×

เด็กหญิงอินเดียกว่า 21 ล้านคนถูกครอบครัวเมิน เหตุเพราะค่านิยมลูกชายดีกว่า

30.01.2018
  • LOADING...

รัฐบาลอินเดียระบุว่า ค่านิยมที่ต้องการจะมีลูกชายซึ่งฝังรากลึกอยู่ในสังคมอินเดียส่งผลให้มีเด็กผู้หญิงที่ครอบครัวไม่ต้องการและเลือกปฏิบัติต่อพวกเธอมากกว่า 21 ล้านคนในปัจจุบัน ซึ่งการอัลตราซาวด์เพื่อทดสอบดูเพศของเด็กทารกในครรภ์ถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายในอินเดีย แต่ก็ยังมีการลักลอบทำการทดสอบดังกล่าวจำนวนมาก และอาจนำไปสู่การทำแท้งเพื่อเลือกเพศลูกได้ในที่สุด

 

 

จากงานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ลงในวารสารทางการแพทย์ของอังกฤษอย่าง The Lancet เมื่อปี 2011 พบว่าหญิงตั้งครรภ์ในอินเดียตัดสินใจทำแท้งทารกเพศหญิงสูงถึง 12 ล้านคนตลอดช่วงระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งทางการอินเดียยังเผยว่ามีผู้หญิงกว่า 63 ล้านคนหายไปจากจำนวนประชากรทั้งหมดของอินเดีย เนื่องจากค่านิยมดังกล่าวที่นำไปสู่การทำแท้งเพื่อเลือกเพศของเด็กในครรภ์ รวมถึงการเลือกปฏิบัติราวกับพวกเธอเป็นสมาชิกชั้นสองของครอบครัว

 

 

แต่อย่างไรก็ตาม ครอบครัวในอินเดียจำนวนมากวางแผนจะมีลูกจนกว่าจะได้ลูกชาย โดยรัฐบาลยืนยันว่า “ครอบครัวที่มีลูกชายแล้วหนึ่งคนมีแนวโน้มที่จะยุติการมีลูก มากกว่าครอบครัวที่มีลูกเป็นผู้หญิง โดยเขาจะมีลูกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ลูกชาย และจะค่อยๆ ยุติการมีลูกลงหลังจากนั้น”

 

 

เหตุผลสำคัญที่ทำให้หลายครอบครัวในอินเดียต้องการที่จะมีลูกชายให้ได้เป็นเพราะ ผู้ชายจะเป็นผู้สืบทอดมรดกและอำนาจของครอบครัวต่อไป ไม่ใช่ผู้หญิง นอกจากนี้ถ้าหากคุณต้องการที่จะให้ลูกสาวแต่งงาน บ้านฝ่ายเจ้าสาวจะต้องเป็นผู้ตระเตรียมสินสอดทองหมั้น รวมถึงเหตุผลทางด้านแรงงาน ครั้นเมื่อลูกสาวแต่งงานออกเรือนไป ลูกสาวจะกลายเป็นสมาชิกครอบครัวของทางฝ่ายสามีไปโดยปริยาย

 

 

จึงทำให้เกิดความเชื่อมากมายที่อาจยังไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ถึงวิธีการที่จะทำให้ได้มาซึ่งลูกชาย ทายาทคนสำคัญที่จะสืบทอดวงศ์ตระกูล ไม่ว่าจะเป็นการนอนหลับขณะหันหน้าไปทางทิศตะวันตก และการมีเพศสัมพันธ์เพียงแค่บางวันเท่านั้นในหนึ่งสัปดาห์ เพื่อให้อสุจิที่มีโครโมโซม Y มีโอกาสแข็งแรงมากที่สุด โดยในปัจจุบัน ปัญจาบและหรยาณาเป็นสองรัฐที่มีความต้องการลูกชายมากที่สุดในสังคมอินเดีย ซึ่งมีสัดส่วนเด็กผู้ชายที่อายุต่ำกว่า 7 ปีต่อเด็กผู้หญิงในช่วงวัยเดียวกันอยู่ที่ประมาณ 1,200:1,000 คน

 

Photo: AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X