×

57% คนรุ่นใหม่ฝันอยากเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ แต่ความจริงโหดร้ายกว่าที่คิด เผยครึ่งหนึ่งรายได้ต่ำกว่า 5 แสนบาทต่อปี ขณะที่ต้องทำงานหนักแทบไม่มีวันหยุด

20.02.2025
  • LOADING...
influencer-reality

ความฝันของคนรุ่นใหม่กำลังเปลี่ยนไป ผลสำรวจล่าสุดจาก Morning Consult ในปี 2023 เผยตัวเลขที่ว่า 57% ของคน Gen Z ใฝ่ฝันอยากเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ และไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่เท่านั้น ผู้ใหญ่ถึง 41% ก็อยากเปลี่ยนมาทำอาชีพนี้เช่นกัน

 

Victoria Bachan ประธานฝ่ายบริหารจัดการบุคลากรของบริษัท Whalar เผยว่าแรงจูงใจมีหลากหลาย บางคนหวังจะมีชื่อเสียงและเงินทอง บางคนต้องการพื้นที่แสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ ขณะที่หลายคนแค่อยากมีชุมชนออนไลน์ที่เข้าใจตัวเอง

 

Taylor Lorenz พิธีกรพอดแคสต์ด้านเทคโนโลยีและวัฒนธรรม และผู้เขียนหนังสือ Extremely Online กล่าวว่า “หลายคนเข้าใจผิดว่าอาชีพนี้ง่าย แต่ความจริงแล้วมันเหมือนกับการบริหารบริษัทสื่อของตัวเอง เหมือนกับสตาร์ทอัพที่ส่วนใหญ่ล้มเหลว ธุรกิจสื่อก็เช่นกัน”

 

จากผู้ใช้โซเชียลมีเดียทั่วโลกกว่า 4.2 พันล้านคน มีเพียง 200 ล้านคน หรือ 4.7% เท่านั้นที่สามารถสร้างรายได้จากแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้ และที่น่าตกใจกว่าคือ 48% ของครีเอเตอร์มีรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นดอลลาร์ต่อปี (ประมาณ 5 แสนบาท) มีเพียงไม่ถึง 30% ที่สร้างรายได้มากกว่า 5 หมื่นดอลลาร์ต่อปี (ประมาณ 1.7 ล้านบาท)

 

Hannah Williams วัย 27 ปี เจ้าของช่อง Salary Transparent Street บน TikTok ที่มีผู้ติดตามกว่า 1.4 ล้านคน คือตัวอย่างของผู้ที่ประสบความสำเร็จ หลังลาออกจากงานนักวิเคราะห์ข้อมูลในปี 2022 ธุรกิจของเธอสร้างรายได้มากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 33.70 ล้านบาท) ในปี 2023 แต่ต้องแลกมาด้วยการทำงานหนัก

 

“มันเป็นงานที่ไม่มีวันหยุด ตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน เมื่อโลกออนไลน์ยังทำงานเราก็ต้องทำงานด้วย” Hannah เผยว่าเธอเริ่มงานตั้งแต่ 8 โมงเช้า ทั้งตอบอีเมล ตัดต่อวิดีโอ วางแผนคอนเทนต์ ช่วงเที่ยงถึงบ่าย 3 ประชุมกับลูกค้า

 

พักช่วงสั้นๆ ตอน 4 โมงเย็น ก่อนกลับมาทำงานต่อตั้งแต่ 6 โมงเย็นจนถึงเที่ยงคืน นอกจากนี้ยังต้องเดินทางบ่อยเพื่อถ่ายทำคอนเทนต์ และต้องโพสต์อย่างน้อยวันละครั้ง

 

Caroline Lasher อินฟลูเอ็นเซอร์วัย 22 ปี เจ้าของบัญชี Instagram ที่มีผู้ติดตามกว่า 1.26 แสนคน และ TikTok อีกเกือบ 8.5 หมื่นคน สร้างรายได้เฉลี่ยมากกว่า 1 หมื่นดอลลาร์ต่อเดือน (ประมาณ 3.4 แสนบาท) จากการร่วมงานกับแบรนด์และลิงก์แนะนำสินค้า

 

เธอต้องเป็นทั้งช่างภาพ ช่างวิดีโอ และตัดต่อทุกอย่างด้วยตัวเอง ตื่นตั้งแต่ 8 โมงเช้าเพื่อเช็กอีเมลและสัญญา ก่อนออกไปถ่ายภาพตามสถานที่สาธารณะพร้อมขาตั้งกล้อง กลับมากินข้าวเย็นและพักผ่อนสั้นๆ ก่อนตัดต่องานต่อจนถึง 4 ทุ่ม

 

เธอยอมรับว่าเคย ‘หมดไฟ’ หลายครั้ง แต่ไม่กล้าหยุดพักนาน เพราะกลัวว่าการหายไปแม้ไม่กี่วันจะกระทบกับยอดผู้ชมเมื่อกลับมา นอกจากนี้การทำงานกับแบรนด์ก็ไม่ง่าย Victoria Bachan เผยว่า “บ่อยครั้งที่ไทม์ไลน์และสัญญาถูกละเลย แบรนด์ต้องการอะไรก็ต้องได้ตามนั้น ไม่ว่าจะเมื่อไรหรืออย่างไร”

 

Leslie Mosier เจ้าของเพจ Doug the Pug ที่มีผู้ติดตามบน Facebook กว่า 5.7 ล้านคน TikTok กว่า 6.1 ล้านคน และ YouTube กว่า 6.34 แสนคน เผยว่า ความท้าทายไม่ได้มีแค่การทำงานหนัก แต่ยังต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของแพลตฟอร์มตลอดเวลา

 

“ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ไม่มีอะไรคงที่เกิน 6 เดือน เราต้องปรับตัวตลอด 9 ปีที่ผ่านมา” เธอระบุ

 

นอกจากนี้การเป็นบุคคลสาธารณะยังต้องเผชิญกับด้านมืดของโซเชียลมีเดีย Taylor Lorenz เผยว่า “ครีเอเตอร์ได้รับข้อเสียของการเป็นคนดัง ทุกคนที่ฉันเคยคุยด้วยต้องเจอกับการคุกคามออนไลน์ การเกลียดชัง และการสะกดรอยตาม”

 

อย่างกรณีของ Hannah Williams และสามีที่เป็นคู่รักต่างเชื้อชาติ ต้องเจอกับการเหยียดเชื้อชาติและคอมเมนต์ร้ายๆ เกือบทุกวัน เช่น พวกแกต้องหย่ากันแน่ๆ และเธอจะท้องภายในปีนี้

 

Caspar Lee อดีตยูทูบเบอร์ชื่อดังที่มีผู้ติดตามกว่า 6.5 ล้านคน ซึ่งเคยได้สัมภาษณ์ดาราดังอย่าง Will Ferrell และ Kevin Hart ตัดสินใจลาวงการในปี 2019 เพราะรู้สึกว่าไม่ได้รักกระบวนการทำงานเหมือนแต่ก่อน

 

ปัจจุบันเขาผันตัวมาทำธุรกิจบริหารจัดการศิลปิน MVE Management และบริษัทร่วมลงทุน Creator Ventures เขาแนะนำว่าการจะประสบความสำเร็จในวงการนี้ต้องรู้จักใช้เครื่องมือที่มี กระจายคอนเทนต์ไปหลายแพลตฟอร์ม และหาจุดยืนที่ชัดเจน

 

พร้อมทิ้งท้ายว่า “อาชีพนี้ไม่ง่าย ต้องทำในสิ่งที่รักแม้จะไม่มีใครดูก็ตาม เพราะถ้าไม่รักจริงคุณจะไม่มีแรงสู้กับความท้าทายที่รออยู่”

 

ภาพ: Rawpixel.com / Shutterstock

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising