แม้ไทยจะสามารถผลิตกาแฟได้เอง แต่ปริมาณการผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดในประเทศ จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าเมล็ดกาแฟจากต่างประเทศเป็นหลัก
แต่สถานการณ์เมล็ดกาแฟทั่วโลกกำลังย่ำแย่เพราะประเทศผู้ส่งออกกาแฟรายใหญ่ ทั้งเวียดนามและบราซิลต้องเผชิญกับสภาพอากาศ-ภัยแล้งรุกราน เป็นเหตุให้ราคาเมล็ดกาแฟพุ่งสูงถึง 80%
สิ่งที่ตามมาคือแบรนด์ผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่ในไทย เริ่มทยอยแจ้งขอปรับราคากาแฟดำและกาแฟสำเร็จรูป แล้วจะกระทบผู้บริโภคมากน้อยแค่ไหน THE STANDARD WEALTH มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้ที่อยู่ในวงการค้าปลีกและค้าส่ง ที่มาร่วมวิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้
กาแฟดำ-กาแฟสำเร็จรูป ขึ้นราคาขายหวังรักษากำไร
มิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง จังหวัดอุดรธานี ฉายภาพกับ THE STANDARD WEALTH ว่า สถานการณ์ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา ยังไม่คึกคักมากนัก เนื่องจากผู้คนยังเน้นประหยัดค่าใช้จ่าย ส่วนใหญ่จะเลือกซื้อแต่สินค้าจำเป็นเท่านั้น
แต่อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวของตลาดก็มีสินค้าบางกลุ่มที่เริ่มทยอยปรับขึ้นราคา หนึ่งในนั้นคือสินค้ากาแฟกระป๋องและกาแฟสำเร็จรูป โดยในช่วงต้นปีผู้ผลิต แบรนด์ใหญ่ในตลาดได้แจ้งปรับขึ้นราคาไปเรียบร้อยแล้ว
ขณะที่กาแฟกระป๋องได้ขึ้นราคาไปแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ถัดมาเป็นกลุ่มกาแฟสำเร็จรูป ได้ประกาศปรับขึ้นราคาราว 15-20% เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา
โดยกาแฟดำปรับราคาขึ้นอยู่ที่ 12 บาทต่อซอง จากที่เคยขายราคา 64 บาท ก็ปรับขึ้นเป็น 76 บาทต่อซอง ส่วนกาแฟทรีอินวัน ปรับขึ้น 16 บาทต่อแพ็ก จากที่เคยขายราคา 109 บาทต่อแพ็ก ปรับขึ้นเป็น 125 บาทต่อแพ็ก
“ต้องยอมรับว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาเมล็ดกาแฟในตลาดโลกผันผวนมาก จากสถานการณ์ภัยแล้งและสภาพอากาศแปรปรวนทั่วโลกส่งผลให้ราคาเมล็ดกาแฟพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยราคาต้นทุนที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมกาแฟทั่วโลก รวมถึงไทยซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคกาแฟรายใหญ่ ซึ่งจริงๆ แล้ว ผู้ผลิตแบกรับต้นทุนมานาน ทำให้ปีนี้เริ่มแบกรับไม่ไหว”
ด้วยเหตุนี้ จึงต้องปรับขึ้นราคาเพื่อรักษาผลกำไรเอาไว้ อย่างไรก็ตาม การขึ้นราคาของกาแฟซอง อาจไม่กระทบกลุ่มคนระดับกลางที่มักจะนิยมดื่มกาแฟแบรนด์ใหญ่ตามร้านและคาเฟ่ต่างๆ แต่จะกระทบกลุ่มแรงงาน ผู้มีรายได้น้อย ที่ส่วนใหญ่จะนิยมกินกาแฟสำเร็จรูป และต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
แบรนด์กาแฟใช้วิธีปรับราคาทีละน้อย
สอดรับกับ สมชาย พรรัตนเจริญ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย แสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า กลไกของการขึ้นราคาของแบรนด์กาแฟจะใช้วิธีการปรับราคาทีละน้อย เพื่อไม่ให้มีผลต่อความรู้สึกของผู้บริโภค ที่ผ่านมา จะเห็นว่าพอมีข่าวการปรับราคาของสินค้าจะส่งผลกระทบยอดขายระยะสั้น และอาจทำให้ผู้บริโภคหันไปเลือกซื้อแบรนด์คู่แข่งที่มีราคาถูกกว่า
“นั้นเป็นเหตุผลว่าทำไมปีที่ผ่านมาถึงไม่มีแบรนด์ไหนปรับขึ้นเลย ซึ่งผู้ผลิตบางรายอาจใช้วิธีปรับลดขนาดบรรจุภัณฑ์ลงเพื่อรักษาผลกำไรเอาไว้แทนการขึ้นราคา” สมชาย ย้ำ
กาแฟโลกระส่ำ ราคาเมล็ดอาราบิก้าพุ่งขึ้น 80%
หากย้อนดูในปีที่ผ่านมา ราคาของเมล็ดกาแฟอาราบิก้าซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่ใช้ใน การผลิตกาแฟทั่วโลก ปรับราคาขึ้นมากกว่า 80% ในช่วงเวลาเดียวกันราคาของ เมล็ดกาแฟโรบัสต้าก็พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเช่นกัน
โดยราคากาแฟที่เพิ่มสูงขึ้นเกิดจากสองประเทศผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่ที่สุดของโลก บราซิลและเวียดนาม ต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่เลวร้าย
ทำให้ปริมาณผลผลิตลดลงและส่งออกได้น้อยลง ก็กระทบกับหลายๆ ประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ในไทย ถึงแม้ว่าไทยจะสามารถผลิต กาแฟได้เองบางส่วน แต่ปริมาณการผลิตยัง ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดภายในประเทศ ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้า เมล็ดกาแฟจากต่างประเทศจำนวนมาก
ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่ผู้ผลิตกาแฟต้องปรับขึ้นราคา แต่ประเทศเวียดนามก็เผชิญกับปัญหาเดียวกัน
วินห์ เหงียน ประธานเจ้าหน้าที่ บริหารของ Tuan Loc Commodities กล่าวว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทคั่วกาแฟรายใหญ่สามารถแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นได้โดย ไม่ต้องขึ้นราคา เพื่อรักษาฐานลูกค้าและส่วนแบ่งทางการ ตลาดเอาไว้
แต่ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2025 บริษัทเริ่มแบกภาระต้นทุนต่อไปไม่ไหวแล้ว หลายๆ แบรนด์จึงเริ่มพิจารณาขึ้นราคากาแฟสำเร็จรูปที่วางจำหน่ายผ่านซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อให้สอดรับกับภาวะต้นทุนดังกล่าว
เช่นเดียวกับ เดวิด เรนนี หัวหน้าฝ่ายพัฒนาแบรนด์กาแฟของ Nestlé ระบุว่า ธุรกิจกาแฟกำลังเผชิญกับความท้าทายรอบด้านและบริษัทไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการปรับราคาสินค้าและขนาดบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต แต่สิ่งที่แบรนด์จะต้องให้ความสำคัญมากๆ คือการรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์
ภาพ: Pixel-Shot / Shutterstock
อ้างอิง: