ระบบการขนส่งความเร็วสูงอย่าง ‘Hyperloop’ (ไฮเปอร์ลูป) ถือเป็นอนาคตเเห่งโลกของการเดินทางที่น่าจับตามองอย่างแท้จริง เพราะช่วยร่นระยะเวลาในการเดินทางได้สั้นลงถึงหลายเท่าตัว
และนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีไม่น้อย เมื่อล่าสุดหนึ่งในประเทศในเอเชียอย่าง ‘อินเดีย’ ได้บรรลุข้อตกลงการทำสัญญาร่วมกับหนึ่งในบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีการคมนาคมไฮเปอร์ลูปจากสหรัฐอเมริกา HTT: Hyperloop Transportation Technologies เพื่อดำเนินการก่อสร้างและติดตั้งรางวิ่งพอดลำเลียงผู้โดยสารความเร็วสูง
จากการเปิดเผยเมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมาระบุว่า ข้อตกลงในครั้งนี้เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่าง HTT และรัฐอานธรประเทศ (Andhra Pradesh) ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย โดยทาง HTT จะใช้ระยะเวลา 6 เดือนในการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการสร้างรางไฮเปอร์ลูปที่จะเชื่อมต่อระหว่างเมืองวิเจยาวารา (Vijayawada) วิ่งตรงไปยังเมืองอมรวดี (Amaravati) ในระยะทางกว่า 27 ไมล์ หรือประมาณ 43.5 กิโลเมตร โดยที่ยังไม่ได้เปิดเผยถึงระยะเวลาในการก่อสร้าง
แต่หากการศึกษาดังกล่าวบรรลุผลจนสามารถดำเนินการติดตั้งได้แล้วเสร็จ รางไฮเปอร์ลูปดังกล่าวจะช่วยให้ระบบการเดินทางสัญจรของประชากรอินเดียสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น จากที่เคยต้องใช้เวลาเดินทางมากกว่า 1 ชั่วโมงในสภาพการจราจรที่คับคั่งก็จะลดถึง 10 เท่าตัว เหลือเพียงแค่ 6 นาทีเท่านั้น!
คริชนา คิชอว์ (Krishna Kishore) ผู้บริหารสูงสุดประจำคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐอานธรประเทศเผยว่า “เพื่อที่จะเสริมสร้างภาพลักษณ์ของการเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีแห่งอนาคต อมรวดีกำลังรอคอยอย่างใจจดใจจ่อที่จะได้ร่วมงานกับบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีการคมนาคมไฮเปอร์ลูป HTT”
สำหรับอินเดีย พวกเขาถือเป็นชาติล่าสุดที่ตบเท้าร่วมเป็นพันธมิตรในการสร้างระบบการขนส่งความเร็วสูงไฮเปอร์ลูปร่วมกับ HTT เคียงข้างอีก 7 ประเทศที่เหลืออย่าง เกาหลีใต้, อินโดนีเซีย (จาการ์ตา) สาธารณรัฐเช็ก (เบอร์โน), สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (อาบูดาบี), ฝรั่งเศส (ตูลูส), สโลวาเกีย (บราติสลาวา) และสหรัฐอเมริกา (คีแวลลีย์ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย)
อ้างอิง: