×

‘ลิซ่า ภคมน’ จากนักข่าว-ทีมธนาธร สู่ สส. ก้าวไกล ขอผลักดันกฎหมายสวัสดิภาพแรงงานสื่อ

09.10.2023
  • LOADING...
ภคมน หนุนอนันต์

THE STANDARD สัมภาษณ์ ภคมน หนุนอนันต์ หรือ ลิซ่า อดีตผู้สื่อข่าว Voice TV ปัจจุบันเป็น สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สส. สมัยแรก แต่เธอทำงานกับพรรคตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่เริ่มเปิดตัว โดยการชักชวนของ ตี้-อนุธีร์ เดชเทวพร และ ช่อ-พรรณิการ์ วานิช เพื่อนร่วมงานสมัยทำงาน Voice TV ซึ่งทั้ง 2 คนเข้าพรรคอนาคตใหม่ไปก่อนหน้านั้น

 

ลิซ่ามีชีวิตส่วนตัวที่รับรู้เรื่องการเมืองตั้งแต่ในระดับครอบครัว จนมาถึงการเมืองระดับประเทศ นับแต่ยุค ‘คนเสื้อเหลือง’ เคลื่อนไหว โดยสมัยนั้นเธอเป็นนักศึกษา และต่อมาหลัง ‘คนเสื้อแดง’ ถูกสลายการชุมนุม เธอเริ่มทำงานเป็นสื่อมวลชนจนถึงหลังรัฐประหาร 2557 ก่อนจะมาเป็น สส. ก้าวไกลในยุคนี้ 

 

ภคมน หนุนอนันต์

 

ครอบครัวคนใต้ แต่ปักธงไว้หน้าบ้าน ‘ธงแดงความจริงวันนี้’ สัญลักษณ์ ‘คนเสื้อแดง’ เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว

 

ครอบครัวอยู่จังหวัดพัทลุง ตอนเราเป็นเด็กอยู่ที่บ้านกับพ่อแม่ ก็เห็นมีคนเข้ามาหาพ่อที่บ้าน มาปรึกษาเรื่องการเมืองท้องถิ่น ที่บ้านเหมือนศูนย์ประสานงานอะไรแบบนี้ ตอนเด็กๆ มีคนมาขอคำแนะนำพ่อบ่อยๆ อย่าง คุณนริศ ขำนุรักษ์ เป็น สส. เขตบ้านเรา 22 ปี แล้ววันที่เราเป็น สส. เขาก็มาแสดงความยินดี แล้วเล่าให้ฟังว่า วันแรกที่เขาลงสมัครรับเลือกตั้ง พ่อเราเป็นคนพาไปเดิน เพราะคุณนริศไม่ใช่คนอำเภอนั้น ไม่รู้พื้นที่ 

 

แต่พ่อเราเนี่ย ถ้าใครเห็นก็จะไม่รู้ว่าเป็นคนมีความชอบการเมือง เพราะเขาจะอยู่เงียบๆ ของเขา ไม่ใช่หัวคะแนน แต่เป็นคนในพื้นที่ที่รู้ยุทธศาสตร์ที่จะทำให้ได้คะแนนเสียง ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับชาติ เราก็เห็นตั้งแต่เด็กๆ แล้วมีคนมาขอให้พ่อลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ตอนเด็กๆ เรายังพูดขำๆ กับพ่อว่า เราอายถ้ามีรูปพ่อติดอยู่ตามเสาไฟ ตอนยังเด็กไม่อยากให้พ่อลงเลือกตั้ง โดยไม่รู้ว่าจริงๆ พ่ออยากลงหรือเปล่า 

 

พ่อมีความคิดก้าวหน้า มีคำถามต่อโครงสร้างทางการเมือง โอกาสของคนและเรื่องความเหลื่อมล้ำ พอมีเสื้อแดงขึ้นมา มีคำว่ารากหญ้า มีคำว่าไพร่ ก็รู้สึกได้ว่าคงเป็นพวกเราที่เป็นคนต่างจังหวัด ซึ่งถูกพูดถึง ถูกมองเห็นแล้ว ที่บ้านก็ปักธง ‘แดงความจริงวันนี้’ หน้าบ้านเลย ก็ไม่ได้แคร์ถ้าจะมีคนไม่เห็นด้วย เพราะเราคิดว่าสิ่งที่เราเชื่อมันไม่ได้ผิด ช่วงนั้นญาติบางคนหรือเพื่อนพ่อก็มีที่ไม่ได้คุยกันนานมากกว่าจะกลับมาคุยกัน 

 

โครงสร้างของประเทศนี้ที่ไม่อนุญาตให้คนเติบโตได้เท่าๆ กัน นี่คือสิ่งที่หล่อหลอมให้เราเป็นคนแบบนี้ 

 

ภคมน หนุนอนันต์

 

เรียนปริญญาตรีในกรุงเทพฯ ยุคเสื้อเหลือง พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ชุมนุมขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร 

 

สมัยมัธยมมาเรียนที่หาดใหญ่ พอเรียนปริญญาตรี มาเรียนคณะวารสารศาสตร์ วิทยุโทรทัศน์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ รังสิต เข้าเรียนปี 2549 ซึ่งเป็นปีที่มีเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายนพอดี 

 

เป็นนักศึกษาวารสารของมหาวิทยาลัยที่อาจารย์พิเศษส่วนใหญ่มาจากช่อง ASTV (ของ สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำคนเสื้อเหลือง) สมัยนั้นเป็นเคเบิลทีวีที่ถือว่าเป็นสื่ออิสระ มีเพดานการใช้เสรีภาพสูงมากกว่าฟรีทีวีซึ่งฟรีทีวีก็มีไม่กี่ช่อง ไม่มีอะไรให้เราเลือกมาก 

 

ช่วงเรียนปี 1-4 ต้องสู้กับตัวเอง เพราะเรารับรู้การเมืองมาอีกแบบ แต่เราต้องมาอยู่ในสังคมที่อาจารย์และเพื่อนเมื่อเลิกเรียนแล้วพวกเขาไปม็อบพันธมิตรฯ (เสื้อเหลือง) เรารู้สึกเราแปลกแยกมาก ถ้าแสดงความเห็นอะไรจะกลายเป็นถูกมองว่า ‘ขี้ข้าทักษิณ’ ทันที เราถูกกล่าวหาแบบนั้นเลย 

 

ถึงแม้เราจะเป็นคนใต้แต่ก็ไม่ได้เป็นคนเสื้อเหลือง ที่บ้านมีความก้าวหน้า พ่อนับถือศาสนาอิสลาม แม่มาจากครอบครัวพุทธ พ่อแม่นับถือคนละศาสนาแต่ก็อยู่ด้วยกันได้ เพียงแต่ตกลงกัน มีความเป็นประชาธิปไตยที่เราไม่รู้ว่านั่นคือประชาธิปไตยตั้งแต่ครอบครัว จนกระทั่งมีม็อบเสื้อเหลือง เราก็ตั้งคำถาม เพราะถูกปลูกฝังจากครอบครัว จากพ่อ เรื่องการตั้งคำถาม เราก็ซึมซับ และเรารู้สึกต่อต้านม็อบพันธมิตรฯ เต็มไปด้วยคำถามกับความอึดอัด แม้กระทั่งสกู๊ปพิเศษที่อาจารย์ให้ลงไปทำข่าวในสถานการณ์จริง คือสถานการณ์ม็อบพันธมิตรฯ นั่นเอง ซึ่งแทรกเข้ามาอยู่ตลอดเวลา 

 

ตอนจะไปเรียนปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ตัดสินใจว่าจะไปเรียนไหม แต่แม่บอกว่าไปเรียนเถอะ เผื่อวันหนึ่งเป็น สส. เพราะฉะนั้น การทำงานวันนี้ไม่ใช่ความฝันตัวเราคนเดียว แต่เป็นความฝันของครอบครัวด้วย

 

เริ่มทำงานหลังเสื้อแดงถูกสลายการชุมนุมปี 2553

 

เรียนจบปริญญาตรีปลายปี 2553 เข้าไปทำงานเลยตั้งแต่ยังไม่ได้รับปริญญา ครั้งแรกไปทำงานเคเบิลทีวีแห่งหนึ่งในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนจะเข้า Voice TV กระทั่ง Voice TV เปิดรับสมัครก็ไปสมัคร แต่ไม่ใช่รุ่นแรกอย่าง คุณวีรนันต์ กัณหา เพราะเราไปเป็นรุ่นที่ 2 

 

ตอนทำข่าวก็ดีใจที่ได้ทำหน้าที่พูดแทนคนที่ไม่มีเสียงในสังคม เริ่มทำงานช่วงปลายปี 2553 หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ผ่านเหตุการณ์ที่บอบช้ำมากๆ ได้รับมอบหมายให้ทำสกู๊ปเนื้อหาครอบครัวของผู้เสียชีวิตและติดคุก ไปคุยกับญาติ กับครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ 

 

เวลานั้นเรายังเป็นเด็ก รู้สึกอินกับการเมือง และพื้นฐานครอบครัวก็เป็นคนเสื้อแดง 

 

ตอนนั้นเป็นเด็กเพิ่งเรียนจบใหม่ก็รู้สึกหดหู่ ทำไมเขาต้องมาเจออะไรแบบนี้ แทบจะแยกบทบาทตัวเองไม่ออก ระหว่างการเป็นผู้สื่อข่าวกับการเป็นคนเสื้อแดง มีความรู้สึกว่าชีวิตแต่ละครอบครัวจะเป็นอย่างไรต่อ แล้วใครจะรับผิดชอบคนเหล่านี้ 

 

นอกจากทำสกู๊ปครอบครัวผู้เสียชีวิตก็ได้รับมอบหมายให้ไปทำสกู๊ปนักโทษการเมือง ตอนนั้นมีการย้ายคุกมาอยู่ที่หลักสี่ ตอนแรกที่เราไปทำข่าวมีคนหนึ่งเขายังมองเห็น ยังคุยกับเราได้ เขาจำเราได้ว่าเป็นผู้สื่อข่าว Voice TV 

 

พอเราติดตามไปเรื่อยๆ สัก 3-4 เดือน ดวงตาเขาก็ค่อยๆ บอดลง จนครั้งสุดท้ายที่มีการยกเลิกคุกหลักสี่ แล้วทุกคนต้องกลับไปเรือนจำ ตอนนั้นดวงตาเขาบอดแล้ว เรารู้สึกว่าถ้าเราไม่พูดแทน แล้วใครจะพูดแทนเขา เป็นเรื่องที่เรารู้สึกว่าใครจะรับผิดชอบคนเหล่านี้ บางคนเสียชีวิตในที่ชุมนุมขณะภรรยาตั้งท้อง รู้สึกสะเทือนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น

 

ตอนที่เข้า Voice TV มีอีกสิ่งที่สะเทือนใจก่อนจะลงสนามข่าว คือมีช่างภาพคนหนึ่งเป็นช่างภาพคนหนุ่มไฟแรง เขาน่าจะอายุห่างจากเราไม่กี่ปี เขาได้รับบาดเจ็บที่ขาจากเหตุการณ์ปี 2553 แล้วเขาไม่สามารถเป็นช่างภาพได้เหมือนเดิม เขาถูกย้ายไปห้องตัดต่อ เพราะเขาไม่สามารถออกไปถ่ายงานได้แล้ว 

 

เราเห็นเขายังอยู่กับกล้องของเขา เอากล้องมาเล่น มาถ่าย เรารู้สึกว่าใครจะชดเชยเขาได้ ประเทศนี้การเป็นนักข่าวก็มีความเสี่ยง 

 

กระทั่งมีการเลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง หลังเลือกตั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มอบเงินเยียวยา ซึ่งถูกต้องแล้ว ผู้ที่ได้รับผลกระทบควรจะได้รับเงินเยียวยา แต่เงินเหล่านี้ก็ซื้อชีวิตพวกเขาไม่ได้ เหตุการณ์สลายการชุมนุมไม่ควรเกิดขึ้นตั้งแต่แรก 

 

แล้วรายงาน คอป. มีความชัดเจนอยู่แล้วว่าเหตุการณ์นี้มีการกระทำที่เกิดจากรัฐ เกิดจากใคร แต่ยังเอาผิดใครไม่ได้ ยังทำอะไรไม่ได้ แม้รู้ว่าใครอยู่ในตำแหน่งอะไรในขณะนั้น 

 

ภคมน หนุนอนันต์

 

ออกจาก Voice TV ช่วงพรรคเพื่อไทยผลักดัน ‘นิรโทษกรรมเหมาเข่ง’ ในสภา

 

ตอนนั้นรู้สึกสิ้นหวัง ไม่ได้พูดเพราะเป็น สส. ก้าวไกล ในปัจจุบัน แต่ยังจำความรู้สึกวันนั้นได้ วันที่เสื้อแดงออกมา ทุกอย่างเกิดขึ้น นำไปสู่การเลือกตั้ง รัฐบาลยิ่งลักษณ์มาจากคนเสื้อแดงที่ต่อสู้มา แต่ไม่ได้หมายความว่าคนเสื้อแดงต่อสู้เพื่อพรรคเพื่อไทยเท่านั้น 

 

ในมุมของเรา คนเสื้อแดงคือคนที่มองเห็นถึงความไม่เป็นธรรม ซึ่งไม่ได้หมายความว่าคนเสื้อแดงต้องส่งพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งไปมีอำนาจ 

 

ก่อนมีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คนที่อยู่หน้าเวทีชุมนุมคนเสื้อแดงทุกคนคงเคยได้ยินคำนี้ว่า พอมีรัฐบาล เราจะได้รับการคืนความยุติธรรม แต่สุดท้ายแล้วมา มี ‘พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง’

 

เราทำข่าวที่รัฐสภา มีการลากเก้าอี้ประธานรัฐสภา มีช่วงชุลมุน แล้วมี พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง สิ่งนี้ไม่ควรเกิดขึ้น 

 

วันที่คนเสื้อแดงต่อสู้กันมา วันที่มีคนล้มตาย เรามักจะได้ยินแกนนำบนเวทีพูดตลอดว่า เมื่อไรที่เรามีรัฐบาลของประชาชน ทุกชีวิตต้องได้รับความเป็นธรรม แต่นี่กำลังทำอะไรกันอยู่ แล้วคนที่ทำ ณ ขณะนั้น เขารู้อยู่แล้วว่าปลายทางจะเจออะไร แต่ยังดึงดันให้เกิดขึ้น คือนิรโทษกรรมเหมาเข่ง นั่นเป็นงานข่าวชิ้นท้ายๆ ที่ทำงานที่ Voice TV แล้ว 

 

ภคมน หนุนอนันต์

 

ย้ายไปทีวีดิจิทัลอีกช่อง ก่อนรัฐประหาร 2557

 

ต่อมาไปอยู่ทีวีดิจิทัลอีกช่องในช่วงเวลาหนึ่ง ไม่ถึงปี โดยการชวนของ พี่เจี๊ยบ-พรทิพย์ โม่งใหญ่ ได้ทำงานด้วยกัน กระทั่งก่อนวันรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 พี่เจี๊ยบ พรทิพย์ ไปทำข่าวที่สโมสรทหารบก ที่มีการเจรจาระหว่าง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และแกนนำ วันนั้นนักข่าวบางคนเข้าทำข่าวได้ บางคนที่ไม่ใช่สำนักข่าวใหญ่ก็เข้าไม่ได้ แล้วพี่เจี๊ยบถ่ายรูปกับทหารที่อารักขาบริเวณนั้นโดยพี่เจี๊ยบใส่ปลอกแขนสื่อและปิดปากตัวเองเป็นสัญลักษณ์ พอภาพออกมาในโซเชียลมีเดีย ข้างในออฟฟิศช่องนั้นก็วุ่นวายมาก เขาคงกลัวจะกระทบธุรกิจ 

 

พอพี่เจี๊ยบกลับเข้าออฟฟิศ สุดท้ายต้องเซ็นใบลาออก เราคิดว่าสื่อควรจะมีเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่ทำไมต้องเจออะไรแบบนี้ จึงรู้สึกว่าผู้ที่เกี่ยวข้องคงไม่พร้อมที่จะนำเสนอความจริง 

 

ภาพที่เรารู้สึกว่า เราคงทำงานต่อที่นี่ได้ไม่นาน คือภาพที่พี่เจี๊ยบต้องไปเซ็นใบลาออก แล้วต้องเก็บของออกจากออฟฟิศภายใน 1 ชั่วโมง พวกเราทุกคนไปช่วยพี่เจี๊ยบเก็บของแล้วไปส่งที่รถ 

 

ในใจก็คิด เราคงอยู่ได้ไม่นาน พี่เจี๊ยบไม่ได้ถูกไล่ออก ไม่ใช่การเลิกจ้างที่ได้รับเงินจากการเลิกจ้าง แต่ไม่รู้มีการคุยอย่างไร พี่เจี๊ยบต้องเซ็นลาออกเอง เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นกับเพื่อนเราแล้ว วันหลังอาจจะเกิดขึ้นกับใครก็ได้

 

ตอนนั้นพี่เจี๊ยบอยู่กับยาย แต่ต้องออกจากบ้านทุกวันเพื่อให้ยายคิดว่ายังทำงานอยู่ เป็นเวลาเกือบ 3 เดือน ไม่ได้ค่าชดเชยอะไรเลย บอกใครก็ไม่ได้ ออกไปนั่งร้านกาแฟหรือออกไปทำอะไรจนถึงเวลาเลิกงานแล้วก็กลับบ้าน หลังจากนั้นไม่นานเราก็ลาออกจากบริษัทเช่นกัน ไปทำธุรกิจ

 

ส่วนพี่เจี๊ยบปัจจุบันยังเป็นสื่อมวลชนอยู่ช่องเวิร์คพอยท์

 

ทั้งเคสช่างภาพ Voice TV บาดเจ็บ กับอีกเคสคือเคสพี่เจี๊ยบ เรารู้สึกว่าความปลอดภัยในอาชีพสื่อมวลชนของเราอยู่ตรงไหน สุดท้ายคนที่เจอเหตุการณ์นั้นๆ ต้องแบกรับไว้เอง ทำให้รู้สึกว่าสิ่งนี้อยู่ในใจตลอด ยังเก็บไว้ในใจ 

 

ตอนเลือกทำงานที่ Voice TV ตอนนั้นเป็นเรื่องความคิดอุดมการณ์ด้วย คนที่เรียนจบใหม่แล้วมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบนี้ต้องเลือก Voice TV สมัยนั้นมีความอันดับ 1 เรื่องความก้าวหน้า คือความหวัง นั่นคือเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เป็นช่วงที่ได้ประสบการณ์เยอะมาก 

 

ภคมน หนุนอนันต์

 

เข้าทำงานพรรคอนาคตใหม่ปี 2561 ก่อนเลือกตั้ง 2562

 

หลังออกจากงานสื่อช่วงหลังรัฐประหาร 2557 ก็ทำธุรกิจส่วนตัวกระทั่งปี 2561 จึงมาทำงานกับพรรคอนาคตใหม่ ตอนแรกน้องชายกลับจากเมืองนอกมาร่วมกับพรรคอนาคตใหม่ในส่วนเยาวชน เมื่อมีพรรคที่เป็นตัวเลือกใหม่ ก็ได้คำตอบสำหรับตัวเองด้วยว่าเรายังสนใจงานการเมืองอยู่ 

 

เวลาเลยผ่านไปจนกระทั่งปี 2561 ตี้-อนุธีร์ เดชเทวพร เพื่อนที่เคยอยู่ Voice TV โทรมาชวนให้มาช่วยงานพรรคอนาคตใหม่ ตอนนั้นเปิดตัว ช่อ-พรรณิการ์ วานิช ไปแล้ว รู้แล้วว่าช่อก็อยู่พรรคนี้ ตอนอยู่  Voice TV ก็เป็นนักข่าวรุ่นเดียวกัน เพียงแต่อยู่คนละโต๊ะ เราอยู่โต๊ะการเมือง ช่ออยู่โต๊ะต่างประเทศ 

 

ตอนแรกยังไม่ได้ตอบรับมาที่พรรคเพราะยังเป็นห่วงธุรกิจที่ทำ ตอนนั้นทำแบรนด์ผลิตภัณฑ์ความงามของตัวเอง เราก็ยังสนุกอยู่ ได้รายได้ และไม่ต้องตื่นเช้าด้วย

 

พอใกล้เลือกตั้งอีกไม่กี่เดือน ช่อให้ตี้โทรมาชวนอีกรอบ บอกว่าขอให้มาช่วย 3 เดือน ตอนนั้นเข้าพรรคอนาคตใหม่ไปอยู่ทีมสื่อของพรรค ไม่ใช่ผู้สมัคร สส. ทำงานกับ เชตวัน เตือประโคน ซึ่งปัจจุบันเป็น สส. เช่นกัน แต่เป็น สส. เขต

 

ภคมน หนุนอนันต์

 

ติดตาม ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ก่อนเลือกตั้ง 2562

 

ช่วงก่อนเลือกตั้ง 2562 ตอนนั้นแบ่งเป็นทีมตามธนาธร, ปิยบุตร และช่อ เป็น 3 สาย เราได้ติดตามธนาธรหาเสียง ซึ่งก็สลับกับตี้บ้าง

 

ตอนแรกยังไม่มีสื่อติดตามทำข่าว เราก็เป็นคนเขียนว่าธนาธรไปไหน เหมือนทำข่าวของพรรค แล้วธนาธรก็เป็นคนแปลก ไม่สนใจสื่อมวลชนคือไม่สนว่าสื่อมวลชนจะสนใจเขาหรือไม่ 

 

เรารู้สึกว่าเขามีความมุ่งมั่น เขาจะตั้งใจพูดหาเสียง ไม่ว่าจะมีคนฟังมากหรือน้อย พรรคอนาคตใหม่ไม่มีการจัดตั้งคนอยู่แล้ว เราจะรู้หน้างานว่ามีคนมาเยอะแค่ไหน 

 

มันมีครั้งหนึ่งที่มีคนอยู่ประมาณ 10 คนที่พังงา ตรงนั้นเป็น บขส. รถบัสใกล้จะหมดไปแล้ว มีคนฟังไม่กี่คน แต่ธนาธรตั้งใจพูดเหมือนมีคนฟังเป็นร้อยคน 

 

การอยู่ใกล้ธนาธรทำให้ไฟที่เกือบจะไม่มีแล้วในตัวเราเหมือนจุดติด เขาไม่เคยรู้สึกว่าจะไม่ไปงานไหนเพียงเพราะมีคนน้อย เขารู้สึกว่าการได้คุยกับใครแม้เพียงคนเดียวแล้วคนคนนั้นเข้าใจเขาก็ถือว่าเขาทำสำเร็จแล้วสำหรับวันนั้น 

 

ภคมน หนุนอนันต์

 

เบื้องหลังกระแส ‘ฟ้ารักพ่อ’

 

จริงๆ อนาคตใหม่เพิ่งจะไปไหนมาไหนง่ายหลังกระแส ‘ฟ้ารักพ่อ’ ในงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ เพราะก่อนหน้านั้น ไปไหนมาไหนยากลำบาก ไม่ได้มีใครรู้จัก ไม่ได้มีใครต้อนรับ ไม่ได้มีใครซื้อไอเดียอะไรแบบนี้ 

 

วันนั้นไปงานฟุตบอลประเพณีแล้วมีนักศึกษาในงาน ซึ่งเขาเป็น LGBTQIA+ เขาตะโกนว่า ‘ฟ้ารักพ่อ’ ซึ่งทีมเราเองก็กลับมาคุยกันว่า ‘ฟ้ารักพ่อ’ คืออะไรวะ แล้วมีคนหนึ่งอธิบายว่า มันมาจากละคร ดอกส้มสีทอง ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ PC นะ (Political Correctness – ความถูกต้องทางการเมือง) เราจะไม่พูดกันเอง เพราะผิดหลักของเรา แต่ถ้าคนอื่นพูดก็เป็นเรื่องของเขา ถ้าจะเป็นกระแสในโซเชียลมีเดียให้เป็นไป คำว่าพ่อใน ‘ฟ้ารักพ่อ’ ไม่ใช่พ่อผู้ให้กำเนิดแต่คือ ‘ป๋า’ ซึ่งเราจะไม่ใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้

 

มีช่วงหนึ่งแอดมินเพจพรรคไปตอบกลับคอมเมนต์ประมาณว่า ‘พ่อก็รักฟ้า’ แล้วตอนนั้นแอดมินถูกเรียกไปตักเตือน ทางพรรคซีเรียสมาก เพราะว่าถ้าเราจะเปลี่ยนแปลงสังคม เราต้องเป็นแบบอย่าง คำว่าฟ้ารักพ่อ คุณธนาธรก็ไม่ได้รู้ในทันทีว่าแปลว่าอะไร เขามารู้ที่มาหลังจากผ่านไปสักพัก

 

ธนาธรไม่ใช่คนชอบสร้างคอนเทนต์ ที่เราเห็นอะไรเป็นคอนเทนต์นั้นเกิดจากความเชยๆ ของคุณธนาธร อย่างละครคุณธรรม ตอนนั้นเราไม่ได้อยู่ด้วย แต่เดาว่าทีมคงบอกให้ทำ ที่จริงเขาก็คงไม่ซื้อไอเดีย แต่สุดท้ายก็ต้องทำ กระแสละครคุณธรรมกำลังมา ก็เลยออกมาแบบนั้น (หัวเราะ) 

 

ธนาธรมีพลังตลอดเวลา แล้วมูฟออนเร็วไม่ว่าเรื่องอะไร เช่น เรื่องยุบพรรค เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะไม่พูดอะไรมาก เขาไปต่อ ไปทำเรื่องท้องถิ่น 

 

แต่เท่าที่เห็นคนที่เก็บอาการได้ดีที่สุดในพรรคนี้คือช่อ ไม่ค่อยรู้สึกว่าเขาอ่อนแอ ตอนอนาคตใหม่ถูกยุบ สส. บางคนอย่าง พี่เจี๊ยบ-อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ร้องไห้ แต่สักพักมีเสียงช่อขึ้นมาบอกว่า “ทุกคนคะนี่ไม่ใช่เวลาของการเสียใจ” ด้วยความที่เราเป็นเพื่อนเขา เราก็บอกว่าโหดเกิน เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้มแข็ง เราก็เลยไม่รู้ว่าเหตุการณ์ไหนเขาจะอ่อนแอ 

 

ส่วนธนาธรจะมองเห็นได้ทางแววตา เขาเรียลมากๆ ไม่ว่าจะดีใจ เสียใจ แต่มูฟออนเร็ว อย่างที่เขาเคยพูดวันนั้นว่าเขารู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ การที่เขาจะมาทำพรรคการเมืองยังไม่ได้ไปถึงฝั่งฝัน แต่ว่ามูฟออนเร็วคือไม่ได้มานั่งโศก ว่าเขาโดนกระทำ เขาก็ไปทำท้องถิ่นเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ไปทำงานอื่น ไปทำงานบรรยายในมหาวิทยาลัย ไปทำงานความคิดอื่นๆ เขาก็ไปของเขา เป็นคนที่มีแพสชันกับสิ่งที่ทำอยู่ตลอดเวลา นี่คือสิ่งที่เราเรียนรู้จากเขา การไม่หมดหวัง เขามีความจริงใจ มีเจตนาที่ตรงไปตรงมา ทำไมจะต้องแสดงออกไม่ตรงกับเจตนาตัวเอง

 

ภคมน หนุนอนันต์

 

หลังเลือกตั้งปี 2562 

 

หลังเลือกตั้ง 2562 ได้มาคุยกันว่า พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคใหม่ มี สส. 80 คน มีสื่อมวลชนเริ่มติดตามมากกว่าก่อนเลือกตั้ง จึงจำเป็นต้องมีคนประสานงานกับสื่อมวลชน การรับมือกับนักข่าวการเมือง ถ้าคนไม่มีประสบการณ์ก็ทำได้ไม่ง่าย ก็เลยรับหน้าที่นี้ แล้วทำมาตลอด 

 

เปลี่ยนจากเขียนเนื้อหา มาเป็นประสานงานสื่อ บางทีก็เขียนบ้างโดยมีการคุยในพรรคก่อน การทำงานกับพรรคมีข้อดีคือ เขาจะให้อำนาจการตัดสินใจเราทั้งหมด การตัดสินใจหน้างาน ทั้งเรื่องการแถลงข่าว หรือให้คำแนะนำคนในพรรคว่าจะต้องให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอย่างไร ซึ่งในรัฐสภาจะมีจุดที่สื่อมวลชนรอสัมภาษณ์อยู่แล้วเป็นไมค์รวม นักข่าวแต่ละสำนักมารอสัมภาษณ์พร้อมกัน ถ้าเราไม่ให้สัมภาษณ์จุดนี้ด้วยก็จะไม่มีพื้นที่ข่าว เป็นพื้นที่ที่เราต้องชี้แจง แตกต่างจากการแถลงข่าว 

 

หลายครั้งการชิงพื้นที่สื่อ เราจำเป็นต้องตัดสินใจให้ไว แล้วเราได้อำนาจการตัดสินใจนี้ตลอดการทำงานตั้งแต่อนาคตใหม่ถึงก้าวไกล แม้แต่การไปออกรายการของ สส. ในพรรค ก็ให้คำแนะนำ สส. ใหม่ จากการประเมินล่วงหน้าว่าแต่ละรายการจะเจออะไร บางรายการอาจเจอในสิ่งที่ไม่ได้คาดคิดไว้ สส. ต้องไม่ตายกลางอากาศ จะต้องพร้อมพูด พร้อมให้สัมภาษณ์สื่อ

 

ภคมน หนุนอนันต์

 

เป็น สส. สมัยแรกหลังเลือกตั้งปี 2566

 

การสมัครเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. ของพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะคนในหรือคนนอก มีกระบวนการเหมือนกันหมด คือต้องสมัคร ต้องทำแบบทดสอบ มีการสอบสัมภาษณ์ ให้นำเสนอนโยบายที่ตัวเองสนใจ ใช้เวลา 7 นาทีเหมือนอภิปรายในสภา ตามขั้นตอนคัดเลือก คนที่ทำงานในพรรคก็ไม่ได้มีอภิสิทธิ์มากกว่าคนอื่น ทุกอย่างผ่านการทดสอบหมด 

 

ปีนี้เราอายุ 36 ปีก็สมัครไว้ จะได้ไม่ต้องเสียใจในอนาคตว่าทำไมไม่สมัคร นอกจากเป็นความฝันตัวเองเกี่ยวกับงานการเมืองก็คิดว่า พ่อแม่คงอยากให้สมัครด้วย สุดท้ายสมัครปาร์ตี้ลิสต์ เพราะเดิมต้องทำงานกับส่วนกลางอยู่แล้ว โดยไม่รู้จะได้ลำดับที่เท่าไร ปรากฏเป็นลำดับ 39 แล้วพรรคได้ 39 สส. ปาร์ตี้ลิสต์พอดี 

 

การนับคะแนนวันที่ 14 พฤษภาคม ยังได้แค่ลำดับที่ 38 ต่อมาวันรุ่งขึ้น คะแนนมาถึงลำดับ 39 ประมาณช่วงเที่ยง นักข่าวที่ กกต. โทรมาบอกว่าได้เป็น สส. แล้ว 

 

ภคมน หนุนอนันต์

 

วางบทบาทผลักดันกฎหมายดูแลสวัสดิภาพแรงงานสื่อมวลชน

 

สส. ปาร์ตี้ลิสต์ คนมักจะคิดว่ามาด้วยกระแสพรรค ความคาดหวังจึงเยอะ เรามองว่า สุดท้ายอยากให้ตัดสินที่งานแต่ละคน ที่จริงตำแหน่งรองโฆษกก็ทำหน้าที่แทนพรรคได้ทุกวันอยู่แล้ว แต่มีสิ่งที่เราอยากทำ จริงๆ สส. พรรคก้าวไกลทุกคนจะมีประเด็นที่ให้ความสนใจส่วนตัวอยู่แล้ว

 

ย้อนกลับไปกรณีช่างภาพที่บาดเจ็บจากการทำงาน กับกรณีพี่เจี๊ยบโดนออกจากงานเพราะการแสดงออกต่อสิ่งที่ตัวเองรู้สึกว่าสิ่งนั้นไม่ถูกต้อง 

 

สองกรณีนี้เป็นตัวอย่าง การทำความเข้าใจชีวิตสื่อมวลชนเป็นเรื่องที่เราถ่ายทอดได้ดีที่สุด เป็นประสบการณ์ เป็นสิ่งที่เราพบเจอมา แล้วเราก็อยากเห็นว่าสื่อมวลชนในประเทศไทยควรมีความมั่นคงกว่านี้ ไม่ได้หมายถึงกฎหมายที่จะมามีอำนาจควบคุมสื่อ แต่หมายถึงสื่อเป็นแรงงานประเภทหนึ่งที่ควรได้รับการดูแลสวัสดิภาพอย่างเหมาะสม ซึ่งอยู่ใน พ.ร.บ.แรงงานของพรรคก้าวไกล 

 

เรามีโอกาสได้คุยแล้วมองว่าแรงงานสื่อมวลชน เป็นแรงงานประเภทหนึ่งที่มีความเฉพาะบางอย่าง ขอให้เพิ่มเข้าไปใน พ.ร.บ.แรงงานของพรรค สุดท้ายแล้วอาจไม่ใช่กฎหมายเฉพาะสื่อมวลชนกลุ่มเดียว แต่อยู่ในกฎหมายแรงงานของพรรคก้าวไกลที่รวมถึงกลุ่มสื่อมวลชนด้วย สามารถตั้งสหภาพได้ด้วย 

 

นอกจากนั้นคิดว่าสื่อมวลชนควรมีภาควิชาชีพสื่อมวลชน เพราะงานสื่อมวลชนมีผลต่อคนจำนวนมาก หากเสรีภาพในการนำเสนอไม่ได้ถูกจำกัดไว้ ข้อมูลที่ส่งไปก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง สร้างแรงกระเพื่อมได้เยอะมาก เป็นปากเป็นเสียงให้คนที่ไม่สามารถส่งเสียง บางยุคก็มีคำกล่าวว่า สื่อมวลชนเป็นที่พึ่งมากกว่ากระบวนการยุติธรรม ประชาชนหวังความเป็นธรรมจากสื่อมวลชน มีแบบนี้จริงๆ 

 

ภคมน หนุนอนันต์

 

ยุคที่ว่ากันว่าใครก็เป็นนักข่าวได้ เห็นด้วยหรือไม่ 

 

นิยามนี้ถูกถกเถียงกันมาก ว่าใครก็เป็นนักข่าวได้จริงหรือไม่ มีการคุยกันพอสมควรในคณะทำงาน แต่คิดว่าสุดท้ายเราควรจะดูจุดประสงค์การนำเสนอ เช่น ผู้สื่อข่าวที่มีจุดประสงค์ในการนำเสนอก็จะมีความแตกต่างจากบางคนถือกล้อง ถ่าย Live ไปเรื่อยๆ ซึ่งแบบนี้อาจเป็น YouTuber หรือ Influencer ไม่ใช่ Reporter หรือ Journalist ต้องมองคุณค่าผลงาน Journalist เป็นวิชาชีพ มีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำไป 

 

การหยิบมือถือ Live อย่างเดียว ความรับผิดชอบอาจไม่เท่ากับผู้สื่อข่าว เพราะสื่อมวลชนมีเรื่องต้องคำนึง เช่น ประโยชน์สาธารณะ 

 

เรื่องสวัสดิภาพจะอยู่ใน พ.ร.บ.แรงงานของพรรคก้าวไกล ส่วนเรื่องเสรีภาพสื่อมวลชน กำลังจะคุยกับหลายภาคส่วนที่ทำงานด้านสื่อมวลชน เพราะมีข้อถกเถียงมากว่าสื่อมวลชนควรจะอยู่ภายใต้กฎหมายหรือไม่ ไม่อย่างนั้นเสรีภาพจะขาดหายไปหรือไม่ จะถูกครอบงำจากรัฐไหม 

 

เป็นกลุ่มที่จัดการไม่ง่าย รวมถึงจะเอาอะไรมาพิสูจน์ความเป็นสื่ออีก เพราะฉะนั้น มีหลายองค์ประกอบ หากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นใครจะมีสิทธิได้รับการคุ้มครองเยียวยา 

 

บางยุคมี ‘บัตรม่วง’ ออกให้สื่อมวลชนโดยกรมประชาสัมพันธ์ บุคคลไม่สามารถทำบัตรม่วงได้ต้องผ่านต้นสังกัด ในขณะที่มีคำถามคือ กรมประชาสัมพันธ์ออกบัตรด้วยอำนาจอะไร ซึ่งก็ไม่ได้มีอำนาจอะไร 

 

บางคนอธิบายว่า การมีบัตรสื่อมวลชนเพื่อความน่าเชื่อถือ และการจัดหมวดหมู่เป็นอันหนึ่งอันเดียว แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ให้การคุ้มครองอะไร มี ‘บัตรม่วง’ เพื่อความน่าเชื่อถือ เพื่อบอกว่าเป็นนักข่าว ส่วนตัวสนใจเรื่องการคุ้มครองมากกว่าการควบคุม

 

นอกจากนั้นสื่อมวลชนโดนฟ้องเยอะมาก ในการทำงานในพื้นที่เสี่ยงภัย ควรจะมีเกราะคุ้มกันว่าการนำเสนอข้อเท็จจริง เพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อประโยชน์ของสังคม เขาไม่ควรถูกจำกัดเสรีภาพ หรือคุกคาม นักข่าวอาชญากรรมบางคนโดนโทรขู่ฆ่า แล้วมีอำนาจไหนที่จะต้องต่อสู้กับอำนาจมืดนี้แทนพวกเขาบ้างไหม แต่ด้วยข้อจำกัดและการถกเถียงกัน เรื่องที่ยากที่สุดคือ ใครเป็นสื่อมวลชน

 

ถ้าให้รัฐลงทะเบียนก็กลายเป็นรัฐมีอำนาจจะบอกว่าใครเป็นสื่อหรือไม่ 

 

เรื่องสวัสดิภาพแรงงานสื่อมวลชน เราฝันไว้ว่าจะมี พ.ร.บ.สื่อมวลชนฉบับก้าวไกลด้วย เรื่องสวัสดิภาพแรงงานทั้งพนักงานประจำและฟรีแลนซ์ ต้องมีสวัสดิการครอบคลุมที่เท่ากันรวมสื่อมวลชนที่เป็นฟรีแลนซ์ด้วย ส่งเสริมให้มีสหภาพแรงงานด้วย หรือสื่อมวลชนที่ไปปฏิบัติงานในที่ชุมนุมควรมีอุปกรณ์ป้องกันตัว ถ้าสหภาพแรงงานเข้มแข็งก็ต่อรองสิ่งเหล่านี้ได้ ที่ผ่านมามีปลอกแขนสีเขียวแสดงความเป็นสื่อซึ่งไม่ใช่เสื้อเกราะ สื่อควรได้การคุ้มครองที่มากกว่าสัญลักษณ์แสดงตัวในการทำงาน เพราะที่ผ่านมา บัตรม่วง ปลอกแขนเขียวก็เป็นสัญลักษณ์ แต่สุดท้ายไม่มีอะไรคุ้มครองสวัสดิภาพการทำงานได้เลย 

 

สวัสดิภาพแรงงานสื่อมวลชนควรได้รับการคุ้มครอง ควรมีหลักประกันกับคนเหล่านี้ แรงงานอื่นๆ ก็มีความสำคัญ แต่แรงงานสื่อมวลชนก็ยังไม่ได้รับการดูแลหากเทียบกับความรับผิดชอบที่สูงมาก จึงควรมีการคุ้มครอง แรงงานอื่นอาจไม่ทราบว่าสื่อมวลชนต้องประสบกับอะไร มีความเสี่ยงสูงในบางสถานการณ์ บางพื้นที่

 

ร่างใหม่ พ.ร.บ.แรงงานฉบับก้าวไกล ถ้าผ่านก็ครอบคลุมสวัสดิภาพอยู่แล้ว แต่เรื่องเสรีภาพจะมีอีกฉบับหรือไม่ 

 

เสรีภาพกับสวัสดิภาพควรไปด้วยกัน แต่อยู่ในกฎหมายเดียวกันไม่ได้ สวัสดิภาพ ถ้าอยู่ใน พ.ร.บ.แรงงาน จะไปได้เร็วกว่า ส่วนเรื่องเสรีภาพ ต้องมาคุยกันว่าสื่อต้องการให้แวดวงออกมารูปแบบไหน ให้เราเป็นตัวกลาง ไม่ใช่ตัวตั้งตัวตี แต่เพื่อคุยกันให้ตกผลึก เพดานเสรีภาพอยู่ตรงไหนมีรายละเอียดอีกเยอะ มีเรื่องต้องคำนึงถึงอีกมาก อาชีพอื่นมีสภาวิชาชีพ แต่สื่อมวลชนก็ไม่เหมือนอาชีพที่มีสภาวิชาชีพเหล่านั้น ตอนนี้กำลังคุยกับนักข่าว อดีตนักข่าวคนที่ติดตามการถูกคุกคามของสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีหน่วยงาน NGO ที่รวบรวมข้อมูลเคสต่างๆ และสื่อรวมตัวกันรูปแบบไหน 

 

ส่วนกรรมาธิการ เลือกอยู่กรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน รอบที่สื่อถูกทำร้ายได้รับบาดเจ็บจากเจ้าหน้าที่ในที่ชุมนุมก็มีการเรียกเข้ากรรมาธิการนี้เช่นกัน เป็นพื้นที่ที่สำคัญ

 

ภคมน หนุนอนันต์

 

กรณีรอง ผบ.ตร. คนหนึ่งระบุว่าให้เงินสื่อมวลชน เรื่องนี้สะท้อนอะไร และสิ่งที่ควรจะเป็นคืออะไร

 

เรื่องนี้ไม่ใช่สื่อมวลชนทั้งหมด เป็นเรื่องบุคคล ไม่ควรเหมารวม ยังมีสื่อส่วนใหญ่ที่ทำงานตรงไปตรงมา 

 

มองว่าสื่อมวลชนกับ PR แตกต่างกัน การเป็นผู้สื่อข่าว เรานำเสนอข้อเท็จจริง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีหรือไม่ดีของคนในข่าวก็ตาม แต่การเป็น PR องค์กร บางครั้งต้องนำเสนอด้านดีให้มากที่สุด 

 

ระหว่างการเป็นนักข่าวกับ PR ต้องชัดเจนว่าวางบทบาทตัวเองเป็นอะไร ถ้าเป็นสื่อก็ต้องร่วมรับผิดชอบศักดิ์ศรีเพื่อนสื่อมวลชนคนอื่นด้วยแต่ถ้าต้องการเป็น PR ก็สามารถเป็นได้อย่างเปิดเผยไปเลย นั่นเป็นบทบาทหน้าที่ที่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง 

 

ถ้าสื่อคนไหนรับเงินแหล่งข่าวมาก็จะกระทบต่อการนำเสนอที่ต้องคำนึงถึงความต้องการแหล่งข่าวมากกว่านำเสนอความจริง ในขณะที่ถ้าเป็น PR ก็จะผลิตคอนเทนต์โดยต้องการให้ผู้รับข้อมูลในด้านดี ถ้าจะทำหน้าที่ไหนก็ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง และรับผิดชอบเพื่อนร่วมอาชีพ 

 

เงินเดือนนักข่าวไม่สูง ขณะงานที่สื่อมวลชนทำเป็นสิ่งยิ่งใหญ่ ต้องพูดแทนคนที่ไม่มีโอกาสพูด สู้กับความไม่เป็นธรรม สร้างแรงกระเพื่อมสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม แต่คนที่ถูกทอดทิ้งที่สุดคือคนที่ทำหน้าที่นี้ จึงคิดว่าควรมีคนดูแลแรงงานส่วนนี้บ้าง แรงงานสื่อไม่ได้พิเศษไปกว่าใคร แต่เขาไม่เคยได้รับการเหลียวแล ทั้งที่ความรับผิดชอบเยอะมาก และบางครั้งงานที่ทำก็ส่งผลให้ชีวิตคนเปลี่ยนแปลงไปเลย การเป็นปากเป็นเสียงให้ผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ตัวเองกลับไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องค่าตอบแทนและคุณภาพชีวิตที่ควรได้รับ ไม่ควรมีใครถูกละเลย และถ้าได้ค่าตอบแทนและคุณภาพชีวิตที่น่าพอใจ การทำงานของสื่อก็จะไม่เสียสมาธิกับสิ่งล่อใจ 

 

ภคมน หนุนอนันต์

 

พรรคก้าวไกล กับข้อกล่าวหาว่า ‘ปั่นกระแสในโซเชียลมีเดีย’

 

คนกล่าวหาเขาเลือกที่จะเชื่อแบบนั้น ซึ่งก้าวไกลอธิบายมาตลอด อยากบอกว่า เมื่อไรก็ตามที่ดูเบาการรับรู้การเติบโตของสังคม ดูเบาพลวัตของสังคม ถ้าใครดูเบาก็จะจินตนาการว่ามีกลไกอะไรมาทำให้ประชาชนคิดแบบนั้น เพราะดูถูกความคิดการเติบโตของสังคม ดูถูกประชาชน

 

เมื่อไรดูเบา ดูถูกพัฒนาการการรับรู้ของคน นี่คือการนับถอยหลังของนักการเมืองที่ดูเบาคนอื่น เขาคิดว่าไม่มีใครฉลาดได้เอง เรียนรู้ได้เอง ซึ่งนักการเมืองที่ไม่เชื่อต่อการเติบโตของสังคม ไม่เชื่อการเรียนรู้ของประชาชน เชื่อแต่สิ่งที่ตัวเองประเมินไว้ นักการเมืองแบบนี้เตรียมนับถอยหลังในอาชีพนักการเมืองได้เลย ไม่มีทางเดินทันคนอื่น

 

ก้าวไกลไม่ได้ปั่นกระแส แต่ถ้าใครอยากเชื่อว่าปั่นก็เชื่อไป สังคมเดินไปข้างหน้าไกลแล้ว เราจะไม่มานั่งอธิบายกับนักการเมืองที่เดินไม่ทัน ไม่ไปบอกด้วยว่าเขาเข้าใจผิด เพราะเขาเลือกแล้วที่จะเชื่อแบบนั้น ถ้าคิดแบบนั้นนับถอยหลังได้เลย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising