำหรับเด็ก ขอให้เรามีความจริงใจกับผลงานของเรา ก็จะสามารถสื่อให้เขาได้
สำหรับผลงานเพลงชิ้นต่อๆ ไปก็ไม่ได้ตั้งใจทำเพื่อมอบให้เด็กแน่นอน และอาจจะไม่ได้มีปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้น เราคงไม่กล้าคิดให้ปรากฏการณ์เกิดขึ้นบ่อยๆ หากเกิดขึ้นบ่อยๆ คงไม่เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ และตอนนี้เพลงนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมแล้ว หากในอนาคตจะไม่เกิดขึ้นอีกก็ไม่เป็นไร
สารจากหัวหน้าแก๊งวัยรุ่นฟันนำ้นม ‘ใช้ชีวิตให้มีความสุข’
ปิดท้ายด้วยสารจากหัวหน้าแก๊งวัยรุ่นฟันน้ำนมถึงผู้ใหญ่ผู้ปกครองของเด็กๆ ว่า จริงๆ แล้วเด็กๆ ไม่ต้องการอะไรมาก แค่ต้องการใช้ชีวิตในแบบของเขา เหมือนปล่อยเขาไปในห้องที่มีความสลัว เดินอยู่ข้างใน ชนนั่น ชนนี่ ไปเจอสิ่งของ ไปเจอปัญหาในแบบของตัวเอง เราในฐานะของพี่ชายหรือว่าผู้ปกครอง เราต้องคอยทำให้เขาอยู่ในร่องในรอยแบบห่างๆ เพราะเด็กๆ มีชีวิตของตัวเอง และสามารถคิดเองได้ว่า สิ่งนี้คือสิ่งที่ดีหรือสิ่งที่ไม่ดี และเขาจะเลือกเก็บมันไว้
พอเราโตขึ้นเราไม่ได้เก็บแต่สิ่งที่ดีอย่างเดียว บางอย่างที่ไม่ดีมันก็มีประโยชน์กับเรา และเราอยากให้น้องๆ เรียนรู้ว่าในโลกนี้ วันหนึ่งเมื่อเราโตขึ้นไป เราไม่ได้อยู่กับคนที่ดีและไม่ดีเท่านั้น แต่เราอยู่กับคนที่อยู่กับเราได้ ที่มีทั้งเรื่องดีและเรื่องไม่ดี เราที่เป็นผู้ปกครองแค่คอยประคองอยู่ห่างๆ และคอยซัพพอร์ตก็พอ
สารจากหัวหน้าแก๊งในตอนท้ายของการสัมภาษณ์ที่พวกเขาฝากถึงสมาชิกวัยรุ่นฟันน้ำนมคือ
“ใช้ชีวิตให้เต็มที่ มีความสุขให้สุด น่ารักกับคนรอบข้าง สิ่งที่สำคัญคือใจดีกับตัวเอง ไม่อยากให้เด็กๆ มีปัญหาสุขภาพจิต ขอให้ใช้ชีวิตให้มีความสุข”