×

กอล์ฟ ธัญญ์วาริน เล่าบทเรียนการต่อสู้จาก Insects in the Backyard ตลอด 7 ปี ตกลงคนทำหนังได้เรียนรู้อะไรกลับมาบ้าง?

30.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • หลังจากต่อสู้มาอย่างยาวนานกว่า 7 ปี ในที่สุด Insects in the Backyard ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ด้วยเรต ฉ 20+ หลังจากยอมตัดฉากหนังโป๊ในเรื่องออกไป 3 วินาทีตามข้อสังเกตของศาลปกครอง โดยหนังจะเข้าฉายตั้งแต่วันนี้ (30 พ.ย.) เป็นต้นไป เฉพาะที่โรงภาพยนตร์ House RCA
  • กอล์ฟ ธัญญ์วาริน บอกว่า การตัดสินใจยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อคัดค้านคำตัดสินของคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติเพราะต้องการให้เป็นกรณีศึกษา เธอมั่นใจว่าไม่ว่าจะชนะหรือแพ้ มันจะเกิดกระบวนการเรียนรู้ทั้งกับตัวเธอเอง ไปจนถึงผู้ที่มีอำนาจใช้กฎหมาย คนในสังคม หรือแม้แต่กับคนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในหลากหลายแง่มุมทางสังคม
  • ระหว่างการต่อสู้ทางศาล กอล์ฟ ธัญญ์วาริน เขียนบทและลงมือกำกับหนังเรื่อง It Gets Better ไม่ได้ขอให้มารัก (2555) โดยต้องการสื่อสารกับคนดูด้วย ‘ข้อความ’ เดิมที่เคยพูดอยู่ใน Insects in the Backyard เพียงแต่แปรรูปใหม่ให้เข้าถึงง่ายขึ้น สุดท้ายหนังคว้ารางวัลจากสถาบันต่างๆ ไปมากมาย โดยเฉพาะรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 22 ที่หนังคว้ามาได้ถึง 3 รางวัล

 

“7 ปีสำหรับชีวิตมนุษย์ ทำอะไรได้เยอะแยะเลยนะ”

 

ผมหลุดประโยคนี้ออกไประหว่างสนทนาอยู่กับ กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ เนื่องในโอกาสที่  Insects in the Backyard แมลงรักในสวนหลังบ้าน จะได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์เสียที! หลังจากหนังถูกระงับ หรือที่เรียกกันจนคล่องปากแล้วว่า ‘โดนแบน’ จากคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ด้วยเหตุผลว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ ‘ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน’ เนื่องจากนำเสนอความรักของคนเพศเดียวกัน ตัวละครมีอาชีพโสเภณี หนังมีฉากสูบบุหรี่ ฉากดื่มสุราขณะใส่ชุดนักเรียน ฯลฯ ทั้งที่ในขณะนั้นจะมีการบังคับใช้ระบบจัดเรตภาพยนตร์แทนการเซนเซอร์ตามข้อบังคับของ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวแล้วก็ตาม

 

ที่สุดมันนำพามาซึ่งเรื่องราวการต่อสู้ในชั้นศาลปกครองยาวนานกว่า 7 ปี (นั่นเท่ากับจำนวนซีซันทั้งหมดของ Game of Thrones เลยเชียวนะ!) ซึ่งถ้าเทียบกับชีวิตมนุษย์ มันคงจะเป็น 7 ปีที่แทบจะสร้างอนาคต สร้างประสบการณ์ หรือเปลี่ยนแปลงชีวิตให้กับใครบางคนได้อย่างมากมาย

 

ถ้าอย่างนั้นในวันที่ Insects in the Backyard จะได้เข้าฉายเป็นวันแรก (30 พ.ย.) ก็น่าจะชวนกอล์ฟมานั่งคุยเสียหน่อยว่า ‘เธอ’ ได้เรียนรู้อะไรจากการต่อสู้ในสิ่งที่ตัวเอง ‘เชื่อ’ ตลอด 7 ปีที่ผ่านมาบ้าง สำคัญที่สุด มันคุ้มค่าดีแล้วใช่ไหมกับชีวิต ลมหายใจ แรงกาย และเวลาทั้งหมดที่ต้องแลกไปกับมัน  

 

 

 

วันนี้ (30 พ.ย.) Insects in the Backyard จะได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ด้วยเรต ฉ 20+ (สักที) หลังจากต่อสู้มาอย่างยาวนานตลอด 7 ปี เช็กความรู้สึกกันหน่อยดีไหมว่าคนทำยังอินกับลูกคนแรกมากน้อยแค่ไหน และที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือหลังจากผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนานถึง 7 ปี กลัวไหมว่าหนัง ‘แมลงรักในสวนหลังบ้าน’ จะมีผลในแง่ความสดใหม่

กอล์ฟกลับมองว่าการได้ฉายในตอนนี้มันถูกที่ถูกเวลา คนดูหนังน่าจะเข้าใจมันมากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะมันมีข่าวหน้าหนึ่งให้ได้ศึกษา และสื่อทุกวันนี้เปิดพื้นที่ให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศเยอะมาก อย่างล่าสุดที่ผู้เข้าแข่งขันรายการ Let Me In Thailand เขาเปิดเผยว่าคบกับกะเทย หรือเรื่องราวของคุณพอลลีน งามพริ้ง ที่กล้าเปลี่ยนตัวเองจากคนเป็นพ่อ ผู้ช๊ายผู้ชาย แล้วพลิกมาเป็นผู้หญิง ซึ่งคนเหล่านี้เขาก็เปิดตัวเอง ทุกคน proud to present มากขึ้น ทุกคนกล้าจะ come out

 

ประกอบกับมันเป็นยุคโซเชียลมีเดีย ทุกคนมีเฟซบุ๊กที่สามารถจะถ่ายทอดชีวิตตัวเองให้ผู้คนได้รับรู้ว่าฉันเป็นแบบนี้ ฉันมีความสุข ไม่ต้องมาคิดแทนว่าเป็นแบบนี้แล้วฉันจะทุกข์ แล้วพอมีคน come out ออกมาด้วยความภาคภูมิใจในความเป็นตัวเอง มันเลยดูเหมือนว่าเรื่องราวแบบนี้มีให้เห็นเยอะขึ้น ทำให้สังคมได้ทำความเข้าใจไปโดยปริยายว่า เฮ้ย เขาต่างจากเรา เขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งในสังคมด้วยเหมือนกัน  

 

ซึ่งถ้ามองในแง่คนดูหนัง กลายเป็นว่าบริบทของการได้ดูหนัง Insects in the Backyard เมื่อ 7 ปีที่แล้วกับตอนนี้ก็น่าจะเปลี่ยนไปด้วยเหมือนกันนะ เพราะผู้ชมน่าจะเฝ้าดูชีวิตของตัวละครด้วยความเข้าอกเข้าใจที่มากขึ้นด้วย

ใช่ ตอนแรกก็คิดนะว่าปล่อยตัวอย่างหนังออกมาแล้วคนจะด่าไหมวะ ปรากฏว่าพอปล่อยออกมาแล้วคนไม่ด่า กลับกัน ถ้าปล่อยออกมาเมื่อ 7 ปีที่แล้วนะ รับรองเละ (หัวเราะ) จำได้ว่าตอน Insects in the Backyard โดนแบนเมื่อ 7 ปีที่แล้ว เราโดนด่าเละเทะเลย  

 

 

ตอนนั้นไม่ได้ตั้งใจจะทำหนังให้ออกมาดูแรงๆ ใช่ไหม

บอกตรงๆ ว่าเมื่อ 7 ปีที่แล้วเราไม่เคยคิดว่าหนังตัวเองแรง ไม่เคยคิดว่าจะโดนแบน ไม่เคยคิดว่ามันจะเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ หรือจะต้องเป็นที่พูดถึง เพราะตัวเราเป็นคนแบบนี้ หนังสั้นที่เราทำก่อนหน้านี้ก็แรงเป็นปกติในแบบเรา เพียงแต่มันไม่ได้ถูกเผยแพร่ไง หนังมันก็ฉายในการประกวดต่างๆ เราก็เลยไม่รู้สึกว่า อ้าว นี่แรงแล้วเหรอ เพราะเราเป็นคนคิดแบบนี้ แสดงออกแบบนี้เป็นปกติ ก็เลยไม่รู้สึกว่าหนังมันแรง

 

ตอนนั้นตั้งใจทำหนังโดยคิดว่ายังไงต้องได้เรต ฉ 20+ ถือเป็นการเฉลิมฉลองให้กับ พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ฉบับใหม่ที่เพิ่งออกมาไม่นานในตอนนั้น (พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2551 โดยเปลี่ยนจากระบบ ‘เซนเซอร์’ ภาพยนตร์ หนัง สารคดี ละคร ที่อาจอยู่ในรูปของหนังที่ฉายในโรงภาพยนตร์หรือฟิล์ม และหนังแผ่นประเภทดีวีดี วีซีดี ซีดีรอม มาเป็นการจัด ‘เรต’ ซึ่งกำหนดภาพยนตร์ไว้ 7 ประเภท โดยมีคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติเป็นผู้ตรวจพิจารณาและกำหนดประเภทภาพยนตร์ว่าอยู่ในประเภทใด) แต่ปรากฏว่าได้เกิน เกินไปเยอะเลยค่ะ คือโดนแบน (หัวเราะ)

 

ถ้าอย่างนั้นตอนนี้ Insects in the Backyard ที่คนดูหนังกำลังจะได้ดูผ่านการพิจารณาด้วยเรตอะไรครับ  

Insects in the Backyard ได้เรต ฉ 20+ เรียบร้อยแล้ว หลังจากที่รอมา 7 ปี คือก่อนหน้านี้อาจจะคุยได้ไม่เต็มปากว่ามันได้ฉายแล้ว เพราะหนังมันยังไม่ได้ถูกกฎหมายรองรับ

 

ต้องอธิบายให้ฟังก่อนว่าจริงๆ แล้วตอนที่ศาลตัดสิน เราไม่ได้ชนะนะคะ เพราะศาล ‘ยกฟ้อง’ แต่หนังเรายังโดนแบนอยู่ ส่วนที่บอกว่าเราไม่ได้แพ้ เพราะในการพิจารณาของศาลตั้งข้อสังเกตไว้ว่า หนังเรื่องนี้ยังโดนแบนอยู่ เพราะมีสิ่งผิดกฎหมาย นั่นคือฉากที่เผยให้เห็น ‘หนังโป๊’ ในทีวีเป็นเวลา 3 วินาที ซึ่งตามกฎหมายไทยแล้ว หนังโป๊และสื่อลามกอนาจารเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ศาลยังบอกต่ออีกว่า ถ้าหากตัด 3 วินาทีนี้ออกไป หนังเรื่องนี้ก็ไม่ได้ผิดกฎหมายแล้ว และเนื้อหาทั้งหมดของหนัง ไม่มีฉากไหนที่ผิดศีลธรรมอันดี

 

ซึ่งสำหรับกอล์ฟ ตรงนี้ถือว่าตัวเองชนะ เพราะตลอด 7 ปีที่ผ่านมา กอล์ฟไม่ได้ฟ้องเรื่องหนังโป๊ แต่ต้องการฟ้องว่าคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติแบน Insects in the Backyard เพราะเขามองว่าหนังของกอล์ฟผิดศีลธรรมอันดี ซึ่งหลังจากตัด 3 วินาทีนั้นออกไป ตอนนี้เรากล้าพูดได้เลยว่า Insects in the Backyard ไม่ผิดศีลธรรมอันดี

 

ยิ่งล่าสุดหลังจากศาลตัดสิน ‘ยกฟ้อง’ เราก็นำหนังกลับไปยื่นขอพิจารณาใหม่ ซึ่งคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติก็ให้เรต ​ฉ 20+ มาเรียบร้อย

 

ตอนเอาหนังเรื่องเดิมกลับไปยื่นใหม่ คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง คิดว่ามันจะผ่านเลยไหม

ความจริงก็ยังมีความกังวล เครียดพอสมควรว่าถ้าผลการพิจารณาออกมาว่าโดนแบนอีกรอบจะทำยังไงดี คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติเขาจะเข้าใจที่ศาลตั้งข้อสังเกตเหมือนอย่างที่เราเข้าใจไหม

 

แต่พอถึงวันที่เขานั่งดูหนังแล้วบอกกับเราว่า โอเค หนังได้เรต ฉ 20+ เราร้องไห้เลย เพราะมันคือสิ่งที่เรารอมานานมาก มันดีใจ มันโล่งอก มันเหมือนคนโดนด่าว่ามึงผิด มึงชั่ว มึงเลวมาโดยตลอด แล้วสุดท้ายพิสูจน์ตัวเองได้ว่ากูไม่ผิด ไม่ได้ชั่ว ไม่ได้เลว เห็นแล้วใช่ไหมว่าสิ่งที่เราทำมาตลอดนั้นคือความหวังดี เรามีวัตถุประสงค์เพื่อจะสะท้อนสังคม เราไม่ได้ต้องการจะทำหนังโป๊ ไม่ได้อยากจะแรง

 

 

ถามจริงๆ ตลอด 7 ปีที่ต่อสู้มา มีคนสงสัยไหมว่าคุณจะสู้ไปเพื่ออะไร

โอ้โห มีคอมเมนต์เต็มไปหมดเลย คือมีคนให้กำลังใจ แต่ขณะเดียวกัน ภาพลักษณ์ของเรากลายเป็นคนดื้อ กลายเป็นคนไม่ยอมประนีประนอม กลายเป็นคนที่เป็นขบถกับสังคม อยู่ๆ ลุกขึ้นมาฟ้องคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ มึงก้าวร้าวไปไหม ซึ่งบอกตรงๆ ว่าตัวเองเครียดมาก เพราะความจริงแล้วตัวตนของเราไม่ได้เป็นคนอะไรขนาดนั้น

 

ความจริงเราไม่ได้อยากจะทำแบบนี้เลย แต่ที่ทำเพราะต้องการให้เป็นกรณีศึกษา เรามั่นใจว่าไม่ว่าเราจะชนะหรือแพ้ มันจะเกิดกระบวนการเรียนรู้ทั้งของคนที่ใช้กฎหมาย เรียนรู้ทั้งกับตัวเราเอง ทั้งกับคนในสังคม หรือแม้แต่กับคนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยที่จะเกิดการตระหนักรู้ว่านอกจากเรตปกติ มันยังมีเรตแบนอยู่ด้วย (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นจะทำอะไรก็ต้องคิดให้ดี เพราะการทำหนังหนึ่งเรื่องมันมีการลงทุน เฉพาะแค่พาหนังเข้าโรงก็มีความเสี่ยงแล้ว นี่ยังต้องมาเสี่ยงกับการจัดเรตอีก

 

นอกจากนั้นก็ยังเกิดการเรียนรู้ทางสังคม จากตอนแรกที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตอนนี้เรามี พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์มากำกับใช้แล้ว แต่พอหนังเราโดนแบนปุ๊บ ทุกคนรู้แล้วว่า อ๋อ บ้านเรามีการจัดเรตใหม่ แล้วมันมีเรตอะไรบ้างวะ เรต ฉ 20+ มันคืออะไร ถ้าอย่างนั้นก่อนเข้าโรงหนังจะโดนตรวจบัตรไหม ฯลฯ เพราะเมื่อ 7 ปีที่แล้ว การจัดเรตมันยังเป็นเรื่องใหม่มาก

 

แต่อีกสิ่งหนึ่งที่กอล์ฟไม่ชอบคือมันจะเกิดการ self-censorship ซึ่งเราว่าไม่ดีกับคนทำงานสร้างสรรค์ เพราะคนเราควรจะมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก อย่างกับ Insects in the Backyard ในเมื่อเราทำหนังเพื่อสะท้อนปัญหาสังคม หนังพูดถึงการที่เด็กนักเรียนไปขายตัว หนังมีฉากที่ลูกไม่ชอบในสิ่งที่พ่อเป็น มีการหนีออกจากบ้าน มีความหลากหลายทางเพศ ฯลฯ ซึ่งความจริงมันต้องดูกันที่วัตถุประสงค์ว่ามีฉากเหล่านี้เพื่ออะไร แน่นอนที่สุด เราไม่ได้ชี้นำ เราไม่ได้บอกว่าดีหรือไม่ดี เราไม่ได้จะไปตัดสิน เราแค่โยนมันลงไปให้คนดูได้ตระหนักว่ามันมีสิ่งเหล่านี้อยู่จริง แล้วเมื่อมันเกิดขึ้นตรงหน้า เราจะจัดการกับมันยังไง

 

ถ้าอย่างนั้นคิดว่าคุ้มค่าดีไหมกับสิ่งที่ได้มาในวันนี้ และคุณได้เรียนรู้อะไรกลับมาบ้างจากเรื่องราวตลอด 7 ปี  

เราผ่านกระบวนการเรียนรู้กับตัวเอง มันทำให้เราได้เข้าใจสังคมมากขึ้น ตอนแรกที่รู้ว่าหนังเราโดนแบน เราโกรธมาก ตอนนั้นตั้งคำถามว่า เฮ้ย เขาเกลียดอะไรเราวะ เพราะต้องบอกว่าความจริงแล้วคณะกรรมการฯ หลายคนก็รู้จักกับเรามาก่อน เราทำงานให้เขาด้วย เคยเป็นวิทยากรหนังสั้นคุณธรรม จริยธรรมให้กรมศาสนา เคยเสนอโปรเจกต์ที่จะเข้าไปสอนเด็กทั่วประเทศเลยด้วยซ้ำ ฉะนั้นเขาไม่น่าจะโกรธหรือเกลียดเราแน่ๆ ถ้าอย่างนั้นเขาแบนเราเพราะอะไรวะ นั่นทำให้เกิดความเครียด โกรธว่าทำไมเราถึงต้องโดนแบบนี้ด้วยวะ ทำไมสังคมต้องประณามว่าเราคือคนผิด คนชั่ว คนไม่ดี

 

แต่พอเราตั้งคำถามแล้วพยายามหาคำตอบว่าทำไม… สุดท้ายเลยเข้าใจว่า อ๋อ เขาไม่ได้เกลียดเรานี่หว่า แต่เขาไม่เข้าใจในสิ่งที่เรากำลังเสนอกับสังคม นั่นเพราะเขาไม่เข้าใจความหลากหลายของมนุษย์ ที่ผ่านมาเขาอยู่ในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ในประเทศนี้ แต่เมื่อเรานำเสนอภาพลักษณ์ของผู้ชายอีกแบบในหนัง สิ่งที่เรานำไปเสนอเลยอาจจะตบหน้าเขา

 

ถามว่าทำไมเขาถึงไม่เข้าใจ กอล์ฟคิดว่าเพราะว่าสังคม ระบบการศึกษาของประเทศนี้ไม่เอื้อต่อการทำให้เข้าใจความหลากหลายของผู้อื่น ไล่เรียงมาตั้งแต่พื้นฐานการสอนหนังสือ สอนศิลปะ ตลอดมาเราสอนให้เด็กวาดตามสิ่งที่มีอยู่จริงในธรรมชาติ ต้องวาดให้เหมือน คุณครูเอาส้มมาวาง ทุกคนวาดส้มสีส้มมาหมด ถ้าใครวาดเหมือนคือได้คะแนนเต็มสิบ แต่ถ้าใครวาดรูปส้มมีเปลือกเป็นทุเรียน คะแนนที่ได้ก็อาจจะกลายเป็นศูนย์ โดยที่ไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้ออกมาพรีเซนต์ว่าทำไมส้มมันถึงมีเปลือกเป็นทุเรียน ทั้งที่ถ้าเด็กมีโอกาสได้พูด เขาอาจจะเล่าออกมา “ผมคิดว่าในอนาคต ส้มจะถูกผสมพันธุ์กับทุเรียนแล้วทำให้เปลือกเป็นทุเรียน แต่รสชาติยังเป็นส้ม” ซึ่งนั่นจะเปิดโอกาสให้เด็กคนอื่นๆ ที่นั่งอยู่ในห้องได้แสดงความคิดเห็นว่าที่เพื่อนบอกมันมีความเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ และจะทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ต่อยอดจินตนาการของเด็ก เพียงแต่ระบบการศึกษาส่วนใหญ่ในบ้านเราไม่เคยสอนเด็กด้วยวิธีนี้

 

ทุกวันนี้กอล์ฟเอาหนังเรื่อง ปั๊มน้ำมัน (2559) ไปฉายในมหาวิทยาลัย กอล์ฟถามเด็กสาขาภาพยนตร์ที่เข้ามาเรียนว่าสมัยเด็กๆ เรียนวิชาศิลปะมาแบบไหน เขาก็จะบอกแบบเดียวกับที่กอล์ฟบอก แสดงว่า 40 ปีที่แล้วเราเรียนมายังไง 40 ผ่านไปเด็กไทยก็ยังคงเรียนอยู่แบบนี้ นั่นแปลว่ากระบวนการศึกษาไทยมันไม่เกิดการพัฒนาขึ้นมาเลย ทั้งที่วิชาศิลปะมันควรจะเปิดจินตนาการของเด็กเพื่อจะรับรู้ความคิดที่แตกต่างกันของคนในห้องเรียนว่าเขาคิดยังไงกับ ‘ส้มเปลือกทุเรียน’ เด็กที่วาดเขาก็มีสิทธิ์จะอธิบาย มีการแก้ต่าง นี่คือประโยชน์ของการทำงานศิลปะ คือทำให้เราเข้าใจคนอื่นผ่านการแสดงความคิดเห็น สุดท้ายแล้วมันจะทำให้เราเติบโตด้วยความเข้าใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม แล้วเราก็จะไม่ด่ากันเมื่อพบว่าคนอื่นเห็นต่างกับตัวเองอย่างทุกวันนี้  

 

ฉะนั้นแล้วปัญหาใหญ่ของการแบนหนังมันไม่ได้อยู่ที่แบนหรือไม่แบน แต่มันอยู่ที่ทัศนคติของคนที่ตัดสินใจแบนต่างหากว่าเขาเหล่านั้นถูกปลูกฝังมาจากการเรียนรู้คนในสังคมด้วยวิธีไหน ฉะนั้นเมื่อเราถูกสอนกันมาแบบนี้ มันก็ไม่แปลกที่คณะกรรมการฯ ซึ่งก็คือผลผลิตจากการเรียนการสอนของระบบการศึกษาแบบนี้ เขาก็เลยเข้าใจสังคมแบบนี้

 

ระหว่างการต่อสู้ เราก็เลยทำหนังเรื่องหนึ่งขึ้นมาคือ It Gets Better ไม่ได้ขอให้มารัก (2555) เพื่อจะบอกว่า เฮ้ย การจะอยู่ด้วยกันในสังคมนี้ มึงไม่ต้องมารักกันหรอก มึงแค่เข้าใจว่าคนอื่นคิดต่างจากมึงเพราะอะไร คนนี้มีความเชื่อต่างแบบนี้เพราะอะไร ขอเท่านี้เอง แล้วมึงจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข เพียงแต่ระบบการศึกษาของไทยมันไม่สอนเรื่องการทำความเข้าใจคนอื่น สอนแต่ให้คนคิดตามกัน ใครคิดนอกกรอบคือผิด มึงต้องคิดเหมือนกู ถ้าคิดเหมือนกูไม่ได้ นั่นคือผิด

 

สำคัญที่สุด เราก็พิสูจน์ตัวเองด้วยเช่นกัน เพราะไอ้สิ่งเดิม แมสเสจเดิมที่เคยพูดอยู่ใน Insects in the Backyard แต่เราเอามันมาทำใหม่ เล่าใหม่ ด้วยวิธีใหม่ใน It Gets Better ไม่ได้ขอให้มารัก เพื่อให้เข้าถึงคนมากขึ้น ความจริงแมสเสจมันแรงกว่าเดิมด้วยนะ แต่ทำไมคนถึงชอบ ทำไมหนังถึงได้รางวัล ทำไมหนังได้รับการยอมรับ ทั้งที่มันก็เป็นในสิ่งเดียวกันกับ Insects in the Backyard

 

 

การต่อสู้ 7 ปีกับบทสรุป 3 วินาทีที่ถูกตัดออกไป ดูเหมือนว่าจะเปลี่ยนคุณไปเยอะเหมือนกันนะ จากคนที่เคยโกรธ ตอนนี้กลายเป็นความเข้าใจ

เปลี่ยนไปเยอะมาก เมื่อก่อนเราเป็นคนใจร้อน เป็นคนโกรธง่าย เครียดง่าย แต่เวลาที่ผ่านมามันทำให้เราเข้าใจมนุษย์มากขึ้น เข้าใจโลกมากขึ้น เราโกรธเขา นั่นก็แปลว่าเราเหมือนเขานั่นแหละ ถ้าอย่างนั้นจะทำยังไงดี เราก็เลยต้องทำความเข้าใจเขา พอเราได้ทำความเข้าใจว่าเป็นเพราะระบบการศึกษาอย่างที่เล่าไป อ๋อ ถ้าอย่างนั้นเราไม่โกรธเขาแล้ว เราไม่เกลียดเขาเลย เข้าใจเขาด้วยซ้ำ

 

ในเมื่อไม่เกลียด ไม่โกรธ ในเมื่อเข้าใจถึงปัญหา ถ้าอย่างนั้นแล้วเราพอจะมีความหวังสำหรับเรื่องนี้ไหม หรือเราควรมองมันอย่างเข้าใจ แต่คงยากที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้  

เรามีความหวัง ไม่อย่างนั้นเราจะไม่ทำอย่างนี้ ถ้าเราไม่มีความหวัง เราจะไม่ทนมา 7 ปี ในเมื่อมีสื่ออยู่ในมือ เราถึงได้ทำ It Gets Better ไม่ได้ขอให้มารัก เพื่อจะบอกกับสังคมว่า ‘มันไม่ต้องมารักกัน แต่ให้เข้าใจกัน’

 

ยิ่งเมื่อคิดถึงรากฐานของการเรียนการสอนศิลปะในประเทศไทยว่ามันมีปัญหา ทั้งที่ความจริงวิชาศิลปะมันสำคัญกับมนุษย์ที่สุดแล้วในการจะเข้าใจมนุษย์ด้วยกัน เมื่อเข้าใจกระบวนการเหล่านี้ เราถึงพยายามพูดคุย ผลักดันให้มีหลักสูตรภาพยนตร์ตั้งแต่ชั้นประถม ไปประชุมที่ไหนเราก็พยายามพูด ไปเจอผู้ใหญ่ที่ไหนเราก็พูด อยากบอกว่าปัญหาหลักมันอยู่ตรงนี้นะ มานั่งแก้ที่ปลายเหตุมันไม่มีประโยชน์ มันต้องแก้ตั้งแต่รากด้วยการปรับกระบวนการศึกษาของเด็กรุ่นใหม่ให้เข้าใจในงานศิลปะ ส่งเสริมให้เขาได้เรียนภาพยนตร์ศึกษาเสียตั้งแต่ชั้นประถม เอาหนังสั้นความยาว 3 นาที 5 นาทีไปโยนให้เด็กดู แล้วให้เด็กลองคิดวิเคราะห์ นั่งคุยกันว่าคิดกับเรื่องนี้ยังไง เด็กคิดยังไง พ่อแม่คิดยังไงถ้าได้นั่งดูหนังเรื่องเดียวกัน ถ้าทำแบบนี้ เด็กจะเติบโตขึ้นมาด้วยการรู้จักทำความเข้าใจต่อความคิดของคนอื่น ส่วนคนแก่รุ่นเรา สุดท้ายก็จะค่อยๆ ตายจากไป ถ้าเราแก้ปัญหาตรงนั้นได้ มันจะยั่งยืน

 

ขณะเดียวกันจะปล่อยไว้แค่นั้นอย่างเดียวก็ไม่ได้ หน่วยงานของรัฐบาล กระทรวงวัฒนธรรม หรือหน่วยงานใดก็ตามต้องตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนและต่อยอดเด็กๆ ให้ได้รับการศึกษาด้านภาพยนตร์ตั้งแต่เด็ก ขณะเดียวกันโรงหนังก็ต้องให้พื้นที่กับหนังไทยมากขึ้น หนังดีหรือเปล่าไม่รู้ แต่ต้องให้พื้นที่ แล้วเดี๋ยวตัวหนังจะพิสูจน์กับสังคมเอง พัฒนาตัวคนทำงาน ให้ทุนสนับสนุนเพื่อให้ผลงานที่ดีเข้าถึงประชาชน มันจะได้ครบวงจรทั้ง 4 มิติ

 

ล่าสุดเราเห็นอาจารย์ประวิทย์ แต่งอักษร (อาจารย์ด้านภาพโพสต์หน้าปก หลักสูตรวิชาภาพยนตร์สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งได้รับมอบหมายจากกระทรวงศึกษาธิการให้รับผิดชอบเขียนหลักสูตรขึ้นมา) โอ้โห ดีใจมาก มันอาจจะไม่ใช่เราโดยตรง แต่ทุกคนเห็นปัญหาร่วมกัน แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังบอกอาจารย์อีกว่าหนูยังอยากเห็นหลักสูตรตั้งแต่ประถม ไม่ใช่มัธยม อาจารย์บอกกลับมาว่าอันนั้นเป็นความหวังสูงสุดของเรา ซึ่งนี่แหละ กอล์ฟถึงบอกว่าเรามีความหวัง

 

 

ต่อสู้มาตลอด 7 ปีเพื่อให้หนังได้ฉาย ถึงตอนนี้พอได้เข้าฉายแล้วจริงๆ คุณยังมีความตื่นเต้นกับการที่หนังจะได้ฉายเหลืออยู่อีกไหม

บอกตามตรงว่ารู้สึกตื่นเต้นกว่าตอน 7 ปีที่แล้ว ในตอนนั้นพอทำหนังเสร็จ ได้ไปเวิลด์พรีเมียร์ที่ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแวนคูเวอร์ 2010 ประเทศแคนาดา จากนั้นก็พาหนังไปฉายที่เทศกาลอื่นๆ เต็มไปหมด แล้วพอมันจะกลับมาฉายที่เมืองไทย ตอนนั้นรู้สึกว่ากูเก่ง กูเจ๋ง กูเริ่ด แต่แล้วพอหนังโดนแบน มันก็กลายเป็นความเฟล

 

แต่ตอนนี้เรารู้สึกตื่นเต้น ตื่นเต้นในที่นี้คือการที่เราจะได้เจอกับฟีดแบ็กจริงๆ ของหนัง หมายถึงคนที่ได้ดูหนังจะมีโอกาสตัดสินเราจริงๆ ซึ่งเขามีสิทธิ์เต็มที่ เมื่อดูหนังจบ เดินออกจากโรงภาพยนตร์ปุ๊บ ถ้าเขาบอกว่าหนังเหี้ยมาก เราก็จะดีใจ เราก็จะตื่นเต้นว่าเขามีฟีดแบ็กอะไร เพราะว่าเขาได้ดูแล้ว แต่เมื่อก่อนเขาด่าโดยที่เขายังไม่ได้ดู แต่ตอนนี้เขาได้ดูก่อนแล้วถึงค่อยด่าว่าหนังมันเหี้ย! ซึ่งเราจะยอมรับโดยดุษณี หรือถ้าฟีดแบ็กมันออกมาดี เราก็จะรอฟังว่ามันดีเพราะอะไร

 

…เราตื่นเต้นตรงนี้ที่คนจะได้ตัดสินจากตัวมันจริงๆ ไม่ใช่ตัดสินมันจากสิ่งที่สังคมบอกหรือฟังมาจากข่าวว่าหนังเรื่องนี้มันโดนแบน

FYI
  • เดิมที Insects in the Backyard หรือ แมลงรักในสวนหลังบ้าน ถูกวางโปรแกรมเข้าฉายในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2553 แต่แล้วเหมือนฟ้าผ่าในวันฟ้าใส เมื่อหนังถูกระงับการฉายจากคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ เนื่องจากขัดมาตรา 29 ของ พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 โดยคณะกรรมการฯ ระบุว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ ‘ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน’ เนื่องจากนำเสนอความรักของคนเพศเดียวกัน ตัวละครมีอาชีพโสเภณี มีฉากสูบบุหรี่ ดื่มสุราขณะใส่ชุดนักเรียน ฯลฯ ทั้งที่ในขณะนั้นจะมีการบังคับใช้ระบบจัดเรตภาพยนตร์แทนการเซนเซอร์แล้วก็ตาม
  • ขณะเดียวกันตลอด 5 ปีที่ต่อสู้ หรือนับรวม 7 ปีที่รอคอยให้ Insects in the Backyard ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ มันเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานขนาดที่ทำให้กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ สร้างผลงานภาพยนตร์เรื่องยาวมาอย่างต่อเนื่องถึง 7 เรื่องคือ ฮักนะ ‘สารคาม (2554), It Gets Better ไม่ได้ขอให้มารัก (2555), เธอ เขา เรา ผี (2557), ฟินสุโค่ย (2557), รด. เขาชนผีที่เขาชนไก่ (2558), คืนนั้น Red Wine in the Dark Night (2558), ปั๊มน้ำมัน (2559) และปลายปีนี้ Insects in the Backyard ที่ความจริงควรได้รับการบันทึกให้เป็นผลงานหนังเรื่องแรก แต่กลายเป็นหนังเรื่องล่าสุดที่กำลังจะได้เข้าฉายเสียที  
  • ความไม่น่าเชื่อแต่ก็เกิดขึ้นจริงคือคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ชุดที่เคยพิจารณาระงับการฉาย Insects in the Backyard แมลงรักในสวนหลังบ้าน ครั้งแรกใน พ.ศ. 2553 กระทั่งนำมาซึ่งการต่อสู้ทางศาลปกครองของธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา จนเมื่อได้บทสรุปจากศาลปกครองโดยพิจารณาว่า หากตัดฉากร่วมเพศที่เห็นอวัยวะเพศเป็นเวลา 3 วินาทีออกไป ภาพยนตร์เรื่องนี้จะ ‘ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน’ ซึ่งเมื่อธัญญ์วารินนำหนังกลับไปยื่นพิจารณาอีกครั้งนั้นยังเป็นคณะกรรมการชุดเดียวกัน  
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising