×

ในอินโดนีเซียทุกสายตาต่างมอง ‘Indomie’ แบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชื่อดัง เป็นเกณฑ์ชี้วัดเงินเฟ้อ

16.06.2022
  • LOADING...
Indomie

ในขณะที่คลื่นกระแทกจากสงครามยูเครนที่ส่งระลอกออกไปทั่วโลก ผู้คนในอินโดนีเซียมีความกังวลเกี่ยวกับการจ่ายเงินเพื่อซื้ออาหารบนโต๊ะมากขึ้น โดยเฉพาะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่พวกเขาโปรดปราน

 

ราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะเพิ่มขึ้นตามการคาดการณ์ของ แอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีประสานงานด้านเศรษฐกิจของชาวอินโดนีเซีย ในการประชุมประจำปีของ World Economic Forum ในเมืองดาวอส เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคม เขาแสดงความกังวลในบริบทของความไม่มั่นคงของข้าวสาลีทั่วโลก อันเนื่องมาจากวิกฤตในยูเครน

 

แอร์ลังกาอาจมี Indomie ซึ่งเป็นแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ได้รับความนิยมในอินโดนีเซียซึ่งผลิตโดย Indofood Sukses Makmur เป็นตัวชี้วัดหลัก เพราะมีรสชาติหลากหลาย ราคาจับต้องได้ และครองใจคนทั่วไป

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 


 

ความต้องการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของชาวอินโดนีเซียสูงถึง 1.33 หมื่นล้านซองในปี 2021 เป็นรองเพียง 4.4 หมื่นล้านซองของจีนแผ่นดินใหญ่ รวมถึงฮ่องกง ตามรายงานของสมาคมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโลก

 

โดยอินโดนีเซียครองอันดับ 1 ด้านการบริโภคต่อหัว โดยมีอัตราการบริโภคราว 50 ซองต่อคนต่อปี บะหมี่ส่วนใหญ่ที่บริโภคที่นี่คิดว่าเป็นอาหารสำเร็จรูปจาก Indofood รวมถึง Indomie ซึ่งราคาก็เชื่อมโยงโดยตรงกับวิถีชีวิตของผู้คน

 

ราคาอาหารกำลังขึ้น ข้าวสาลีซึ่งใช้สำหรับ Indomie มีราคาอยู่ที่ 11,600 รูเปียห์ต่อกิโลกรัม ณ วันที่ 8 มิถุนายน 2022 เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

 

Indomie ที่ร้านค้าโดยเฉลี่ยประมาณ 2,800 รูเปียห์ หรือราว 7 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ไม่แพงในประเทศที่มีค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนเท่ากับประมาณ 200 ดอลลาร์ หรือ 7,000 บาท

 

ราคาขายปลีกสะท้อนให้เห็นถึงการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนเมษายน แต่ Indofood ยังคงราคาของผลิตภัณฑ์ไว้ไม่เปลี่ยนแปลง ด้วยราคาข้าวสาลีที่พุ่งสูงขึ้น ผู้บริโภคจำนวนมากและรัฐบาลของประธานาธิบดี โจโก วีโดโด ต่างก็เฝ้าติดตามราคาของ Indomie อย่างใกล้ชิด

 

Indofood มีรายได้ที่แข็งแกร่ง โดยกำไรสุทธิของกลุ่มพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 ปีในปี 2021 จุดแข็งนี้ได้รับแรงหนุนจากยอดขายของ Indomie ซึ่งทำหน้าที่เป็นอาหารที่สะดวกสบายสำหรับผู้ที่ติดอยู่ที่บ้านท่ามกลางข้อจำกัดของโรคโควิด

 

เมื่อสอบถามเกี่ยวกับการขึ้นราคา เจ้าหน้าที่ของ Indofood กล่าวว่า บริษัทจะพิจารณาราคาวัตถุดิบและราคาส่วนผสม เศรษฐกิจ และกำลังซื้อของผู้บริโภค เป็นหลัก

 

สำหรับในไทย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็ถูกมองเป็นเกณฑ์ชี้วัดเงินเฟ้อเช่นกัน เมื่อเร็วๆ นี้ บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภครายใหญ่ในไทย ได้ออกมาระบุว่า สหพัฒน์ได้รับผลกระทบจากต้นทุนราคาวัตถุดิบและราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ‘มาม่า’ ที่ผลิตจากแป้งสาลีและน้ำมันปาล์ม 

 

แน่นอนว่าหากไม่ขยับราคา สหพัฒน์ต้องแบกรับต้นทุนมากขึ้น ซึ่งอยู่ระหว่างรออนุญาตจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ โดยก่อนหน้านี้ได้ขอปรับราคาสินค้า ซึ่งสินค้าหลายรายการ เช่น มาม่า และผงซักฟอก รวมถึงสินค้าอีกหลายรายการที่เป็นสินค้าควบคุม

 

โดยหากรัฐควบคุมการขึ้นราคาสินค้านานเกินไป ผู้ผลิตอาจลดกำลังการผลิตลงหรือชะลอการผลิต อาจทำให้เกิดการกักตุนสินค้า และท้ายที่สุดสินค้าก็ขาดตลาด แต่หากปล่อยให้ทยอยปรับขึ้นก็จะไม่เกิดปัญหาขึ้น โดยสหพัฒน์ได้พยายามสต๊อกสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค

 

ก่อนหน้านี้ เวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) หรือ SPC กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ต้นทุนทุกอย่างเพิ่มขึ้นแบบไม่เคยคิดฝันในชีวิต ทำให้มาม่าน่าจะต้องปรับขึ้นราคาหากภาครัฐอนุญาต เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

 

ปัจจุบันมาม่าจำหน่ายราคาปลีกที่ซองละ 6 บาท ซึ่งเวทิตระบุว่า “ราคา 7 บาทอาจจะไม่เพียงพอ ส่วนจะเป็นเท่าไรนั้นตอนนี้ยังตอบไม่ได้ แต่เราจะทำให้กระทบผู้บริโภคน้อยที่สุด”

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising