สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สภาจังหวัดอาเจะห์ของอินโดนีเซีย เตรียมใช้กฎหมายชารีอะห์ปกป้องสัตว์ป่าและระบบนิเวศในพื้นที่ โดยจะลงโทษพวกลักลอบล่าสัตว์ป่าด้วยวิธีการเฆี่ยนหลัง 100 ครั้งต่อหน้าสาธารณชน และอาจรวมถึงต้องจ่ายค่าปรับเป็นทองคำมูลค่า 1,000 กรัม (ราว 65.6 บาท)
นอกเหนือไปจากการรับโทษตามกฎหมายของรัฐบาลกลางในกรุงจาการ์ตาที่สั่งจำคุกและปรับเป็นจำนวนเงินมหาศาล
ในขณะที่เจ้าหน้าที่ที่ละเลยและบกพร่องต่อการปฏิบัติหน้าที่ก็จะถูกลงโทษด้วยการเฆี่ยนหลังต่อหน้าสาธารณชนสูงถึง 60 ครั้ง โดยร่างกฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป
สภาจังหวัดระบุว่า อาเจะห์ถือเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ เป็นศูนย์กลางความหลากหลายของระบบนิเวศที่สำคัญแห่งหนึ่งของเกาะสุมาตราและอินโดนีเซีย
ร่างกฎหมายดังกล่าวนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการบัญญัติให้การทำลายธรรมชาติ ลักลอบล่าสัตว์ป่าถือเป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมายศาสนาอย่างชารีอะห์ ที่โดยทั่วไปแล้วมักจะใช้ลงโทษเกี่ยวกับการประพฤติผิดทางสังคม เช่น การลักขโมย การเล่นการพนัน การคบชู้ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ของคู่รักเพศเดียวกันหรือมีเพศสัมพันธ์กันก่อนแต่งงาน
โดยยืนยันว่าการรักษาและปกป้องสมดุลของธรรมชาติถือเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายอิสลามเช่นเดียวกัน
ทางด้านกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนเรียกร้องว่า ในหลายกรณีที่การเฆี่ยนตีต่อหน้าสาธารณชนเป็นการกระทำที่โหดร้ายรุนแรง แม้ประธานาธิบดีโจโก วีโดโดจะพยายามเรียกร้องให้ยุติการใช้วิธีการดังกล่าว
แต่ในทางปฏิบัติ ประชาชนกว่า 98% ในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ราว 5 ล้านคนนี้ ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมและสนับสนุนการใช้กฎหมายชารีอะห์ลงโทษผู้กระทำผิดด้วยวิธีการนี้
ภาพ: Khalis Surry / Anadolu Agency via Getty Images
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: