หลังจากนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี และพรรคภารตียชนตา (BJP) ประกาศชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปได้เพียงไม่นาน เมื่อวานที่ผ่านมา (5 ส.ค.) รัฐบาลอินเดียประกาศยกเลิกกฎหมายมาตรา 370 ในรัฐธรรมนูญอินเดีย โดยอาศัยอำนาจของประธานาธิบดี ยกเลิกสถานะพิเศษของรัฐชัมมูและแคชเมียร์ให้กลายเป็นเพียงดินแดนสหภาพ (Union Territory) ซึ่งจะมีสภานิติบัญญัติเป็นของตัวเอง แต่รัฐบาลกลางของอินเดียจะเข้ามามีอำนาจในดินแดนเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ลาดักห์ ภูมิภาคที่เดิมทีเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชัมมูและแคชเมียร์ก็ถูกแยกให้กลายเป็นดินแดนสหภาพอีกแห่งหนึ่ง โดยจะไม่มีสภานิติบัญญัติเป็นของตัวเอง และขึ้นตรงกับรัฐบาลกลาง
การประกาศยกเลิกมาตราดังกล่าว สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมากให้กับชาวแคชเมียร์และสังคมอินเดีย เช่น จากเดิมที่อนุญาตให้มีธงชาติแคชเมียร์ก็ถูกยกเลิก และให้ใช้เฉพาะธงชาติอินเดียเท่านั้น ชาวอินเดียทั่วประเทศได้รับอนุญาตให้ซื้อที่ดินให้รัฐแห่งนี้ได้หลังจากถูกระบุเป็นข้อยกเว้นในรัฐธรรมนูญ ปรับให้มีการเลือกตั้งทุกๆ 5 ปี เหมือนกับพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของอินเดีย รวมถึงยกเลิกระบบความเป็นพลเมืองสองสัญชาติของผู้คนในรัฐนี้ เป็นต้น
นับเป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของรัฐบาลโมดีและพรรค BJP หลังพยายามเดินหน้าผลักดันประเด็นการยกเลิกสถานะพิเศษนี้ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา แม้หลายฝ่ายจะมองว่า การกระทำในครั้งนี้อาจผิดกฎหมาย และถือเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังเป็นการทำลายความพยายามในการผนวกรวมชัมมูและแคชเมียร์เข้าไว้ด้วยกันอย่างสันติ โดย Mehbooba Mufti อดีตหัวหน้ารัฐมนตรีของรัฐชัมมูและแคชเมียร์ระบุว่า “นี่ถือเป็นวันที่มืดมิดที่สุดสำหรับประชาธิปไตยในอินเดีย”
รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเหนือพื้นที่รัฐชัมมูและแคชเมียร์เดิม โดยได้ส่งกองกำลังทหารหลายหมื่นนายเข้าพื้นที่ เพื่อควบคุมสถานการณ์ให้การเปลี่ยนผ่านอำนาจในครั้งนี้นำไปสู่การแยกตัวเป็นสหภาพดินแดนใหม่โดยสันติ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า ท่าทีดังกล่าวนี้ต้องการสะท้อนให้ปากีสถานและประชาคมโลกเห็นว่า อินเดียให้ความสำคัญและจัดการกับประเด็นของแคว้นแคชเมียร์เด็ดขาดมากน้อยแค่ไหน
ภาพ: Rakesh Bakshi / AFP / Getty Images
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: