วานนี้ (1 กรกฎาคม) ประธานาธิบดีโจโก วีโดโด ของอินโดนีเซียประกาศเตรียมดำเนินมาตรการควบคุมฉุกเฉินแก่เกาะชวาและบาหลี จุดหมายปลายทางของบรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวภายในประเทศ หลังโควิดยังคงแพร่ระบาดอย่างหนัก มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยในช่วง 7 วันที่ผ่านมาอยู่ที่ราว 2 หมื่นราย รวมถึงยอดผู้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและยอดผู้เสียชีวิตจากโควิดก็เพิ่มสูงขึ้น
มาตรการดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันเสาร์นี้ (3 กรกฎาคม) ไปจนถึง 20 กรกฎาคม โดยทางรัฐบาลตั้งเป้าที่จะลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้อยู่ในระดับ 1 หมื่นราย เพื่อลดความแออัดและการรองรับผู้ป่วยเกินขีดความสามารถของโรงพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะเขตพื้นที่สีแดงที่เตียงและออกซิเจนเริ่มขาดแคลน
มาตรการควบคุมฉุกเฉินนี้ทำให้หลายองค์กรยังคงต้อง Work from Home หลีกเลี่ยงการออกไปยังพื้นที่สาธารณะโดยไม่จำเป็น สถานศึกษาอย่างโรงเรียนและมหาวิทยาลัยจะยังคงปิดการเรียนการสอน พื้นที่สาธารณะอย่างชายหาด สวนสาธารณะ สถานที่ท่องเที่ยว และสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาจะต้องปิดให้บริการ โดยร้านอาหารจะอนุญาตให้บริการเฉพาะซื้อกลับไปทานที่บ้านเท่านั้น
ทางด้าน กัสตี นูราห์ มาหาร์ดิกา (Gusti Ngurah Mahardika) อาจารย์ด้านไวรัสวิทยาประจำมหาวิทยาลัยอูดายานาบนเกาะบาหลีระบุ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 4 เท่า ภายในช่วง 2 สัปดาห์ มาตรการควบคุมฉุกเฉินอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ อาจจำเป็นต้องมีมาตรการเยียวยาอื่นๆ เพิ่มเติม เนื่องจากประชาชนจำนวนไม่น้อยเริ่มมีปัญหาทางด้านการเงิน
ขณะที่ ดร.ดิกกี บูดิมัน (Dr.Dicky Budiman) นักระบาดวิทยาและที่ปรึกษาการร่างแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการโรคระบาด 20 ปี ของกระทรวงสาธารณสุขเผยว่า “ปัญหาสำคัญของอินโดนีเซียคือเรามีการตรวจหาเชื้อที่ต่ำมาก บุคคลที่มีอาการและเดินทางมายังโรงพยาบาลเท่านั้นที่จะได้รับการตรวจหาเชื้อฟรี ขณะคนอื่นๆ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อ โดยผมคาดว่าอาจมีผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างน้อย 2 แสนรายทั่วประเทศขณะนี้”
ส่วนนักไวรัสวิทยารายหนึ่งบนเกาะชวาและเป็นที่ปรึกษาของกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซียระบุ “เมื่อเราไปโรงพยาบาล เราจะเห็นผู้ป่วยเต็มไปหมด แต่จริงๆ แล้วนี่เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็ง ราว 10-15% ของผู้ป่วยในอินโดนีเซียที่ตัดสินใจมาโรงพยาบาลเท่านั้น ส่วนที่เหลือนั้นเลือกที่จะรักษาตัวอยู่บ้านเพราะพวกเขาต้องการที่จะอยู่กับครอบครัวของตัวเองมากกว่า
“สิ่งนี้เกิดขึ้นตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของเชื้อใหม่ๆ แต่เชื้อกลายพันธ์ุสายพันธุ์เดลตาที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้จะทำให้สถานการณ์ดังกล่าวรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะการติดเชื้อภายในบ้านจะเพิ่มสูงเป็น 100% นั่นหมายความว่าหากมีสมาชิกครอบครัวคนใดคนหนึ่งติดเชื้อเดลตา สมาชิกที่เหลือมีโอกาสเสี่ยงสูงมากที่จะติดเชื้อทั้งหมดและถ้าหากอาการรุนแรงขึ้น ก็จะยิ่งทำให้ประชาชนตัดสินใจเข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาลมากยิ่งขึ้น อย่างที่เราเคยเห็นในอินเดีย”
ล่าสุด อินโดนีเซียฉีดไปแล้วกว่า 42.74 ล้านโดส ยังคงเป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนต้านโควิดมากสุดในย่านอาเซียน มีชาวอินโดนีเซียราว 29.28 ล้านรายเข้ารับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส ขณะที่มีเพียง 13.47 ล้านราย หรือคิดเป็นเพียง 4.9% เท่านั้นที่เข้ารับวัคซีนครบโดสแล้ว ซึ่งถือว่ายังเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดทั่วประเทศกว่า 273 ล้านราย
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- โควิด-19 กลายพันธ์ุสายพันธ์ุต่างๆ มีชื่อเรียกใหม่ว่าอย่างไร
- สำรวจราคาวัคซีนต้านโควิด-19 ในประชาคมโลก โดสละเท่าไร
- ผลข้างเคียงวัคซีนต้านโควิด-19 ในประชาคมโลก อาการเป็นอย่างไรบ้าง
- เช็กประสิทธิภาพวัคซีนต้านโควิด-19 ล่าสุด
ภาพ: Johanes Christo / NurPhoto via Getty Images
พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น
อ้างอิง:
- https://www.aljazeera.com/news/2021/7/1/emergency-curbs-in-indonesias-java-and-bali-amid-covid-surge
- https://www.reuters.com/world/asia-pacific/indonesia-emergency-covid-19-curbs-be-effective-july-2-20-minister-2021-07-01/
- https://www.channelnewsasia.com/news/asia/indonesia-covid-19-emergency-restrictions-ppkm-java-bali-15115348