ทิศทางของการปรับดอกเบี้ยยังคงเป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนตลาดในปี 2024 ในช่วงแรกตลาดมีความคาดหวังค่อนข้างมากเกินไปว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยที่รวดเร็วเกิดขึ้น โดยคาดว่าจะลดดอกเบี้ยถึง 6 ครั้ง เป็นจำนวน 150 bps แต่ความหวังนั้นก็ค่อยๆ ลดลง หลังจาก เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยน่าจะยังไม่เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2024
ช่องว่างระหว่างสัญญาณจากธนาคารกลางและความคาดหวังของตลาด
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นปี 2024 ตลาดต่างพากันคาดการณ์ว่าธนาคารกลางของสหรัฐฯ (Fed) จะปรับลดดอกเบี้ยภายในเดือนมีนาคม (ในการประชุมมีขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 มีนาคม 2024) แต่อย่างไรก็ตาม หลังจบการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ‘นัดแรก’ เมื่อวันที่ 30-31 มกราคม 2024 ได้ส่งสัญญาณถึงตลาดว่าการหั่นดอกเบี้ยภายในไตรมาสแรกของปีนี้เริ่มลดเหลือน้อยไปเรื่อยๆ
ในปีนี้ Fed คงเหลือการประชุมอีก 7 ครั้ง แต่การประชุมในเดือนพฤศจิกายนจะเกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้งสหรัฐฯ เพียง 2 วัน จึงคาดว่า Fed น่าจะหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงนโยบายในเดือนนั้น สำหรับการประชุมอีก 6 ครั้ง Fed ไม่น่าจะปรับลดดอกเบี้ยได้ทุกครั้งตามที่ตลาดเคยคาดไว้ถ้าข้อมูลตลาดแรงงานยังแข็งแกร่งและเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นเพียงระยะสั้น
และไม่ใช่เพียงแค่ความคาดหวังต่อดอกเบี้ยสหรัฐฯ เท่านั้น ตลาดยังคาดหวังถึงการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ 150 bps ในปีนี้ แม้ว่าเจ้าหน้าที่ของ ECB จะได้สื่อสารว่าการดำเนินงานต่อสู้เงินเฟ้อยังไม่เสร็จสิ้น รวมทั้งทางด้านธนาคารกลางอังกฤษที่ยังต้องคงดอกเบี้ยระดับสูงเพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมายที่ 2% แต่ตลาดคาดหวังถึงการลดดอกเบี้ย 110 bps ในปีนี้
ข้อมูลเศรษฐกิจยังไม่สะท้อนถึงการลดดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว
ธนาคารกลางในประเทศพัฒนาแล้วมีเป้าหมายในการใช้นโยบายการเงินเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ดังนั้นการลดดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นเมื่อมีความมั่นใจว่าเงินเฟ้อชะลอตัวลงเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% อย่างยั่งยืน
ในขณะนี้เราเริ่มเห็นทิศทางการชะลอตัวของเงินเฟ้อ แต่ทั้งเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานของหลายประเทศยังอยู่สูงกว่า 2% และในระยะสั้น เราอาจเห็นการปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อได้จากความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งต้นทุนการขนส่งและราคาพลังงานทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น
แม้ว่าเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง แต่การชะลอตัวนี้ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ และไม่น่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบลึก (Deep Recession) ในปีนี้ จากภาวะเศรษฐกิจนี้สะท้อนว่าการลดดอกเบี้ยไม่น่าเกิดขึ้นเร็วและรุนแรงเหมือนที่ตลาดคาด จากข้อมูลในอดีต หากมีการลดดอกเบี้ยอย่างรุนแรงเมื่อเศรษฐกิจอ่อนแออย่างรวดเร็วจะเผชิญความเสี่ยงอย่างมากที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอย
ธนาคารกลางอื่นๆ รอดูท่าทีของ Fed ก่อนจะปรับนโยบาย
สถานการณ์ตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและธนาคารกลางต่างๆ ล้วนแต่มีเป้าหมายหลักในการสร้างเสถียรภาพของระบบการเงิน หากมีการลดดอกเบี้ยก่อน Fed จะทำให้สกุลเงินของประเทศนั้นๆ อ่อนค่าลง ส่งผลต่อกระแสเงินทุนที่จะไหลออกจากตลาดการเงินของประเทศนั้นๆ ด้วย เพื่อจำกัดความเสี่ยงนี้ ธนาคารกลางส่วนใหญ่จึงมีแนวโน้มที่จะรอให้ Fed ดำเนินการลดดอกเบี้ยก่อน
จากสภาพการณ์ดังกล่าว UOB คาดการณ์ว่า Fed จะลดดอกเบี้ยทั้งหมด 3 ครั้งในปีนี้ ครั้งละ 25 bps ในเดือนมิถุนายน ไตรมาส 3 และ 4 สำหรับธนาคารกลางอื่นๆ คาดว่าจะลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปีหลังจาก Fed เริ่มลดดอกเบี้ย ด้านธนาคารกลางญี่ปุ่นจะดำเนินนโยบายการเงินที่แตกต่างจากที่อื่น โดยน่าจะยุติการใช้ดอกเบี้ยติดลบในเดือนเมษายน และยกเลิกการทำ Yield Curve Control ในเดือนมิถุนายน
โดยทั้งนี้ ตลาดอาจผันผวนเมื่อธนาคารกลางไม่ได้ลดดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดหวัง และหากมีการส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยที่รุนแรงเกิดขึ้น อาจเกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่เร็วกว่าคาด ซึ่งก็อาจทำให้ตลาดผันผวนเช่นกัน นักลงทุนควรกระจายพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย โดยควรกระจายทั้งประเภทอุตสาหกรรมและภูมิภาคที่ลงทุน เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุน และไม่พลาดโอกาสเมื่อตลาดฟื้นตัว
เราแนะนำให้นักลงทุนล็อกผลตอบแทนระดับสูงในตราสารหนี้ โดยเน้นที่ตราสารหนี้คุณภาพดีระดับ Investment Grade ซึ่งจะได้ประโยชน์เมื่อธนาคารกลางเริ่มลดดอกเบี้ย สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ แนะนำให้สะสมหุ้นเติบโตคุณภาพดีและหุ้นปันผล เพื่อสร้างพอร์ตการลงทุนที่แข็งแรง
ทั้งนี้ นักลงทุนสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม หรือติดต่อที่ปรึกษาทางการเงิน (Client Advisor) ของ UOB Privilege Banking ได้ที่ โทร. 0 2081 0999 หรือคลิก www.uob.co.th/privilegebanking
อ้างอิง: