×

อินโนเวสท์ เอกซ์ คาด สหรัฐฯ เข้าภาวะ Mild Stagflation หลังเศรษฐกิจส่งสัญญาณชะลอตัว พร้อมคาด Fed หั่นดอกเบี้ยยาก

14.05.2024
  • LOADING...

บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ประเมินสหรัฐฯ เสี่ยงเผชิญเศรษฐกิจชะลอตัว ดันอัตราว่างงานพุ่งแตะ 4% แต่เงินเฟ้อพุ่งตามต้นทุนน้ำมัน ทำ Fed ตัดสินใจหั่นดอกเบี้ยลงยาก

 

ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) อินโนเวสท์ เอกซ์ (InnovestX) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ว่า ขณะนี้สหรัฐฯ เริ่มมีสัญญาณ Mild Stagflation ที่ชัดเจนขึ้น จากแนวโน้มของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง รวมถึงการจ้างงานมีทิศทางชะลอตัว โดยมีอัตราการว่างงานในเดือนเมษายนอยู่ 3.9% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ หากอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นไปถึงระดับ 4% จะเป็นปัจจัยที่สำคัญส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เริ่มลดดอกเบี้ย อีกทั้งยังมีข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมาที่ส่งสัญญาณว่าภาคเศรษฐกิจกำลังชะลอตัว

 

อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวในระดับสูง แม้ว่าปัจจุบันยังต่ำกว่า 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งให้เงินเฟ้อมีโอกาสเร่งตัวขึ้นจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น (Cost-push Inflation) ซึ่งมีต้นทุนการผลิตจากน้ำมันเป็นหลัก ส่งผลให้ในช่วง 2 เดือนข้างหน้านี้ มีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นจากปัจจุบันที่ 3.5% เพิ่มเป็น 3.7% ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันให้การตัดสินใจของ Fed มีความยากลำบากมากขึ้น หรือระมัดระวังมากขึ้นในการปรับลดดอกเบี้ย โดยจะกลับมาให้น้ำหนักในการควบคุมเงินเฟ้อเป็นเป้าหมายหลัก ส่งผลให้มีความเป็นไปได้ยากที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับลดลงในช่วงกลางปีนี้ ซึ่งจะเสี่ยงต่อภาพของเศรษฐกิจและการลงทุนต่อไป

 

สำหรับภาวะ Stagflation คือสถานการณ์ที่เศรษฐกิจชะลอตัว แต่ต้นทุนการผลิตปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากต้นทุนน้ำมันที่เป็นต้นทุนการผลิตหลัก ดังนั้นจะมีผลกระทบต่อเนื่องต่อการผลิตและการใช้จ่ายที่ชะลอตัวลงตามไปด้วย อีกทั้งผู้ผลิตสินค้ายังปรับขึ้นราคาขายสินค้าได้ยากด้วย อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังไม่เข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจ

 

ขณะที่ความเสี่ยงของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของยุโรปเริ่มมีภาพที่ดูดีขึ้น หลังจาก GDP ในไตรมาส 1/24 ฟื้นตัวดีขึ้น 0.3% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยถือเป็นการขยายตัวกลับมาเป็นบวกครั้งแรก หลังจากช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมามีตัวเลขการขยายตัวที่ติดลบติดต่อกัน เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มยุโรปใต้ เช่น อิตาลี สเปน รวมถึงเศรษฐกิจของเยอรมนีกับฝรั่งเศส เริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้นบ้าง ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อของยุโรปที่ออกมาในระดับ 2.4% ยังมีตัวเลขที่ต่ำกว่าของสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับ 3.5% จึงมีโอกาสสูงกว่าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเริ่มทยอยปรับลดดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยของ ECB ลงจำนวน 3 ครั้งในปีนี้

 

เศรษฐกิจจีน สัญญาณชะลอตัวกว่าคาด

 

ด้านภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศจีนขยายตัวชะลอลงกว่าคาด โดยเฉพาะการบริโภคที่ชะลอตัว อีกทั้งมีประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาคือ ภาคการเงินของจีน ซึ่งปัจจุบันจีนอยู่ในกับดักสภาพคล่อง โดยยอดปล่อยสินเชื่อรวมของจีนในเดือนเมษายนปีนี้ออกมาเติบโตติดลบเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ มาอยู่ระดับประมาณ 2 แสนล้านหยวน บ่งชี้ภาคการเงินของจีนกำลังหดตัว

 

ขณะที่เศรษฐกิจของไทยมีสัญญาณของการชะลอตัว โดยประเมินว่า GDP ของไทยไตรมาส 1/24 ที่จะประกาศตัวเลขออกมาในสัปดาห์หน้าจะขยายตัวประมาณ 0-1% มาจากการบริโภคที่ขยายตัวเล็กน้อย ขณะที่การลงทุนเอกชนไม่ขยายตัว ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวแรงขึ้น 

 

นอกจากนี้ ประเมินว่าแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โอกาสน่าจะถูกปิดไปแล้ว เนื่องจากปัจจัยอัตราเงินเฟ้อของไทยที่มีแนวโน้มขยับขึ้น ล่าสุดในเดือนเมษายนปีนี้ที่พลิกบวกครั้งแรกในรอบ 7 เดือน อยู่ที่ระดับ 0.2% อีกทั้งมีความเสี่ยงจะเห็นการทยอยปรับแตะระดับ 3% ในช่วงปลายปี 2024 โดยทั้งปีนี้คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของไทยจะอยู่ที่ประมาณ 0.8% จากผลกระทบของต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นตามต้นทุนราคาน้ำมัน อีกทั้งค่าเงินบาทที่มีทิศทางอ่อนค่ามีผลกระทบให้ต้นทุนนำเข้าปรับเพิ่มขึ้น

 

ดร.ปิยศักดิ์ มีมุมมองการลงทุนในสหรัฐฯ ว่า ถือเป็นเศรษฐกิจที่มีศักยภาพการลงทุน โดยมีคำแนะนำสินทรัพย์ลงทุนของสหรัฐฯ เป็น Slightly Overweight ในฝั่งของตลาดหุ้นยุโรป มูลค่าหุ้นได้สะท้อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไปแล้ว จึงแนะนำให้ระมัดระวังการลงทุนจากความเสี่ยงของแนวโน้มค่าเงินยูโรที่อ่อนค่า 

 

ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ค่อนข้างดี แต่ในส่วนของมูลค่าหุ้นถือว่าปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับสูง ด้านตลาดหุ้นจีนมีคำแนะนำ Slightly Overweight ในส่วนตลาดหุ้นไทยมีมุมมองว่าสามารถลงทุนได้จากมูลค่าปัจจุบันที่ถือว่ามีความน่าสนใจ ในส่วนตลาดหุ้นอินเดียและเกาหลีใต้แนะนำเป็น Neutral

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X