×

พิษเงินเฟ้อพุ่งฉุดดาวโจนส์ร่วงต่อเนื่อง นักลงทุนยังแห่ขายบอนด์กดดันยีลด์พุ่งแตะ 1.9% จับตาราคาน้ำมันมีโอกาสเห็นระดับ 100 ดอลลาร์

20.01.2022
  • LOADING...
พิษเงินเฟ้อพุ่งฉุดดาวโจนส์ร่วงต่อเนื่อง

ความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงในเวลานี้ทำให้นักลงทุนยังคงชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นวอลล์สตรีท แม้จะมีรายงานผลประกอบการประจำไตรมาสของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในตลาดที่เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อสูง ทำให้นักลงทุนหวั่นใจว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรงกว่าที่คาดการณ์กันไว้

 

โดยเมื่อวานนี้ (19 มกราคม) ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปิดตลาดปรับตัวลดลง 339.82 จุด หรือ 0.96% มาอยู่ที่ 35,028.65 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ลดลง 44.35 จุด หรือ 0.97% ที่ 4,532.76 จุด และดัชนี Nasdaq ลดลง 166.64 จุด หรือ 1.15% ปิดที่ 14,340.26 จุด

 

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการซื้อขายในตลาดวอลล์สตรีทโดยรวมเมื่อวานนี้ ถือได้ว่าฟื้นตัวขึ้นเมื่อเทียบกันวันก่อน เพียงแต่ยังไม่มากพอที่จะขึ้นกลับมาอยู่ในแดนบวก เนื่องจากนักลงทุนยังหวั่นใจกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed จึงต้องการรอดูสถานการณ์เงินเฟ้อต่อไปอีกสักระยะ ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อยังทำให้ตลาดหุ้นไม่คึกคักสดใสเท่าที่ควร แม้ว่าจะมีรายงานผลประกอบการรายไตรมาสของเอกชนยักษ์ใหญ่หลายรายที่เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง อย่าง Bank of America ที่มีรายได้เกินคาด ทำให้หุ้นของธนาคารฟื้นกลับขึ้นมาได้ 1% 

 

ขณะที่หุ้นของ Morgan Stanley ขยับขึ้น 2.5% เพราะมีผลกำไรไตรมาส 4 ปี 2021 มากกว่าที่คาดการณ์กันไว้ และหุ้นของ Procter & Gamble ที่เพิ่มขึ้น 1.4% จากรายงานรายได้ที่มากเกินคาด

 

นักวิเคราะห์มองว่าการตอบสนองของนักลงทุนสะท้อนให้เห็นความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อที่อาจจะกลายเป็นภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายจนฉุดรายได้ของบริษัทเหล่านี้ในอนาคตอันใกล้ และเป็นอีกหนึ่งแรงกดดันให้ Fed ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็ววัน

 

หุ้นที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดเมื่อวานนี้ยังคงเป็นหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะหุ้นของ Sony ที่ดิ่งลงถึง 2.7% อันเป็นผลจากข่าวเข้าซื้อบริษัทเกมของ Microsoft จนหลายฝ่ายเกรงว่าเครื่องเล่นเกม PlayStation อาจไม่ใช่คู่แข่งของ Xbox อีกต่อไป

 

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี เปิดตลาดในช่วงเช้าขยับขึ้นมาอยู่ที่ 1.9% ก่อนย่อตัวลงมาเล็กน้อย ปิดที่ 1.854% และยังคงทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 2 ปี

 

ส่วนราคาน้ำมันดิบยังคงขยับปรับตัวขึ้นเป็นวันที่ 4 ติดต่อกัน และทำสถิติแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี โดยน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส งวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ ปิดที่ 85.13 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนือ ปิดที่ 87.71 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

 

ทั้งนี้ ปัจจัยดันน้ำมันพุ่งเป็นผลจากความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งในตะวันออกกลางจะส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิต

 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันปีนี้มีสิทธิพุ่งแตะ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ภายในปีนี้ และราคาน้ำมันจะอยู่ในภาวะขาขึ้นลากยาวไปจนถึงปี 2023 โดยปัจจัยน้ำมันขาขึ้นมาจากโครงสร้างพื้นฐานที่ฟื้นตัวกลับมาได้แข็งแกร่ง บวกกับปริมาณซัพพลายน้ำมันในตลาดที่ลดน้อยลง และการลดการกระตุ้นของกลุ่มโอเปกและพันธมิตร ซึ่ง Goldman Sachs ประเมินว่าปริมาณน้ำมันในคลังสำรองของประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วจะปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2000

 

ด้านราคาทองคำได้แรงหนุนจากภาวะเงินเฟ้อ ทำให้ราคาทองคำยังทรงตัวอยู่ในแดนบวก เพราะนักลงทุนเข้าเก็บทองเพื่อใช้ป้องกันเงินเฟ้อ โดยทองคำในตลาดฟิวเจอร์สปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.57% หรือ 30.80 ดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 1,843.20 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ทำสถิติแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X