×

เกิดอะไรขึ้นที่อินเดีย กับโควิด-19 ระลอก 2 ที่รุนแรง เตียงผู้ป่วยใกล้เต็ม ชีวิตที่สูญเสียเพราะปัญหาทรัพยากร

22.04.2021
  • LOADING...
เกิดอะไรขึ้นที่อินเดีย กับโควิด-19 ระลอกสองที่รุนแรง เตียงผู้ป่วยใกล้เต็ม ชีวิตที่สูญเสียเพราะปัญหาทรัพยากร

อินเดียกำลังเผชิญกับการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในระลอกที่สองที่รุนแรงถึงขั้นที่สำนักข่าว CNN เปรียบเทียบว่าเป็นเสมือน ‘สึนามิ’ ส่วน BBC เลือกใช้คำพาดหัวข่าวว่า ‘Devastating’ หรืออาจหมายความว่า ‘เสียหายอย่างหนัก’ ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงแตะระดับเป็นสถิติ ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้น ท่ามกลางปัญหาทรัพยากรที่ใช้รับมือกับการระบาด พร้อมด้วยความเสี่ยงที่เป็นไปได้จากปัจจัยต่างๆ

 

และนี่คือการสรุป 4 ประเด็นสำคัญ กับคำถามที่ว่าเกิดอะไรขึ้นที่อินเดีย ณ ขณะนี้

 

1. จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันที่พุ่งสูง และแซงหน้าระลอกแรกไปแล้ว

เมื่อดูกราฟผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวัน เราเริ่มเห็นว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในการระบาดรอบแรกตั้งแต่ราวเดือนพฤษภาคม 2020 กระทั่งมาสู่จุดสูงสุดในกลางเดือนกันยายน ที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันมากกว่า 90,000 ราย แล้วสถานการณ์จึงค่อยๆ ดีขึ้นจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเวลาที่การระบาดในระลอกที่สองเริ่มขึ้น

 

และเมื่อมาถึงการระบาดระลอกที่สอง จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันก็พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนแซงหน้าจุดพีกในการระบาดรอบแรกไปเรียบร้อยเมื่อต้นเดือนเมษายน และตัวเลขล่าสุดเมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมาพบว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในวันเดียวอยู่ที่ 259,170 ราย หรือเกิน 2.5 เท่าของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันสูงสุดในการระบาดระลอกแรก

 

ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตต่อวันในระลอกนี้ ล่าสุดก็มีจำนวนใกล้เคียงกับช่วงที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดจากการระบาดระลอกแรกแล้วเช่นกัน

 

ดร.เอ ฟาทาฮูดีน หนึ่งในคณะทำงานด้านโควิด-19 ในรัฐเคราลาของอินเดียระบุว่ามีสัญญาณเตือนของการระบาดระลอกที่สองมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และเขาเคยกล่าวไว้ว่าโควิด-19 ไม่ได้หายไปไหน และสิ่งที่เป็นเสมือน ‘สึนามิ’ อาจถล่มเราได้หากมาตรการเร่งด่วนไม่ถูกนำมาใช้ 

 

“น่าเศร้าที่สึนามิได้โจมตีเราแล้วจริงๆ” เขากล่าวกับ BBC

 

ขณะที่ความคืบหน้าการฉีดวัคซีนล่าสุดในอินเดีย มีประชากรร้อยละ 8.1 ที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อยหนึ่งโดส ส่วนจำนวนประชากรที่ได้รับวัคซีนครบสองโดสอยู่ท่ีร้อยละ 1.3 จากประชากรทั้งหมด 

 

และแม้ต้นเดือนที่ผ่านมา อินเดียจะประกาศความสำเร็จในการฉีดวัคซีนมากกว่า 100 ล้านโดสใน 85 วัน ซึ่งเร็วกว่าสหรัฐอเมริกาและจีน ทว่าอินเดียก็พบปัญหาวัคซีนที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จนล่าสุดรัฐบาลต้องอนุมัติงบประมาณกว่า 610 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับสถาบันเซรั่มแห่งอินเดีย และบริษัท Bharat Biotech เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตวัคซีนให้สอดคล้องกับการระบาดที่เกิดขึ้น รวมถึงระงับการส่งออกวัคซีน AstraZeneca ที่ผลิตในประเทศชั่วคราว และเปลี่ยนกฎเพื่อนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ อาทิ Pfizer-BioNTech, Moderna และ Johnson and Johnson อย่างรวดเร็ว โดยก่อนหน้านี้อินเดียมีการทั้งบริจาคและจำหน่ายวัคซีนไปยังต่างประเทศ

 

2. ปัจจัยสู่การระบาดรอบที่สอง

การระบาดรอบนี้ถูกมองว่าเกิดจากความรู้สึกผ่อนคลายที่มากเกินไป หลังจากผู้คนรู้สึกเหนื่อยล้าจากการระบาดในรอบแรก และเมื่อการระบาดรอบแรกผ่านไปก็มีความรู้สึกปลอดภัยอย่างไม่ถูกต้องเกิดขึ้น นอกจากนี้ เมื่อต้นเดือนมีนาคม รัฐมนตรีสาธารณสุขของรัฐบาลกลางก็ถึงกับออกปากว่าอินเดียนั้นอยู่ใน ‘ปลายทาง’ ของการระบาดแล้ว

 

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดการผ่อนคลายพฤติกรรมต่างๆ ที่จำเป็นต่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ทั้งการรักษาระยะห่าง การสวมหน้ากากอนามัย ผู้คนจำนวนมากกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง เช่น ในการแข่งขันกีฬา หรือการเปิดให้บริการโรงภาพยนตร์อีกครั้ง 

 

รวมถึงเทศกาล ‘กุมภเมลา’ ซึ่งเป็นเทศกาลสำคัญของศาสนาฮินดู ที่มีผู้ศรัทธาจำนวนมากมารวมตัวกันที่เมืองหริทวารในรัฐอุตตราขัณฑ์ ร่วมประกอบพิธีและร่วมลงไปอาบน้ำชำระร่างกายในแม่น้ำคงคาเพื่อชำระบาป 

 

ในเทศกาลดังกล่าวแม้จะมีการกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งผู้มาร่วมพิธีจะต้องลงทะเบียนทางออนไลน์ ต้องแสดงผลตรวจโควิด-19 ที่เป็นลบ และมีเจ้าหน้าที่ตรวจตราหลายพันคน ทว่า รามานัน ลักษมีนารายัน ผู้อำนวยการของศูนย์พลวัต เศรษฐศาสตร์ และนโยบายเกี่ยวกับโรคระบาดในกรุงนิวเดลี ก็แสดงความกังวลว่านี่อาจเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการแพร่เชื้อขนาดใหญ่ที่สุด และจากข่าวที่ปรากฏในสื่อเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน BBC รายงานว่ามีผู้เข้าร่วมงานระหว่างวันที่ 10-14 เมษายน ที่พบว่าติดโควิด-19 แล้วมากกว่า 1,600 ราย ส่วน PTI สำนักข่าวท้องถิ่นของอินเดียรายงานยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่จัดเทศกาลในช่วงเวลาเดียวกันอยู่ที่ราว 1,700 ราย มีกลุ่มย่อยทางศาสนาหลายกลุ่มเรียกร้องให้ผู้ศรัทธาจากต่างรัฐเดินทางกลับบ้านและปฏิบัติตามข้อกำหนด ขณะที่หลายรัฐและเมืองกำหนดให้ผู้ที่กลับจากเทศกาลนี้ต้องกักตัวหรือรับการตรวจโควิด-19 ถึงกระนั้น ลักษมีนารายันก็แสดงความเห็นว่านี่อาจ ‘สายเกินไป’ เสียแล้ว

 

สำหรับกิจกรรมทางการเมืองก็เช่นกัน แม้ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ทวีตข้อความเมื่อวันเสาร์ว่า เทศกาลกุมภเมลาควรถูกจัดเพียงในเชิงสัญลักษณ์ระหว่างการระบาดของโควิด-19 ทว่า ข้อความของโมดีก็ดูจะขัดแย้งกันเองกับการเดินสายหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาและสภาท้องถิ่นของเขา ที่ปรากฏภาพการรวมตัวของมวลชนจำนวนมากอย่างต่อเนื่องมาจนถึงเดือนเมษายน และนี่ก็นำมาซึ่งเสียงวิจารณ์ถึงความเป็นไปได้ในการเป็นกิจกรรมที่นำมาซึ่งการแพร่เชื้อ จนกระทั่งเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา พรรค Bhartiya Janta Party ของโมดีก็ประกาศว่าจะจัดการรวมตัวสาธารณะขนาดเล็กไม่เกิน 500 คนเท่านั้น ในพื้นที่รัฐเบงกอลตะวันตก ซึ่งถือเป็นสนามเลือกตั้งสำคัญ ส่วนพรรคฝ่ายค้านหลักอย่างพรรค Indian National Congress ประกาศระงับการหาเสียงสาธารณะในรัฐนี้ไปแล้ว

 

3. เตียงผู้ป่วยไม่เพียงพอ ความต้องการทรัพยากรที่เพิ่มสูง และชีวิตที่สูญเสีย

ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ทำให้มีรายงานว่าหลายเมืองของอินเดียอยู่ในภาวะเตียงผู้ป่วยไม่เพียงพอ เมืองที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เช่น เดลี, มุมไบ และอาเมดาบัด นั้นพบว่าเตียงผู้ป่วยถูกใช้งานไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อโฟกัสไปที่เตียงไอซียู สถานการณ์ก็ดูจะหนักหนายิ่งขึ้น เพราะเหลือเตียงไอซียูในหลายๆ เมืองอีกไม่มากนัก ขณะที่พบปัญหาขาดแคลนออกซิเจนด้วย มีรายงานผู้ป่วยที่ต้องเสียชีวิตจากการไม่สามารถหายาหรือออกซิเจนมาใช้ หรือหารถนำส่งโรงพยาบาลได้ทันเวลาด้วยเหตุต่างๆ สถานที่ฌาปนกิจศพถูกใช้งานอย่างต่อเนื่องทั้งกลางวันและกลางคืนในหลายเมือง และประชาชนต้องรอนานหลายชั่วโมงเพื่อนำศพไปเผา ท่ามกลางข้อสันนิษฐานว่าจำนวนผู้เสียชีวิตที่แท้จริงน่าจะสูงกว่าที่รายงานโดยรัฐ

 

ทั้งนี้ รัฐบาลของรัฐต่างๆ กำลังพยายามขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้ป่วย ซึ่งรวมถึงเตียงไอซียู กระนั้นเตียงก็ยังไม่ใช่ปัญหาสุดท้าย เพราะเมื่อมีเตียงก็ย่อมต้องการหมอ พยาบาล และอุปกรณ์เกี่ยวกับออกซิเจนมารองรับด้วยเช่นกัน ขณะที่ความต้องการยาเรมเดซิเวียร์และส่วนผสมของยาก็เพิ่มขึ้นจนรัฐบาลต้องประกาศห้ามการส่งออกยาเพื่อเพิ่มปริมาณการจัดหายาภายในประเทศ รวมถึงประกาศแทรกแซงราคายาด้วย แต่ก็พบว่ามีตลาดมืดของการซื้อขายยาชนิดนี้และยาที่คล้ายกันเกิดขึ้นในหลายรัฐ

 

นอกจากนี้ ญาติผู้ป่วยส่วนหนึ่งต้องร้องขอความช่วยเหลือลงสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ทวิตเตอร์ ทั้งการหาเตียง หาออกซิเจน ตลอดจนหาเงินค่ายามาใช้รักษาญาติตนเอง

 

4. พบไวรัสก่อโรคโควิด-19 ชนิดใหม่ ‘กลายพันธุ์คู่’ เพิ่มอีก

วันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา อินเดียประกาศว่าพบไวรัสก่อโรคโควิด-19 ชนิดใหม่ที่มีการ ‘กลายพันธุ์คู่’ (Double Mutant) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมสองตำแหน่งในไวรัสตัวเดียวกัน ซึ่งแม้เจ้าหน้าที่ทางการจะระบุผ่านแถลงการณ์ว่าไม่เชื่อมโยงกับการพุ่งสูงของยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในอินเดีย แต่ก็นำมาซึ่งความกังวลว่าไวรัสตัวนี้จะติดต่อได้ง่ายขึ้น และหลบหลีกการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในสหราชอาณาจักรกำลังสอบสวนว่าไวรัสที่มีการกลายพันธุ์คู่นี้จะแพร่กระจายได้ง่ายขึ้นหรือหลบเลี่ยงการทำงานของวัคซีนหรือไม่

 

ทั้งนี้ การตรวจพบเชื้อชนิดใหม่ดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นจากการศึกษาตัวอย่าง 10,787 รายที่เก็บได้จากคนอินเดียในพื้นที่ 18 รัฐ ภายใต้การศึกษาเพื่อจัดทำลำดับจีโนม หรือทำแผนที่รหัสพันธุกรรมทั้งหมดของเชื้อก่อโรคโควิด-19 ซึ่งมีความสำคัญในการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของเชื้อไวรัส โดย ชาฮีด จามีล นักระบาดวิทยาระบุว่าการดำเนินการทำลำดับจีโนมในอินเดียนั้นค่อนข้างช้า และหากยิ่งตรวจจับไวรัสสายพันธุ์ที่ติดต่อง่ายได้เร็วขึ้น ก็สามารถนำไปใส่ในมาตรการทางสาธารณสุขเพื่อหยุดยั้งการระบาดในวงกว้างภายในชุมชนได้

 

(อัปเดตล่าสุด วันที่ 24 เมษายน 2021: นักวิทยาศาสตร์ในสหราชอาณาจักรระบุว่า เชื้อไวรัสชนิดนี้ถูกพบครั้งแรกมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2020 และมีข้อมูลว่านักวิทยาศาสตร์ในอินเดียเริ่มหันมาสนใจเชื้อชนิดนี้หลังพบการระบาดมากขึ้นในรัฐมหาราษฏระระหว่างเดือนธันวาคม 2020 – มีนาคม 2021)

 

ทั้งนี้ การกลายพันธุ์ของไวรัสถือเป็นเรื่องปกติ และส่วนใหญ่ไม่ได้มีนัยสำคัญหรือไม่ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับความสามารถในการแพร่เชื้อหรือทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง แต่การกลายพันธุ์บางชนิด เช่น ที่พบในโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษหรือสายพันธุ์แอฟริกาใต้ก็ทำให้ไวรัสติดต่อได้ง่ายขึ้น หรืออาจมีอันตรายถึงชีวิตมากขึ้นในบางกรณี

 

จามีลยืนยันว่าไม่สายเกินไปที่จะใช้มาตรการต่างๆ และหากมีการใช้แนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยอย่างเข้มแข็ง ฉีดวัคซีนแก่ประชาชนอย่างรวดเร็ว และคอยจับตาดูการกลายพันธุ์ ก็จะสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้อย่างมีนัยสำคัญ

 

ภาพ: Sonu Mehta / Hindustan Times via Getty Images

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X