×

อินเดียเปิดฉากโจมตีทางอากาศ ถล่ม 9 จุดปากีสถาน-แคชเมียร์ เสียชีวิตแล้วหลายราย อ้างตอบโต้กลุ่มก่อการร้าย

07.05.2025
  • LOADING...
อินเดียโจมตีปากีสถาน

กองทัพอินเดียเปิดฉากโจมตีทางอากาศถล่ม 9 สถานที่เป้าหมายในปากีสถาน และแคว้นแคชเมียร์ ฝั่งปากีสถาน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 8 คน รวมเด็ก 2 คน และมีผู้บาดเจ็บหลายสิบคน

 

โดยการโจมตีดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศที่ตึงเครียด ภายหลังเกิดเหตุกลุ่มติดอาวุธโจมตีกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เมืองพาฮาลกัมในแคว้นแคชเมียร์ที่อินเดียปกครอง ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 26 คน โดยรัฐบาลอินเดียกล่าวโทษปากีสถานว่าให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อเหตุ ขณะที่รัฐบาลปากีสถานปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง และเรียกร้องให้มีการสอบสวนอย่าง ‘เป็นกลาง’ เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

 

กระทรวงกลาโหมอินเดียแถลงภายหลังการโจมตี โดยเรียกปฏิบัติการนี้ว่า ‘ปฏิบัติการซินดูร์’ (Operation Sindoor) ซึ่งโจมตีโครงสร้างพื้นฐานของสถานที่ต่างๆ ที่กลุ่มก่อการร้ายใช้ในการวางแผนและสั่งการโจมตีต่ออินเดีย

 

“เราดำเนินการอย่างมีเป้าหมาย รอบคอบ และไม่ลุกลาม ไม่มีการโจมตีฐานทัพทหารของปากีสถานแต่อย่างใด อินเดียได้แสดงให้เห็นถึงความยับยั้งชั่งใจอย่างมากในการเลือกเป้าหมายและวิธีการดำเนินการ” กระทรวงกลาโหมระบุในแถลงการณ์

 

ด้านนายกรัฐมนตรีเชห์บาซ ชารีฟ (Shehbaz Sharif ) ของปากีสถาน โพสต์แถลงการณ์ผ่าน X ประณามการโจมตีของอินเดียว่าเป็น ‘การโจมตีที่ขี้ขลาด’ และเป็นการโจมตีโดยไร้การยั่วยุ พร้อมประกาศจะทำการตอบโต้การกระทำของอินเดีย

 

ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศปากีสถานออกแถลงการณ์ประณามอินเดียว่าได้กระทำการก่อสงครามอย่างโจ่งแจ้งโดยปราศจากการยั่วยุ ซึ่งส่งผลให้พลเรือนรวมถึงสตรีและเด็กเสียชีวิต

 

“เราขอประณามการกระทำอันขี้ขลาดของอินเดีย ซึ่งเป็นการละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติ กฎหมายระหว่างประเทศ และบรรทัดฐานที่วางไว้ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างโจ่งแจ้ง”

 

แถลงการณ์ยังตอบโต้อินเดียว่า “ใช้การก่อการร้ายเพื่อปลุกปั่นเรื่องราวหลอกลวงเกี่ยวกับการตกเป็นเหยื่อ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค

 

“การกระทำที่หุนหันพลันแล่นของอินเดียทำให้สองประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์เข้าใกล้ความขัดแย้งครั้งใหญ่ ปากีสถานขอสงวนสิทธิ์ที่จะตอบโต้อย่างเหมาะสมในเวลาและสถานที่ที่ต้องการ ตามมาตรา 51 ของกฎบัตรสหประชาชาติ และตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ”

 

ทั้งนี้ ผู้บัญชาการกองทัพปากีสถานยังอ้างว่าสามารถยิงเครื่องบินขับไล่ของอินเดียตกได้ 2 ลำ แต่ไม่เปิดเผยรายละเอียด ขณะที่กระทรวงกลาโหมปากีสถานอ้างว่าสามารถจับกุมทหารอินเดียบางนายได้

 

UN เรียกร้องทุกฝ่ายยับยั้งชั่งใจขั้นสูงสุด

 

ด้านโฆษกของอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN) เผยแพร่แถลงการณ์แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อปฏิบัติการทางทหารของอินเดียที่ข้ามเส้นควบคุมและพรมแดนระหว่างประเทศ และเรียกร้องให้ทั้งสองประเทศใช้ความยับยั้งชั่งใจทางทหารอย่างสูงสุด 

 

“โลกไม่สามารถยอมให้เกิดการเผชิญหน้าทางทหารระหว่างอินเดียและปากีสถานได้” แถลงการณ์ระบุ

 

ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวทำเนียบขาวเกี่ยวกับการโจมตีที่เกิดขึ้น โดยชี้ว่าเป็นเรื่องที่น่าละอาย และอินเดียและปากีสถานมีความขัดแย้งกันมายาวนาน ซึ่งเขาหวังว่ามันจะจบลงได้ในเร็วๆ นี้

 

นักวิเคราะห์มอง 3 สัญญาณต้องจับตา

 

ด้าน ผศ. ดร.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่าค่อนข้างสุ่มเสี่ยงและอันตราย เพราะการโจมตีครั้งนี้ของอินเดียเป็นการจงใจเปิดการสู้รบหนักกับปากีสถาน และลักษณะของการโจมตีหลายจุดใกล้จุดติดตั้งขีปนาวุธ ทั้ง

ในรัฐปัญจาบ และในแคชเมียร์-ปากีสถาน 

 

ขณะที่มี 3 สัญญาณที่น่าจับตามองของเหตุการณ์ในครั้งนี้ คือ

 

  1. มีการใช้ขีปนาวุธในการโจมตี และการตอบโต้จากฝ่ายปากีสถานน่าจะเป็นไปในแบบเดียวกัน
  2. ต้องจับตาดูปฏิบัติการภาคพื้นดิน เพราะอินเดียและปากีสถานยังมีความขัดแย้งในแคชเมียร์ที่รุนแรง โดยอาจจะใช้จังหวะนี้รุกคืบเข้ามาในอีกฝั่ง และช่วงที่ผ่านมาปากีสถานยังแสดงท่าทีต้องการยกเลิกข้อตกลงชิมลา ซึ่งเป็นสนธิสัญญายุติข้อขัดแย้งและกำหนดเส้นแบ่งเขตหยุดยิง (Line of Control) แบ่งพื้นที่พรมแดนแคชเมียร์ จึงเป็นสัญญาณที่สะท้อนว่าอาจจะนำมาซึ่งการขยายการบุกภาคพื้นดิน
  3. แม้ปากีสถานจะมีอาวุธและเครื่องบินรบน้อยกว่าอินเดีย แต่ก็มีคุณภาพสูง เพราะส่วนใหญ่เป็นของสหรัฐฯ เพราะเป็นพันธมิตรกันมายาวนาน แต่อาวุธของอินเดีย นอกจากผลิตเองก็จะมาจากรัสเซียเป็นหลัก ดังนั้นในเชิงศักยภาพอาวุธปากีสถานเหนือกว่า แต่อินเดียมากกว่าในเชิงปริมาณ

 

แต่ในแง่การเมืองระหว่างประเทศ สหรัฐฯ และนโยบายต่อเอเชียใต้หลังเหตุการณ์ 911 คือต้องการบาลานซ์ความสัมพันธ์ทั้งอินเดียและปากีสถาน และพยายามดึงทั้งคู่มาร่วมสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งการโจมตีในอินเดียหลายครั้ง สหรัฐฯ ​เข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยไม่ให้บานปลาย และในครั้งนี้ทรัมป์ก็ส่งสัญญาณว่าไม่ต้องการให้ความขัดแย้งของอินเดียและปากีสถานยกระดับ

 

ส่วนข้อกังวลว่าสถานการณ์จะลุกลามบานปลายไปสู่สงครามนิวเคลียร์หรือไม่นั้น ผศ. ดร.มาโนชญ์ กล่าวว่า อินเดียส่งสัญญาณชัดเจนว่าต้องการยกระดับความขัดแย้ง แต่ไม่ถึงขั้นทำให้เกิดสงครามนิวเคลียร์ โดยยังไม่มีการพูดถึงนิวเคลียร์ เพราะอาจสร้างความตื่นตระหนก และทำให้ประชาชนต่อต้านการขยายความขัดแย้ง

 

“อินเดียยังมีนโยบายไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อน (No first use Policy) และในอีกแง่หนึ่งก็ไม่ต้องการให้เกิดสมดุลทางอำนาจในการสู้รบ เพราะปากีสถานเองก็มีอาวุธนิวเคลียร์” ผศ. ดร.มาโนชญ์ กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ทางฝั่งปากีสถานแม้จะไม่มีนโยบายไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อน แต่ที่ผ่านมามีการข่มขู่ในลักษณะที่จะใช้ทุกวิธีการตอบโต้ รวมถึงนิวเคลียร์ ในกรณีปกป้องความมั่นคงของประเทศ ซึ่งต้องจับตามองว่าท่าทีในการตอบโต้ของปากีสถานหลังจากนี้จะเป็นเช่นไร

 

ภาพ: Stringer / Reuters

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising