เจาะลึกข้อมูลธุรกิจโรงเรียนนานาชาติที่ตั้งในไทย เผยยอดจัดตั้งนิติบุคคลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดมีธุรกิจการศึกษาในไทย 7,511 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 5.1 หมื่นล้านบาท ชาวอังกฤษเข้ามาลงทุนสูงสุดถึง 30%
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ทำการวิเคราะห์ธุรกิจดาวเด่นประจำเดือนเมษายน 2568 พบว่า ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในไทยมีแนวโน้มเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง และเป็นธุรกิจที่น่าจับตามอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ทั้งนี้ กรมฯ ได้จัดทำบทวิเคราะห์เจาะลึกธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ รวมถึงสาเหตุที่ทำให้โรงเรียนนานาชาติได้รับความนิยมจากผู้ปกครองที่มีรายได้สูง โดยเฉพาะตามหัวเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ชลบุรี และภูเก็ต ที่มีโรงเรียนนานาชาติตั้งอยู่รวมกันมากกว่า 80%
โดย 10 อันดับโรงเรียนนานาชาติที่มีค่าเทอมสูงสุดอยู่ระหว่าง 1,109,400-905,300 บาท/ปี ปัจจุบันกลุ่มผู้ปกครองในประเทศไทยที่มีรายได้สูงนิยมส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติ รวมทั้งนักธุรกิจและเจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศที่เข้ามาทำงานในไทยพร้อมครอบครัวก็นิยมส่งบุตรหลานเข้าเรียนโรงเรียนนานาชาติในไทยเช่นกัน
“เนื่องจากโรงเรียนนานาชาติในไทยมีการขยายหลักสูตร เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ปกครองที่ต้องการการศึกษาคุณภาพสูง และมีมาตรฐานเทียบเท่าสากล”
รวมทั้งให้ความสำคัญต่ออัตราส่วนระหว่างครูผู้สอนกับจำนวนนักเรียน โดยมีอัตราครู 1 คน ต่อนักเรียน 8 คน สะท้อนถึงคุณภาพการศึกษาที่สูงขึ้นและการให้ความสำคัญกับการดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ส่งผลให้โรงเรียนนานาชาติในไทยมีมาตรฐานเทียบเท่าโรงเรียนนานาชาติในระดับสากล ผู้ปกครองชาวไทยและต่างชาติจึงนิยมส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติของไทยจากเดิมที่นิยมส่งบุตรหลานไปเรียนที่ต่างประเทศเป็นหลัก
เปิด 3 ปัจจัย ‘เชิงจิตวิทยา’ พ่อแม่ยุคใหม่ยอมจ่ายแพงแลกซื้อสังคมโรงเรียนนานาชาติ
อรมน ระบุอีกว่า ปัจจัยสนับสนุนเชิงจิตวิทยาที่ส่งผลให้โรงเรียนนานาชาติได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้ปกครองที่มีรายได้สูง และปัจจัยสำคัญ
- สถานะทางสังคม หรือ Status แม้ว่าการเรียนในโรงเรียนนานาชาติจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าทางเลือกทั่วไป แต่ผู้ปกครองที่มีรายได้สูงก็เลือกที่จะลงทุนด้านการศึกษาให้แก่บุตรหลาน เนื่องจากได้รับการยอมรับในสังคมและการมีส่วนร่วมในเครือข่ายสากลซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จและความมั่งคั่ง
- ความชอบในสิ่งที่ ‘Exclusive’ หรือ มีความพิเศษกว่า ยังเป็นอีก 1 ปัจจัยที่ผู้มีรายได้สูงมักมองหาประสบการณ์หรือสิ่งที่ไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป โรงเรียนนานาชาติมีหลักสูตรเฉพาะ
- การเข้าถึงเครือข่ายระดับโลก และสภาพแวดล้อมที่จะช่วยสร้างโอกาสการพัฒนาทักษะระดับสากล จึงสามารถตอบโจทย์กลุ่มผู้ปกครองที่มีรายได้สูงเป็นอย่างดี
อธิบดีอรมน กล่าวต่อว่า จากข้อมูลนิติบุคคลธุรกิจการศึกษาในประเทศไทย (ณ วันที่ 30 เมษายน 2568) พบว่า มีธุรกิจการศึกษาในประเทศไทย จำนวน 7,511 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 50,633.46 ล้านบาท แบ่งตามขนาดธุรกิจการศึกษาขนาดเล็ก (S) 7,362 ราย (98.02%) ทุนจดทะเบียนรวม 33,159.56 ล้านบาท ขนาดกลาง (M) 122 ราย ทุน 11,239.55 ล้านบาท และ ขนาดใหญ่ 27 ราย (0.36%) ทุน 6,234.35 ล้านบาท ประกอบธุรกิจในรูปแบบ บริษัทจำกัด 6,717 ราย (89.43%) ทุน 48,171.92 ล้านบาท ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 790 ราย (10.52%) ทุน 1,116.64 ล้านบาท และ บริษัทมหาชนจำกัด 4 ราย (0.05%) ทุน 1,344.90 ล้านบาท
5 ปี ธุรกิจการศึกษาในไทยโตแรง
ข้อมูลสำคัญที่ทำให้ธุรกิจการศึกษาในประเทศไทยเป็นที่น่าจับตามอง หากวิเคราะห์ย้อนหลังไป 5 ปี (2563-2567) เห็นได้ชัดว่าการจัดตั้งธุรกิจและทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ปี 2563 จำนวน 502 ราย ทุน 1,012.18 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 512 ราย ทุน 719.10 ล้านบาท ปี 2565 จำนวน 616 ราย ทุน 1,496.04ล้านบาท
ปี 2566 จำนวน 889 ราย ทุน 1,733.03 ล้านบาท และ ปี 2567 จำนวน 979 ราย ทุน 1,875.37 ล้านบาท สำหรับเดือนมกราคม-เมษายน 2568 มีธุรกิจจัดตั้งใหม่ 319 ราย ทุน 610.34 ล้านบาท
ด้านผลประกอบการ 3 ปีที่ผ่านมา (2564-2566) มีรายได้รวม ปี 2564 รายได้ 33,126.88 ล้านบาท ปี 2565 รายได้ 39,033.54 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 5,906.66 ล้านบาท หรือ +17.83%) และปี 2566 รายได้ 46,290.96 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 7,257.42 ล้านบาท หรือ +18.59%)
เปิด 3 อันดับทุนต่างชาติบุกลงทุนธุรกิจการศึกษาในไทย
สำหรับการลงทุนของชาวต่างชาติในประเทศไทย พบว่า มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 5,732.96 ล้านบาท โดยสัญชาติที่ลงทุนมากที่สุด คือ อังกฤษ 1,706.29 จีน, สิงคโปร์
ทั้งนี้ ในปี 2566 รายได้รวมเติบโตอย่างก้าวกระโดดเป็น 7,327 ล้านบาท (+28.04% เมื่อเทียบกับปี 2565) ซึ่งสะท้อนถึงความสามารถในการขยายฐานนักเรียนและอาจรวมถึงการเพิ่มค่าเล่าเรียนหรือการขยายหลักสูตรเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ปกครองที่ต้องการการศึกษาคุณภาพสูงสำหรับบุตรหลาน
สำหรับโอกาสในการขยายตลาดของโรงเรียนนานาชาติในไทย ไม่เพียงแต่การเพิ่มจำนวนสาขาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการตอบสนองความต้องการของผู้เรียนยุคใหม่ ตั้งแต่การเข้าสู่จังหวัดท่องเที่ยวที่มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก การพัฒนาหลักสูตรพิเศษ เช่น
- STEM (การสอนแบบบูรณาการข้ามกลุ่มสาระวิชา (Interdisciplinary Integration) ของ 4 ศาสตร์สาขาได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science: S) เทคโนโลยี (Technology: T) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineer: E) และคณิตศาสตร์ (Mathematics: M))
- Coding ที่มุ่งเน้นให้นักเรียนฝึกคิดอย่างเป็นระบบ ค้นเจอปัญหาและเงื่อนไข รู้เหตุและผล เข้าใจกระบวนการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นทักษะสำคัญและจำเป็นสำหรับเด็กในยุคใหม่
- AI ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มของตลาดแรงงานในอนาคต พร้อมทั้งการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่เป็นเอกลักษณ์ เน้นการปฏิบัติจริงและการพัฒนาทักษะที่สำคัญสำหรับศตวรรษที่ 21
“ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติยังมีความท้าทายที่ต้องเผชิญ เช่น อัตราการเกิดของประชากรที่อาจลดลงในระยะยาว ซึ่งอาจกระทบต่อจำนวนนักเรียนใหม่ในอนาคต นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เช่น ค่าแรงครู และการบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลต่ออัตรากำไรสุทธิในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาวะที่การแข่งขันจากโรงเรียนต่างชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มรุนแรงขึ้น”
ธุรกิจนี้ยังคงมีโอกาสสร้างการเติบโตผ่านช่องทางการตลาดอื่นๆ ได้ เช่น การตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth) ซึ่งให้ความสำคัญกับคุณภาพการศึกษาที่เหนือกว่า และการพัฒนาหลักสูตรเฉพาะที่สอดคล้องกับทักษะที่จำเป็นในโลกอนาคต เช่น STEM, Coding และ AI รวมถึงการขยายสู่จังหวัดท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ และพัทยา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่มากและมีแนวโน้มที่จะสร้างรายได้ในระยะยาว” อธิบดีอรมน กล่าวทิ้งท้าย