×

ทำความรู้จัก ‘ชัย วัชรงค์’ โฆษกรัฐบาลในยุคที่โลกเชื่อแต่ข่าว ‘ลือ’

12.10.2023
  • LOADING...

THE STANDARD ชวนทำความรู้จัก หมอชัย-ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีป้ายแดง อดีตผู้คร่ำหวอดในวงการปศุสัตว์

 

พร้อมแนวทางการทำงานสไตล์หมอชัย เมื่อกลายมาเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลในยุคที่โลกมีแต่ข่าวลือ กระแสข่าวแพร่สะพัดภายในไม่กี่วินาที และพาย้อนไปทำความรู้จักตัวตนของโฆษกฯ มือใหม่ ที่พร้อมยืนหยัดท้าทายท่ามกลางกระแสข่าวโจมตีรัฐบาล

 

 

ฟาร์มหมู ปศุสัตว์ ไก่ชน และการเมือง

 

หมอชัยเล่าว่าพื้นเพเป็นคนจังหวัดสระบุรี เกิดในตัวเมือง เป็นลูกหลานเชื้อสายคนจีน จบ ม.ศ.3 ที่โรงเรียนสระบุรีวิทยาคม แล้วก็มาสอบเข้าที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เอ็นทรานซ์ติดคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่รักษาสัตว์เล็กน้อยมาก เพราะงานส่วนใหญ่ที่ทำคืองานด้านปศุสัตว์

 

ฟาร์มหมู ฟาร์มไก่ เป็นด้านถนัดของหมอชัย รักษาสัตว์เป็นรายฝูง ซึ่งต้องใช้ทั้งความรู้และศาสตร์ด้านธุรกิจ จึงเป็นที่มาของการเรียนต่อด้านบริหาร หลักสูตร Senior Executive ของสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากชีวิตลูกจ้างไต่เต้าสู่ผู้บริหารแวดวงการค้าอาหารสัตว์กว่า 20 ปี

 

กระทั่งงานอดิเรกส่วนตัวอย่างไก่ชน นำพาให้ชีวิตโคจรมาสู่ทุกวันนี้

 

หมอชัยมองทอดสายตาไปไกล พร้อมกับย้อนความไปในอดีตให้เราฟังว่า เมื่อปี 2546 ในช่วงที่ทำการค้า ปรากฏว่ามีเพื่อนซึ่งเป็นเพื่อนของลูกค้าชอบไก่ชน และเขาก็รู้ว่าหมอชัยชอบไก่ชนและมีความรู้เรื่องไก่ชนเป็นอย่างดี ได้นัดให้ไปเจอ พอไปถึงก็ถูกเชิญให้ไปเป็นวิทยากรในการให้ความรู้คนในแวดวงไก่ชน

 

แต่ทำไปทำมาจากงานอดิเรกก็ถูกดึงให้ไปใกล้ชิดกับคนที่มีชื่อเสียงในวงการไก่ชน ทางด้านการเมืองคือ สมศักดิ์ เทพสุทิน ทางด้านศิลปินก็มี แอ๊ด คาราบาว และในทางธุรกิจก็มีประธานธนินท์ เจียรวนนท์

 

หมอชัยเล่าต่อว่า ช่วงเวลาที่เป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตก็คือระหว่างพักยกการแข่งขันไก่ชน เพราะส่วนตัวเป็นคนติดตามการเมือง ชอบอ่านและชอบวิเคราะห์ และเป็นแฟนตัวยงของนิตยสารการเมือง เช่น มติชนสุดสัปดาห์ สยามรัฐ เวลาเจอพรรคพวกเพื่อนฝูงก็จะพากันสนทนาเรื่องปัญหาบ้านเมือง แลกเปลี่ยนไปแลกเปลี่ยนมา ก็เริ่มมีคนสนใจให้หมอชัยคอมเมนต์

 

 

เพื่อไทยคือดีเอ็นเอที่ตรงกัน

 

เมื่อดูจากลีลาการตอบที่ช่ำชอง หลายคนอาจจะคิดว่าหมอชัยผ่านอาชีพนักการเมืองมาหลายปี แต่ชายวัย 64 ปีคนนี้เล่าว่า “ผมมาเข้าการเมืองครั้งแรกเมื่อประมาณปีที่แล้ว ถือว่าใหม่มาก”

 

ตั้งแต่ทำธุรกิจ เขาชอบคำว่า ‘มีประสิทธิภาพ’ และการเมืองในแนวทางของพรรคเพื่อไทยตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทยนั้นตอบโจทย์คำคำนี้ เพราะเป็นการเมืองที่ไม่ใช่แค่โวหารอย่างเดียว แต่เป็นการเมืองที่กินได้ นโยบายถูกแปลงมาเป็นภาคปฏิบัติ และภาคปฏิบัตินั้นสามารถส่งผลลัพธ์ให้ประชาชนได้รับอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งหมอชัยใช้คำว่า ‘ดีเอ็นเอที่ตรงกัน’ เพราะพรรคเพื่อไทยมีทัศนคติใกล้เคียงกับเขาที่สุดแล้ว

 

“ผมเริ่มมองเห็นว่าถ้าการเมืองแบบนี้ผมชอบ ผมชอบเล่นการเมืองที่ไม่ใช่สู้กันที่โวหารว่าใครเก่งกว่าใคร หรือเอาตรรกะมาหักล้างกันแล้วถึงเวลาก็เป็น NATO หรือ No Action Talk Only (พูดแต่ไม่ทำ) การเมืองพูดแล้วต้องทำได้จริง”

 

 

พยานปากสำคัญในคดีจำนำข้าวของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

 

เหตุการณ์สำคัญช่วงชีวิตหนึ่งของหมอชัยคือการเข้าไปเป็นพยานปากสำคัญในคดีใหญ่ระดับประเทศ เขาเล่าว่ามันเป็นความบังเอิญ ในช่วงที่มีคนไปร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่านโยบายจำนำข้าวของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ 5 แสนกว่าล้านบาท

 

ความบังเอิญคือทีมงานนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ซึ่งกำลังหาพยานไปสู้คดี เคยเห็นหมอชัยแสดงเหตุผลในรายการของตัวเองที่มีชื่อว่า คุยจริงใจสไตล์หมอชัย ทางช่อง TNN24

 

“250 กว่าตอน รู้สึกว่า 40-50 ตอน ผมพูดเกี่ยวกับเรื่องจำนำข้าว มันเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับรัฐบาลท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์พอดี คนโจมตีจำนำข้าวเยอะ มีผมคนเดียวที่ทวนกระแส ผมไม่ได้รู้จักใครในรัฐบาล แต่ผมแค่ทวนกระแสว่ามันไม่จริงที่คนโจมตีอย่างนั้นอย่างนี้ โครงการใหญ่ขนาดนี้เกี่ยวข้องกับคนเป็นล้านๆ คนทั่วประเทศ มีเจ้าหน้าที่เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นแสน ใช้เงินเป็นแสนล้าน ไอ้จะหวังสมบูรณ์แบบ 100% ไม่มีข้อบกพร่อง ไม่มีทางอยู่แล้ว” หมอชัยกล่าว

 

เขายังเล่าต่อด้วยว่า การแทรกแซงเรื่องข้าวในอดีตทำมาหลายครั้ง จำนำข้าวก็มีหลายเวอร์ชัน ประกันราคาข้าวก็มีหลายเวอร์ชัน ซึ่งงานอดิเรกไก่ชนของเขานั้นแฟนไก่ชนส่วนใหญ่ก็เป็นชาวนา ที่มักจะบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับโครงการให้ฟังว่าการจำนำช่วงนั้นทำให้ชีวิตเขาลืมตาอ้าปากได้ ผมว่าถ้าเกิน 100 คะแนนได้ชาวนาก็ให้เกิน 100 คะแนนแน่นอน 

 

หมอชัยยังย้ำด้วยว่า “ผมคำนวณออกมาแล้วผลตอบแทนมันคุ้มค่าที่สุด คดีใหญ่ก็คือทั้งโครงการผิด เสียหาย 5 แสนกว่าล้านบาท ซึ่งผมบอกว่าไม่จริง โครงการนี้ผมวิเคราะห์แล้วไม่ขาดทุน กำไร เพราะ ป.ป.ช. ไม่ถือว่าผลประโยชน์ที่ชาวนาได้รับเป็นผลประโยชน์ของโครงการ เขาตัดออกเลย เป็นการวินิจฉัยด้วยอคติ ด้วยการเลือกข้าง ด้วยการเลือกปฏิบัติ ซึ่งจริงๆ แล้วไอ้ที่ขาดทุนมันไปอยู่ในกระเป๋าชาวนา ปรากฏว่าคดีใหญ่ศาลยกฟ้องนะครับ เพราะว่าไม่จริง”

 

 

จาก Slow Life สู่ Fast & Furious

 

ชีวิตวัยหนุ่มแม้จะได้รับเชิญไปเป็นพิธีกรบ้างประปราย แต่หมอชัยก็แทบไม่อยากเชื่อว่าตัวเองจะมาเป็นกระบอกเสียงให้กับรัฐบาลได้

 

ไม่มีเบื้องลึกเบื้องหลัง ไม่มีการดีลเพื่อให้ได้ตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนี้มา แต่เกิดจาก นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เชิญชวนเข้าร่วมกิจกรรมของพรรค และได้โอกาสแสดงความเห็นในเวทีดีเบตต่างๆ ในวงถกต่างๆ ของพรรค รวมถึงขายไอเดีย ก็มีขายได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

 

ก่อนจะได้รับข้อเสนอให้เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แต่พอคุยกันไปรอบที่ 2 รอบที่ 3 นพ.พรหมินทร์ กลับเสนอให้มาเป็นโฆษกฯ ที่พ่วงด้วยตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีด้วย

 

หมอชัยยังบอกด้วยว่าก่อนหน้านี้โฆษกฯ อาจไม่สูงวัยอย่างเขา โฆษกฯ อาจจะอ่อนวัยกว่านี้ หนุ่มกว่านี้ หล่อกว่านี้ แต่พรรคเพื่อไทยคงคิดว่ายุคนี้อยากได้โฆษกฯ สไตล์แบบหมอชัยมากกว่า

 

“อายุขนาดนี้ทำให้ผ่องถ่ายธุรกิจไปให้รุ่นหลังเรียบร้อย เริ่ม Slow Life เริ่มจะ Landing แต่พอมาเป็นโฆษกฯ ชีวิตกลับหักเหเลยทีเดียว เพราะว่ามันเปลี่ยนจาก Slow Life มาเป็น Fast & Furious ปริมาณข้อมูลข่าวสารที่ไหลมาอย่างท่วมท้น เร็วจนต้องปรับตัวเรื่องสปีด ยังต้องปรับตัวอีกเยอะ” หมอชัยกล่าว

 

 

ไม่มีใครตอบ ผมต้องอธิบาย

 

การส่งข่าวในไลน์ ‘รังนกกระจอก’ ให้ผู้สื่อข่าวได้นำไปเผยแพร่ต่อนับเป็นกิจวัตรประจำของโฆษกรัฐบาล เช่นเดียวกับการตอบคำถาม ส่งวาระงานให้สื่อมวลชนได้ทราบ รวมถึงชี้แจงประเด็นต่างๆ และแก้ไขความเข้าใจผิดที่จะกระทบงานรัฐบาล

 

หมอชัยเล่าว่ามีกระทู้สดถามท่านนายกฯ เกี่ยวกับเรื่องการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ก็เงี่ยหูสดับตรับฟังว่าในสภามันเกิดอะไรขึ้น คิดว่ามันจะมีการอธิบายในสภา ต้องมีใครสักคนลุกขึ้นมาตอบว่าท่านนายกฯ มาไม่ได้ ไม่ใช่หนี แต่ติดภารกิจไปกัมพูชา ซึ่งเป็นภารกิจที่ล็อกล่วงหน้าไว้แล้วเป็นเดือน แต่กระทู้ถามสดเป็นกระทู้ที่ยื่นญัตติกันเช้าวันที่เครื่องบินจะออก

 

“ท่านนายกฯ ไม่มีทางตรัสรู้หรอกครับว่าเช้าวันรุ่งขึ้น 8-9 โมง จะมีคนมายื่นกระทู้เรื่องนี้ นายกฯ ก็ไม่อยู่ในวิสัยที่จะมาตอบได้ แต่มันมีคนเอามาพูดว่านายกฯ หนีการตรวจสอบ ซึ่งผมว่ามันผิดข้อเท็จจริง ผมก็รอจนกระทั่งไม่มีใครตอบแล้ว คิดว่ามันผิดข้อเท็จจริง โดยหน้าที่โฆษกฯ ผมก็เลยโยนประเด็นนี้เข้ามา”

 

ถ้าเป็นข่าวลือที่ไม่มีข้อเท็จจริง ก่อให้เกิดผลเสียต่อพี่น้องประชาชน ก็เป็นหน้าที่ผมโดยตรงที่ต้องออกมาอธิบาย ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง

 

 

สรุปเข้าใจง่ายสไตล์หมอชัย

 

ผมจะทำความเข้าใจและสื่อสารในแบบของผม ในแบบภาษาพูด ไม่ใช่ภาษาเขียน ยกเว้นคำสั่งแต่งตั้งต่างๆ มันก็อ่านตรงๆ ได้ แต่อ่านทั้งหมดมันเยอะ ผมจะสรุปให้เข้าใจง่ายๆ เป็นสไตล์ของผม ผมจะไม่เยิ่นเย้ออ่านทั้งหมด

 

ตอนนี้ผู้ช่วยมาสองท่านแล้ว รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคนใหม่คือ คารม พลพรกลาง เป็นนักกฎหมาย เรื่องอะไรที่เกี่ยวกับกฎหมาย ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ก็จะให้คุณคารมดูแล ส่วนที่เซนซิทีฟมากๆ ผมจะแถลงเอง ส่วนคุณรัดเกล้า สุวรรณคีรี เข้ามาก็ต้องมาหาวิธีใหม่ให้ลงตัว

 

เมื่อถามว่าไม่ได้มีปัญหาอะไรจากการที่มาต่างพรรคใช่หรือไม่ หมอชัยยืนยันว่า “ไม่มีหรอกครับ วัยขนาดนี้แล้ว ผ่านประสบการณ์ทำงานมาหลายรูปแบบ เพราะฉะนั้นไม่หนักใจ ไม่มีปัญหาเลย”

 

 

โดนรับน้องตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่ง

 

13 กันยายน ในการทำงานวันแรก แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็โดนรับน้องเลย เพราะว่าศัพท์แสงทางการเมือง ไม่ค่อยรู้ว่าเขาใช้ศัพท์แสงทางไหนกัน คือไปใช้ศัพท์ผิด ทำให้คนคิดมาก เช่น รัฏฐาธิปัตย์ แม้ไม่ได้คิดไปไกลว่ารัฐบาลนี้ต้องมีอำนาจเบ็ดเสร็จเหมือนรัฐบาลทหาร คิดแต่เพียงว่ารัฐบาลผ่านการเลือกตั้ง ได้รับอำนาจจากประชาชน ถืออำนาจประชาชนเป็น 1 ใน 3 อำนาจอธิปไตย เป็นอำนาจทางบริหาร

 

หมอชัยบอกด้วยว่าแม้การใช้ศัพท์ไม่ถูกไม่ได้ก่อให้เกิดผลเสียต่อบ้านเมือง แต่ผลเสียมีผมคนเดียวไปปล่อยไก่ใช้ศัพท์ไม่ดี ก็เป็นการเสียเครดิตตัวเอง เป็นคนหน้าใหม่ คือมันผิดพลาดได้ ก็พร้อมยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์

 

แต่ยืนยันจะไม่เปลี่ยนจากหมอชัยไปเป็นคนอื่น จะไม่แปลงไปเป็นคนที่ยกการ์ดสูง ไม่มีความเป็นตัวเอง ยังคงเป็นหมอชัยเหมือนเดิม

 

 

มุมมองพลิกด้านให้ประเทศเห็นโอกาสมากกว่าปัญหา

 

หมอชัยยังชี้แจงถึงประเด็นการแบ่งเงินเดือนข้าราชการเป็น 2 ครั้งด้วยว่า นโยบายนี้จะช่วยข้าราชการได้เยอะ แต่ปรากฏว่าในโซเชียลมีเดียขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ใน X (Twitter) คนถล่มกันเละ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ไม่เห็นด้วย ซึ่งคนที่คอมเมนต์มาคุณจะรู้ว่าเป็นข้าราชการไหม คุณแยกได้ไหม

 

ขณะเดียวกันสามารถแยกคอมเมนต์ที่มีอคติกับคอมเมนต์ที่ไม่มีอคติได้ไหม บางคนฝักใฝ่ทางการเมือง ไม่ชอบพรรคการเมืองอยู่แล้ว ไม่ชอบรัฐบาลอยู่แล้ว ก็แยกไม่ออกถูกไหม ดังนั้นเราฟังได้ แต่อย่าเพิ่งสรุปว่าข้าราชการจริงๆ เขาไม่ชอบ เพราะคุณไม่รู้ในนั้นอาจเป็นคนที่ไม่ใช่ข้าราชการก็ได้ คนที่เป็นข้าราชการที่ได้ผลประโยชน์อาจจะแฮปปี้ไม่ได้มาทวีตก็ได้

 

หมอชัยยังเล่าด้วยว่าบางทีสื่อจะไม่ค่อยรายงานให้ประชาชนโฟกัสที่ 90% แต่รายงานที่ 10% หรือ 1% ประชาชนก็จะถูกจูงไปที่ 1% แต่สไตล์ของหมอชัยและเอกชนเขาไม่ดูอย่างนั้น เขาเอาโอกาส 90% นำ แต่การเมืองดูเหมือนจะไม่ใช่อย่างนั้น การเมืองเอาปัญหานำ ต้องระมัดระวัง ตรรกะมันกลับกัน

 

สังคมไทยเราตั้งแต่สมัยเรียนจะให้ความสำคัญกับข้อยกเว้น เวลาออกข้อสอบจะออกข้อยกเว้นเล็กๆ มันเป็นการสร้างสกิลปลูกฝังให้คนไทยโฟกัสเรื่องเล็กๆ มองเห็นปัญหาในทุกโอกาส ตรงข้ามอีกมุมหนึ่งถ้าเรากลายเป็นคนมองหาโอกาสในทุกปัญหา ประเทศนี้จะดีขึ้นเยอะ เราควรถูกปลูกฝังแบบนี้

 

ยกตัวอย่างเรื่องวีซ่าฟรี เราต้องการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ ซึ่งเราตั้งเป้านักท่องเที่ยวเข้ามาเมืองไทย 5.3 ล้านคน มีคนบอกว่าไปเปิดอย่างนี้จีนเทาก็เข้ามาบานเลย ถ้าในนั้นจะมีจีนเทาสัก 100 คน เราจะตัดโอกาสตัวเอง ทำให้โอกาสที่ประเทศไทยหายไป เพราะจะบล็อกจีนเทา 100 คน หรือหากเราเปลี่ยนมุมมองแค่พลิกด้านเท่านั้น จะกลายเป็นว่าประเทศนี้จะเห็นโอกาสมากกว่าปัญหาทันที

 

 

เรื่อง: อรวรรณ ธีรพัฒนไพโรจน์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X