กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) เปิดเผยผลข้อมูลอัปเดตล่าสุดเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (19 เมษายน) โดยพบว่าอินเดียกำลังจะแซงหน้าจีนขึ้นแท่นเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกภายในช่วงกลางปีนี้
โดยรายงานสถานการณ์ประชากรโลกปี 2023 (State of World Population Report, 2023) ของ UNFPA คาดการณ์ว่า อินเดียจะมีจำนวนประชากรอยู่ที่ 1,428,600,000 คนภายในกลางปี 2023 ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรของจีนแผ่นดินใหญ่เกือบ 30 คน โดยจำนวนประชากรจีนในช่วงกลางปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1,425,700,000 คน
ส่วนประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกเป็นอันดับที่ 3 คือสหรัฐอเมริกา ซึ่งตามสองอันดับแรกคืออินเดียและจีนมาแบบห่างๆ ด้วยจำนวนประชากรประมาณ 340,000,000 คน
ทั้งนี้ ข้อมูลการสำรวจจำนวนประชากรโลกล่าสุดนี้ประเมินจากข้อมูลสำมะโนประชากรของทั่วโลกจนถึง ณ เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2023
ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรที่ใช้ข้อมูลก่อนหน้านี้ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ได้คาดการณ์เอาไว้ว่า จำนวนประชากรอินเดียจะแซงหน้าจีนในเดือนนี้ (เมษายน 2023) แต่ในรายงานฉบับล่าสุดของ UNFPA ไม่ได้ระบุแบบเฉพาะเจาะจงว่าจำนวนประชากรของอินเดียจะแซงหน้าจีนเมื่อใด แค่ประเมินกรอบระยะเวลาคร่าวๆ ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในช่วงกลางปี
เจ้าหน้าที่ด้านประชากรของ UN กล่าวว่า ไม่สามารถระบุวันที่ที่แน่ชัดได้ เนื่องจากความไม่แน่นอนของข้อมูลทั้งจากอินเดียและจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเดียที่มีการสำรวจประชากรครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2011 และการสำรวจครั้งใหม่มีกำหนดจัดทำในปี 2021 แต่ต้องชะลอออกไปเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด
อย่างไรก็ตาม ทิศทางประชากรโลกดังกล่าวเป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า หลังจากที่ตัวเลขการเติบโตของจำนวนประชากรจีนลดลง โดยเมื่อปี 2022 จำนวนประชากรลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1960 ซึ่งก่อนหน้านี้องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่าประชากรของจีนจะลดลงเหลือ 1,313,000,000 คนภายในปี 2050 และลดลงต่ำกว่า 800,000,000 คนภายในปี 2100
นอกจากนี้ แม้ว่าจำนวนประชากรอินเดียและจีนจะได้ชื่อว่ามีมากที่สุดในโลก โดยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ของประชากรโลกทั้งหมดที่ประมาณ 8,045,000,000 คน แต่การเติบโตของประชากรทั้งในอินเดียและจีนกลับชะลอตัวลง ซึ่งอัตราการเติบโตของประชากรจีนลดลงเร็วกว่าอินเดีย
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า นโยบายลูกคนเดียวที่มีมาอย่างยาวนานของประเทศจีน ซึ่งได้มีการแก้ไขเป็นอนุญาตให้มีลูก 2 คนในปี 2016 และ 3 คนในปี 2021 มีส่วนทำให้จำนวนประชากรจีนลดลง อย่างไรก็ตาม ตัวเลขจำนวนประชากรจีนของสหประชาชาติไม่ได้รวมเขตปกครองพิเศษฮ่องกงซึ่งประเมินไว้ที่ 7,500,000 คน และมาเก๊าที่ 700,000 คน
ในส่วนของอินเดียซึ่งอ้างอิงตามข้อมูลของรัฐบาลอินเดียพบว่า นับตั้งแต่ปี 2011 อัตราการเติบโตของประชากรชาวอินเดียโดยเฉลี่ยลดลงมาอยู่ที่ 1.2% จาก 1.7% ในช่วง 10 ปีก่อนหน้า โดย 26% ของประชากรชาวอินเดียมีอายุระหว่าง 10-24 ปี ขณะที่สัดส่วนประชากรในช่วงอายุดังกล่าวอยู่ที่ 18%
ทั้งนี้ ในรายงานสถานะประชากรโลกปี 2023 ทาง UNFPA กล่าวถึงจำนวนประชากรโลกที่เกิน 8,000,000,000 คนในเดือนพฤศจิกายน 2022 โดยเตือนไม่ให้ใช้ประเด็นจำนวนประชากรเป็นข้อจำกัดในการลบสิทธิมนุษยชนและอิสระในการอภิปรายว่าการเติบโตของประชากรเป็นปัญหาหรือไม่
Natalia Kanem ผู้อำนวยการบริหาร UNFPA ระบุว่า การสืบพันธุ์ของมนุษย์ไม่ใช่ทั้งปัญหาและทางออกในการเผชิญกับความท้าทายต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคระบาด ความขัดแย้ง การพลัดถิ่นจำนวนมาก และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 10 อันดับประเทศที่ประชากรมากที่สุดในโลก ประจำปี 2022
- ‘นิวยอร์ก’ ยังรั้งเบอร์ 1 เมืองศูนย์กลางการเงินโลก สิงคโปร์แซงหน้าฮ่องกงขึ้นอันดับ 3 ส่วน ‘ไทย’ ตกไปอยู่ที่ 61
- ‘ญี่ปุ่น’ แชมป์พาสปอร์ตทรงอิทธิพลปี 2022 เที่ยวได้ 193 จุดหมายปลายทางโดยไม่ต้องขอวีซ่า ขณะไทยตกไปอยู่อันดับที่ 70
อ้างอิง: