×

Interstellar หนังไซไฟอวกาศล้ำอนาคตที่ส่งมอบ ‘ความหวัง’ ให้กับคนช่างฝันที่เชื่อมั่นในความเป็นไปได้

02.08.2022
  • LOADING...
Interstellar

**บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์ Interstellar**

 

ณ วันนี้คงมีน้อยคนนักที่ไม่รู้จักชื่อของ Christopher Nolan (คริสโตเฟอร์ โนแลน) ผู้กำกับมากความสามารถที่ฝากฝังผลงานระดับโลกไว้ให้กับผู้ชมมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ไตรภาค The Dark Knight (2005-2012), ลวงความฝันบันลือโลก Inception (2010), จิ๊กซอว์ความทรงจำชีวิต Memento (2000), หรือกระทั่งโลกมายากลถอยหลังอย่าง Tenet (2020) ฯลฯ

 

แต่หนึ่งในผลงานที่ใครหลายคนต่างกล่าวขานและยกนิ้วโป้งให้กับความยอดเยี่ยมของเขามากที่สุดก็คงหนีไม่พ้น มหากาพย์ข้ามดวงดาว Interstellar ที่เรียกได้ว่าเป็นก้าวสำคัญและเป็นความทะเยอทะยานครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของโนแลนเลยก็ว่าได้ 

 

เนื้อหาว่าด้วยเรื่องราวของ คูเปอร์ (Matthew McConaughey) อดีตวิศวกรและนักบินอวกาศฝีมือดีที่ผันตัวมาเป็นชาวไร่ปลูกข้าวโพด ในยุคที่โลกต่างก็เสื่อมโทรมลงเนื่องจากมลพิษทางอากาศ และ เมิร์ฟ (Mackenzie Foy / Jessica Chastain) ลูกสาวผู้มีความฉลาดหลักแหลมที่ชื่นชอบวิทยาศาสตร์มากพอกันกับเขา ทำให้ทั้งสองคนเป็นพ่อลูกที่สนิทกันมาก เพราะค่อนข้างจะชื่นชอบอะไรเหมือนกัน

 

จนกระทั่งวันหนึ่ง คูเปอร์ได้รับการชักชวนจาก ดร.แบรนด์ (Michael Caine) ให้เข้าร่วมภารกิจค้นหาดาวดวงใหม่ที่มนุษย์สามารถย้ายไปตั้งอาณานิคมได้ โดยมี เอมิเลีย แบรนด์ (Anne Hathaway) ลูกสาวของเขา กับนักวิทยาศาสตร์ระดับหัวกะทิอีกสองคนเข้าร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้ด้วย เมิร์ฟไม่อยากให้พ่อของตัวเองไป เพราะเธอเชื่อว่าจะไม่มีทางได้เจอกับผู้เป็นพ่ออีก แต่คูเปอร์ต้องการให้ลูกๆ ของตนได้อยู่ในโลกใบใหม่ที่ดีกว่า เขาจึงตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต นั่นคือการทิ้งครอบครัวเพื่อเดินทางตามหาความหวังให้กับมวลมนุษยชาติในอวกาศอันไกลโพ้น

 

ก่อนหน้าที่โนแลนจะมาทำหนังอย่าง Interstellar เขามักจะทำหนังที่เล่นเกี่ยวกับ ‘ความทรงจำ’ ‘ช่วงเวลา’ และ ‘พื้นที่’ มาก่อน โดยเฉพาะ Inception และ Memento ที่หลายคนรู้จักกันเป็นอย่างดี หรือแม้แต่ผลงานล่าสุดของโนแลนที่เพิ่งผ่านสายตาของผู้ชมไปไม่นานอย่าง Tenet ก็หนีไม่พ้นจากสิ่งเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

 

แต่ Interstellar นั้นกลับมีความแตกต่างออกไปพอสมควรจากผลงานทั้งหมดของเขา จริงอยู่ที่มันมีเรื่องของ เวลา (Time) และพื้นที่ (Space) เข้ามาเกี่ยวข้องไม่ต่างจากเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้านี้ เพียงแต่ความทะเยอทะยานในครั้งนี้ของโนแลน กลับมีพื้นที่เปิดกว้างให้กับคนดูได้จินตนาการถึงเรื่องราวสุดขอบจักรวาลได้อย่างกว้างขวาง โดยไม่ได้บีบหรือปิดกั้นมันไว้ด้วยทฤษฎีวิทยาศาสตร์และปรัชญามากจนเกินไป อีกทั้งยังพาคนดูเข้าไปสำรวจความรู้สึกของตัวละครมากกว่าครั้งที่ผ่านมา

 

เพราะหนังเน้นเล่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ซึ่งมีทั้งบทสนทนาและตรรกะที่เต็มไปด้วยวิทยาศาสตร์เชิงลึกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีหลุมดำ ควอนตัม แรงโน้มถ่วง หรือกระทั่งเวลาในอวกาศ ที่อาจส่งผลให้คนดูไม่สามารถเข้าใจหรือปะติดปะต่อเนื้อหาที่หนังต้องการจะสื่อได้ทั้งหมดในการดูรอบแรก 

 

 

ถึงกระนั้นหนังก็ไม่ได้ดำเนินเรื่องราวด้วยความรวดเร็วแต่อย่างใด ตรงกันข้าม โนแลนกลับเลือกที่จะเล่าหนังเรื่องนี้ของเขาออกมาอย่างช้าๆ โดยให้เวลากับคนดูได้ซึมซับทำความเข้าใจถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมไปถึงอารมณ์ที่พรั่งพรูออกมาภายในฉากด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นการจัดวางจังหวะหนังที่ถูกต้องถูกเวลาก็คงจะไม่ผิดนัก โดยเฉพาะฉากที่คูเปอร์ได้ดูวิดีโอของลูกๆ หลังจากที่เสร็จสิ้นภารกิจสำรวจดวงดาวดวงหนึ่ง ซึ่งในฉากนั้นเราจะได้เห็นถึงพัฒนาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นของตัวละคร และมวลอารมณ์ที่เอ่อล้นทะลักออกมาระหว่างผู้เป็นพ่อและลูก เนื่องจากความผิดพลาดในการคำนวณเวลาบนดวงดาวที่ลงไปสำรวจ

 

หากมองดูให้ดี คูเปอร์ที่ไม่มีวันรู้ว่าภารกิจของตัวเองจะสิ้นสุดลงเมื่อไร และลูกๆ ของเขาก็ไม่มีวันรู้ว่าพ่อของตัวเองจะเป็นตายร้ายดีอย่างไรในอวกาศ มันช่างเป็นช่วงเวลารอยต่อที่เต็มไปด้วยหลุมดำที่ไร้ซึ่งคำตอบในชีวิต เฉกเช่นเดียวกับในอวกาศอันกว้างใหญ่ไพศาลและมืดมิด เหมือนโลกทั้งสองใบถูกแบ่งแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง และมีเพียงไม่กี่สิ่งที่สามารถยืนยันได้ว่าคนคนนั้นเคยมีตัวตนอยู่จริง นั่นก็คือ ‘คำสัญญาระหว่างผู้เป็นลูก’ และ ‘ความรักของผู้เป็นพ่อ’

 

ซึ่งบางทีสิ่งเหล่านั้นอาจเป็นแกนหลักสำคัญที่โนแลนต้องการจะสื่อสารมากกว่าสิ่งที่เรียกว่า ‘วิทยาศาสตร์’ ก็เป็นได้ เพราะหากพูดกันแบบบ้านๆ แล้ว คนดูอาจไม่เข้าใจถึงหลักการของวิทยาศาสตร์ก็จริง แต่ถ้าเป็นเรื่องของ ‘ความรู้สึก’ คนดูจะต้องเข้าใจมันได้อย่างแน่นอน และองค์ประกอบเหล่านั้นก็ได้หลอมรวมกันจนกลายเป็นเรื่องราว ‘ความสัมพันธ์’ ระหว่างผู้เป็นพ่อและลูกสาว ณ สุดขอบอวกาศอันไกลโพ้น

Interstellar

 

จากที่กล่าวมา องค์ประกอบเหล่านั้นคือสิ่งสำคัญที่ทำให้ Interstellar ของโนแลนมีความแตกต่างจากหนังไซไฟอวกาศที่หลายคนเคยพบเห็นกันมาก่อน อย่าง Gravity (2013) ของ Alfonso Cuarón หรือแม้กระทั่งหนังไซไฟอวกาศระดับตำนานอย่าง 2001: A Space Odyssey (1968) ของ Stanley Kubrick ก็ตาม

 

เพราะหนังในแนวทางนี้มักจะมีขนบที่เน้นไปทางเรื่องราวของการค้นหาความจริงในอวกาศ หรือการโยนทฤษฎี ปรัชญา รวมไปถึงคำถามต่างๆ มากมายใส่คนดูอย่างไม่หยุดยั้งตลอดทั้งเรื่อง แต่ Interstellar นั้นกลับกัน สิ่งที่โนแลนทำไม่เพียงแค่โยนสิ่งเหล่านั้นมาให้คนดูได้งุนงง หรือตั้งคำถามเหมือนกับที่หนังไซไฟอวกาศทั่วไปหรือที่ผ่านมาทำ 

 

แต่มันกลับพาเราเข้าไปสำรวจถึงจิตใจและความรู้สึกของตัวละครทุกตัวอย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็น ทอม (Timothée Chalamet / Casey Affleck) ลูกชายผู้เชื่อว่าพ่อของตนได้ตายจากไปแล้วในอวกาศอย่างไม่มีวันหวนกลับ หรือ เมิร์ฟ ลูกสาวที่เชื่อมั่นอย่างสุดหัวใจในคำสัญญาที่ผู้เป็นพ่อได้เคยให้เอาไว้กับเธอเมื่อตอนยังเด็กว่า เขาจะกลับมาหาเด็กสาวอีกครั้งเมื่อถึงวันที่เธอมีอายุเท่ากับตัวเขาตอนที่จากไปทำภารกิจในอวกาศ

 

ไม่เพียงแค่ลูกๆ ของพวกเขาเท่านั้นที่โนแลนได้พาเราเข้าไปสำรวจถึงจิตใจและความรู้สึกต่างๆ เพราะตัวละครสำคัญที่จะพาผู้ชมไปสำรวจเรื่องราวความรู้สึกในครั้งนี้ไม่ใช่ใครอื่นนอกเสียจากผู้เป็นพ่ออย่างคูเปอร์ ที่ทำได้เพียงแค่เฝ้ามองลูกๆ ของตัวเองเติบโตอยู่ในที่ที่ไกลแสนไกลโดยไม่สามารถอยู่เคียงข้างได้

 

ซึ่งมันเป็นความรู้สึกที่เจ็บปวดและชวนใจสลายสำหรับผู้เป็นพ่ออย่างมาก ที่ต้องมานั่งมองดูลูกชายและลูกสาวผ่านจอทีวีในวันที่พวกเขามีอายุเท่ากับหรือมากกว่าตัวเอง โดยได้แต่หวังว่าสักวันหนึ่งตนจะมีโอกาสได้พบหน้าลูกๆ อีกครั้งหลังจากจบภารกิจอันแสนยาวนานนี้

Interstellar

 

ทำให้เรื่องราวของ Interstellar นั้นไม่ได้มีเพียงแค่วิทยาศาสตร์และปรัชญา เหมือนที่หนังไซไฟอวกาศรุ่นพี่เคยถูกกล่าวขานกันมาก่อนหน้านี้ เพราะนอกเหนือจากสิ่งเหล่านั้น หนังกลับพาเราไปสำรวจถึงหัวอกของผู้เป็นพ่อ และความรู้สึกของผู้เป็นลูกได้อย่างกินใจ จนเรียกได้ว่ามันอาจเป็นสองสิ่งที่ดูไม่น่าจะเข้ากันได้เลย ระหว่างความเป็นไซไฟอวกาศ และความดราม่าเคล้าน้ำตา แต่โนแลนก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ‘กรอบ’ นั้นไม่มีผลต่อหนัง และไม่สามารถที่จะหยุดยั้งความทะเยอทะยานที่ดูเหมือนไม่มีขีดจำกัดของเขาได้

 

ถึงอย่างนั้น ส่วนสำคัญที่ทำให้หนังถ่ายทอดออกมาได้อย่างมีเสน่ห์น่าดึงดูด นอกจากบทหนังที่ดีและเข้าใจง่ายกว่าหนังในแนวทางเดียวกันแล้ว ก็คงหนีไม่พ้นการแสดงของนักแสดงทุกคน โดยเฉพาะคูเปอร์ (Matthew McConaughey) ในบทบาทที่น่าจดจำ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการแสดงของเขานี่แหละ คือกุญแจสำคัญที่ทำให้สองสิ่งที่ดูจะขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง สามารถหลอมรวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อย่างลงตัว ท่ามกลางเรื่องราวที่เต็มไปด้วยความเศร้าและความหวังในเวลาเดียวกัน

 

และสิ่งเหล่านั้นเองก็ทำให้ Interstellar กลายเป็นที่จดจำในฐานะหนังไซไฟอวกาศยุคใหม่ ที่สามารถเล่าเรื่องราวของวิทยาศาสตร์และหัวใจของมนุษย์ได้อย่างลงตัว จนทำให้ใครหลายคนยกให้เป็นหนึ่งในหนังที่ดีที่สุดของชายที่มีชื่อว่า Christopher Nolan ไปโดยปริยาย

Interstellar

 

แม้ในวันนี้เรื่องราวของ Interstellar จะผ่านพ้นมานานถึง 8 ปีแล้วก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่โนแลนได้ฝากเอาไว้ให้กับผู้ชม ไม่ได้มีแค่เรื่องราวสุดแสนประทับใจชวนเรียกน้ำตาของครอบครัวคูเปอร์เพียงอย่างเดียว แต่มันยังพลิกโฉมวงการหนังไซไฟอวกาศที่หลายคนเคยเชื่อว่า ความดราม่าเคล้าน้ำตานั้นไม่สามารถผสมโรงเข้ากับความเป็นไซไฟอวกาศล้ำอนาคตได้ ซึ่งเขาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าทุกอย่างนั้นมีความเป็นไปได้เสมอ ตราบใดที่ยังมีความเชื่อและความหวัง เช่นเดียวกับตอนจบที่คูเปอร์และเมิร์ฟผู้เป็นลูกสาว ได้หวนกลับมาพบเจอกันอีกครั้ง ในวันที่พวกเขาคิดว่าจะไม่มีวันได้เจอกับคนที่ตนรักอีก

 

นอกจากทลายกรอบที่เคยมีมาแล้ว มันยังเป็นหนังที่มาก่อนกาล เพื่อส่งต่อความหวังและแรงบันดาลใจให้กับคนที่เชื่อมั่นว่าอวกาศนั้นมีความเป็นไปได้ไร้ที่สิ้นสุด เพราะเมื่อ 8 ปีก่อน เราอาจยังไม่มีเทคโนโลยีมากพอที่จะสามารถถ่ายรูปดาวเคราะห์หรือหลุมดำต่างๆ ได้ แต่ Interstellar กลับพาเรากระโดดเข้าไปโดยทิ้งความน่าจะเป็นต่างๆ เอาไว้มากมายให้กับผู้ชมได้ไปขบคิดถึงความจริงภายในนั้น 

Interstellar

 

จนมาถึงปัจจุบันที่โลกของเราต่างก็มีเทคโนโลยีที่เพียบพร้อม และนักวิทยาศาสตร์มากความสามารถที่ใฝ่ฝันจะค้นหาคำตอบที่แท้จริงของหลุมดำมากขึ้น โดยล่าสุดในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ก็ได้มีการบันทึกภาพหลุมดำขนาดใหญ่ใจกลางกาแล็กซีได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ สร้างความฮือฮาให้กับวงการวิทยาศาสตร์และบุคลากรที่สนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งถือว่าเป็นก้าวสำคัญของมวลมนุษยชาติในการไขความลับของอวกาศอันไร้ที่สิ้นสุด 

 

ทำให้หนังอย่าง Interstellar ถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้งในฐานะหนังไซไฟที่เคยทิ้งความหวังและความเป็นไปได้ที่ไม่รู้จบของอวกาศให้กับผู้คนเมื่อ 8 ปีก่อน ไม่แน่สักวันหนึ่งเราอาจมีโอกาสได้เข้าไปสำรวจภายในหลุมดำ เฉกเช่นเดียวกับที่คูเปอร์เคยทำมาก่อนก็เป็นได้

สามารถรับชม Interstellar ได้แล้ววันนี้ทาง Netflix

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising