×

8 ภาคีเครือข่ายจับมือต่อต้านข่าวปลอม หวังส่งเสริมความรู้เท่าทันสื่อในทุกช่วงวัย

19.06.2019
  • LOADING...

เมื่อวานนี้ (18 มิ.ย.) ภาคี 8 องค์กรวิชาชีพและวิชาการ ประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, Friedrich Naumann Foundation for Freedom, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส)

 

ร่วมกันจัดเวทีนานาชาติในหัวข้อ รับมือข่าวลวง ข่าวปลอม (Fake News) ผ่านงาน International Conference on Fake News ถอดบทเรียนไต้หวัน เวทีความเห็นเรื่องนโยบายสาธารณะ โดยมีองค์กรอิสระสร้างช่องทางตรวจสอบข่าวสารบนการทำงานแบบมีส่วนร่วมทุกฝ่าย เน้นรวดเร็ว ฉับไว เข้าถึงง่าย รัฐต้องหนุนเพื่อสร้างการตื่นรู้ในสังคม

 

โดยในช่วงบ่ายของงานเป็นการแลกเปลี่ยนและระดมความเห็นในหัวข้อ ‘นโยบายสาธารณะเพื่อกำกับดูแลข่าวลวงข่าวปลอมในยุคดิจิทัล’ (Public Policy in Handling Mis/Disinformation in Digital Era)

 

ออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลจากไต้หวัน เผยว่าการรับมือกับโลกของความขัดแย้งและข่าวลวงนั้นจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีมาจัดการคัดกรองและประมวลผล โดยทำงานอย่างมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ที่หลากหลาย ที่สำคัญคือรัฐบาลต้องเปิดกว้างเพื่อจะรับฟังความเห็นจากประชาชน และสร้างความ ‘ไว้วางใจ’ ให้เกิดขึ้นให้ได้

 

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการไม่มีข้อมูลข่าวสาร แต่ปัญหาหนึ่งคือข่าวสารมากจนเกินไป แต่ในหลายๆ ครั้งการไม่เชื่อใครเลยอาจดีกว่าการเชื่ออย่างงมงายมืดบอด (Blind trust  is worst than no trust) สิ่งที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นคือให้คนสามารถสืบค้นข้อมูลที่น่าเชื่อถือและตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ได้ การให้ข้อเท็จจริงเพื่อแก้ข่าวนั้นต้องก็ทำอย่างรวดเร็วและทันสถานการณ์”

 

นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลของไต้หวันยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่าการจัดการข่าวลวงที่ได้ผลนั้น รัฐบาลต้องเปิดกว้าง สนับสนุน และสร้างพื้นที่หรือช่องทางเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงข่าวสารที่ถูกต้องด้วย

 

ด้าน มาริโอ แบรนเดนเบิร์ก สมาชิกสภานิติบัญญัติเยอรมนี กล่าวว่ารัฐบาลจะต้องทำหน้าที่ส่งเสริมให้พลเมืองได้รับ ‘ข้อเท็จจริง’ เพราะข่าวลวงเป็นปัญหาที่เกิดในสังคมซึ่งเราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการตรวจสอบข้อมูลเพื่อพยายามแสดงให้เห็นว่าข้อเท็จจริงคืออะไร และจำเป็นต้องมีวัฒนธรรมของการฟังคนอื่นให้มากขึ้นด้วย

 

ส่วน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่ามูลนิธิฯ พบว่าขณะนี้ปัญหาจากข่าวลวงมีมากในกลุ่มของยาและสุขภาพ การหลอกลวง และเอาเปรียบผู้บริโภค ดังนั้นต้องมีหน่วยตรวจสอบความจริงที่เชื่อถือได้ เพื่อให้คนเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง โดยมีภาคประชาสังคมเข้าไปร่วมด้วย เป็นความร่วมมือจากหลายฝ่าย ที่สำคัญคือต้องทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันประเด็นที่กระทบต่อสังคม ไม่ต่างคนต่างทำเหมือนตอนนี้ พลังจึงยังไม่มากพอจะสร้างความเปลี่ยนแปลง ต้องออกจากประเด็นของตัวเองแล้วมาทำงานร่วมกัน

 

“แม้อยากจะเท่าทันข้อมูล แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาแหล่งข้อมูลมาตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง เพราะอาจมีประเด็นที่ข้อมูลแย้งกันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งเชื่อถือได้ทั้งคู่ ดังนั้นการจัดการ ‘ข้อมูล’ ที่เป็นความจริงให้ผู้บริโภครับรู้เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น ซึ่งก็รวมถึงประเด็นทางการเมืองด้วย”

 

นอกจากนี้สารียังได้ตั้งข้อสังเกตถึงการทำงานของสื่อมวลชนซึ่งเคยเป็นที่พึ่งของสังคม แต่ปัจจุบันกำลังมีปัญหา บางส่วนอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของทุนไปแล้ว จึงทำให้ไม่นำเสนอประเด็นที่อาจกระทบผลประโยชน์ต่อองค์กร หรือการนำเนื้อหาจากคนทั่วไปทางออนไลน์มาสร้างเป็นข่าวโดยไม่ต้องลงทุน  

 

ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่าการกำกับดูแลและตรวจสอบข่าวลวงนั้นทำได้หลายวิธี แต่สิ่งที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นมีอย่างน้อย 3 ประเด็นคือ

 

1. ต้องมีองค์กรอิสระที่เชื่อถือได้ โปร่งใส เป็นฝ่ายที่ 3 (Third party) เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบข่าวสาร โดยประชาชนต้องเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและกว้างขวาง

 

2. ต้องทำงานบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมจากฝ่ายต่างๆ เป็นเครือข่ายสื่อสารมวลชนและองค์กรในสังคม ทั้งตรวจสอบนโยบายทางการเมืองและผลประโยชน์รัฐ

 

3. ต้องมีการตรวจสอบสื่อกันเองด้วยเพื่อสร้างการตระหนักแก่คนในสังคม (Public Awareness)

 

นอกจากนี้ผู้อำนวยการไทยพีบีเอสได้ยกตัวอย่างว่าตอนนี้องค์กรกำลังจัดทำ Data  System และ Data Journalism ทำระบบข้อมูลเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงจากข่าวสารต่างๆ โดยใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการคัดกรองข้อมูลอีกด้วย

 

“สองด้านนี้ไม่มีสิ่งใดเหนือกว่ากัน หน้าที่ของรัฐคือทำให้ความรู้เท่าทันสื่อเกิดขึ้น สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้คนเท่าทันสื่อ รัฐจำกัดเสรีภาพได้หากจำเป็น แต่ต้องมีสัดส่วน แต่ห้ามเซนเซอร์ การกำกับแบบนี้คือกำกับช่องทางไปถึงคน เช่น วิดีโอโป๊ ไม่ใช่ไม่ให้มี แต่ต้องไม่ให้เด็กเข้าถึงได้ง่ายต่างหาก หลักการคือไม่กำกับเนื้อหาต่างหากที่ต้องทำ

 

“รัฐบาลต้องจัดลำดับความสำคัญว่าจะทำเรื่องใดก่อนหลังเกี่ยวกับข่าวลวง ต้องอำนวยความสะดวกเรื่องเครื่องมือและใช้เทคโนโลยีให้คนเข้าถึงช่องทางการตรวจสอบได้ง่าย สำคัญที่สุดคือทำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าเขาจะไม่ถูกจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็น จึงจะทำให้เกิดการตรวจสอบข่าวลวงได้”

 

ในช่วงท้ายของการเสวนา มีผู้ร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างกว้างขวาง ซึ่งมีข้อเสนอสอดคล้องกันว่ารัฐบาลควรมีบทบาทในการส่งเสริมให้ประชาชนได้ตื่นรู้ เท่าทัน และทำหน้าที่เป็นผู้สร้างและสนับสนุนให้มีเครื่องมือและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อตรวจสอบข่าวลวงแทนการควบคุมด้วยกติกาที่เคร่งครัดจนอาจละเมิดเสรีภาพในการแสดงความเห็น อีกทั้งยังมีข้อสังเกตให้มีมาตรการเพื่อดูแลผู้ตกเป็นเหยื่อของข่าวลวงโดยไม่เจตนา  

 

ซึ่งการจัดการข่าวลวงนี้จะสำเร็จได้ต่อเมื่อทุกฝ่ายในสังคมทำงานร่วมกัน สร้างสังคมให้ตื่นรู้กับข่าวในระยะยาว รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการเท่าทันข่าวสารในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะต้องได้รับความร่วมมือจากเจ้าของแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่หลักที่ข่าวลวงเผยแพร่ด้วย

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising