กระทรวงพาณิชย์เผย อัตราเงินเฟ้อไทยเดือนพฤศจิกายนลดลง 0.44% โดยลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และต่ำสุดในรอบ 33 เดือน สาเหตุมาจากมาตรการด้านพลังงานของภาครัฐที่ส่งผลให้สินค้ากลุ่มพลังงานราคาต่ำลง นอกจากนี้ สินค้าอุปโภคบริโภค เนื้อหมู ไก่สด และน้ำมันพืชก็มีราคาต่ำลง
โดยหากเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนและประเทศเศรษฐกิจหลัก (Major Economies) พบว่า ไทยมีอัตราเงินเฟ้อต่ำที่สุด และมีอัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าญี่ปุ่นซึ่งเคยเผชิญกับภาวะเงินฝืดหรือภาวะเงินเฟ้อต่ำมาหลายปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือยัง? หลัง CPI ติดลบ 2 เดือนติด หนักสุดรอบ 33 เดือน ต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย 7 เดือนติดต่อกัน!
- พาณิชย์ยืนยัน ไทยไม่เข้าข่าย ‘เงินฝืด’ หลังเงินเฟ้อติดลบ 0.44% ใน พ.ย. หนักสุดในรอบ 33 เดือน เตือน ธ.ค. ติดลบต่อ
บุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกำลังซื้อในประเทศ และโมเมนตัมของเศรษฐกิจในประเทศอ่อนแอ เห็นได้จากตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ขยายตัวเพียง 1.5% ซึ่งชะลอตัวจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 1.8%
นอกจากนี้ อาจเป็นผลมาจากตะกร้าสินค้าในดัชนี CPI ที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ “ในประเทศไทย ราคาพลังงานและอาหารคิดเป็นสัดส่วนถึงราว 30% ของตะกร้า CPI แล้ว ส่วนอีก 70% ที่เหลืออาจเป็นผลมาจากแนวโน้มทางเศรษฐกิจ” บุรินทร์กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับสาเหตุที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อลาวและเมียนมาสูงกว่า 25% ส่วนใหญ่มาจากการอ่อนค่าของเงินกีบและเงินจ๊าด โดยในลาว 1 ใน 3 ของสินค้าที่ใช้ในการคำนวณในตะกร้า CPI ที่มีราคาเพิ่มขึ้นล้วนเป็นสินค้านำเข้า
ภาพประกอบ: กันยกร กาญจนวิไล