×

‘ส่วนต่างรายได้’ กับนโยบายรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ

22.09.2022
  • LOADING...

“เมื่อเศรษฐกิจเจริญขึ้น การแบ่งสรรรายได้ของประเทศจะแตกต่างออกไป บุคคลบางคนอาจร่ำรวยมากขึ้น แต่บุคคลบางคนอาจจนลงก็ได้ ในเรื่องเหล่านี้… ต้องพิจารณาและหาทางแก้ไขอยู่เสมอ …เพื่อให้ความสุขแก่คนโดยทั่วถึง”

– หนังสือ เศรษฐกิจแห่งประเทศไทย เขียนโดย ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และ คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจหรือปัญหา ‘ส่วนต่างรายได้’ เป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นทั่วโลก ในสหรัฐอเมริกา ประชากรที่มีรายได้สูงสุด 10% ถือครองรายได้ก่อนหักภาษีคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 45.7% ของทั้งระบบเศรษฐกิจ โดยปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1980 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียง 33.9%

 

นักเศรษฐศาสตร์มองว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นปัญหาระยะยาว บางส่วนมองว่าเกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ลดบทบาทและอำนาจต่อรองของแรงงาน บางส่วนมองว่าเกิดจากโครงสร้างเชิงสถาบันทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่ไม่เอื้อต่อการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียม

 

ล่าสุดนักเศรษฐศาสตร์พบปัจจัยอีกประการหนึ่งที่อาจมีนัยต่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากกว่าที่เราเคยเข้าใจ ปัจจัยนั้นคือ ‘วัฏจักรเศรษฐกิจ’

 

Bayer, Born and Luetticke (2020) จำลองพลวัตทางเศรษฐกิจการเงินและการกระจายรายได้ โดยใช้ Heterogeneous Agent New Keynesian Model การศึกษาพบว่า ‘วัฏจักรเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายเพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจสามารถอธิบายการเพิ่มขึ้นของความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ภายในเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงปี 1980-2015 ได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง’

 

วัฏจักรเศรษฐกิจส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำ เพราะการขยายตัวและหดตัวทางเศรษฐกิจมีนัยต่อรายได้ รายจ่าย และฐานะการเงินของครัวเรือนแตกต่างกัน โดยขึ้นกับธรรมชาติของปัจจัยบวก-ลบที่ก่อให้เกิดวัฏจักรเศรษฐกิจ เช่น การระบาดของโควิด ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนรายได้น้อยที่ทำงานในภาคบริการ มากกว่าครัวเรือนรายได้สูงที่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ผลของวัฏจักรเศรษฐกิจต่อความเหลื่อมล้ำยังขึ้นกับโครงสร้างและสุขภาพของฐานะการเงินของครัวเรือน เช่น ครัวเรือนรายได้น้อยมีเงินออมน้อยกว่าครัวเรือนรายได้สูง การหดตัวทางเศรษฐกิจจึงส่งผลกระทบต่อการบริโภคของครัวเรือนรายได้น้อยมากกว่า ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ในตลาดการเงินปรับตัวขึ้นได้มากกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ดังนั้นครัวเรือนรายได้สูงที่มีสินทรัพย์ทางการเงินหลากหลายกว่าจึงได้รับผลตอบแทนสูงกว่าครัวเรือนรายได้น้อยที่มีแต่เงินฝากธนาคาร

 

Bayer, Born and Luetticke ยังแสดงผลการศึกษาที่น่าสนใจอีก 3 ประการ

 

  1. วัฏจักรเศรษฐกิจอาจทิ้ง ‘แผลเป็น’ ไว้กับการกระจายความมั่งคั่ง เช่น การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีการผลิตสามารถส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางด้านความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นและค้างอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานานกว่า 5 ปี

 

  1. หนึ่งในปัจจัยเชิงวัฏจักรที่มีผลต่อพลวัตความเหลื่อมล้ำอย่างมากคือ ‘สมดุลอำนาจตลาด’ ระหว่างผู้ผลิตและแรงงานในระบบเศรษฐกิจ โดยตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ผู้ผลิตในระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีอำนาจในการกำหนดราคาสินค้ามากขึ้น ขณะที่แรงงานมีอำนาจในการต่อรองอัตราค่าจ้างน้อยลง การศึกษาพบว่าสมดุลอำนาจตลาดสามารถอธิบายความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมาได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง

 

  1. คณะผู้วิจัยเปรียบเทียบการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดเพื่อให้น้ำหนักกับการดูแลเสถียรภาพราคา (Hawkish) กับแบบผ่อนปรน เพื่อให้น้ำหนักกับการดูแลเสถียรภาพของการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Dovish) โดยพบว่า ‘การดำเนินนโยบายการเงินแบบ Hawkish จะส่งผลลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้อย่างมากในภาวะที่อำนาจตลาดเสียสมดุล’ โดยแรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจจะได้รับผลข้างเคียงเชิงลบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่า ในภาวะที่แรงงานไม่มีอำนาจต่อรองอัตราค่าจ้างหรือราคาสินค้า

 

ที่ผ่านมานักเศรษฐศาสตร์มองว่าวัฏจักรทางเศรษฐกิจไม่ได้เกี่ยวพันกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นการดำเนินนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจจึงอาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับผลของการดำเนินนโยบายต่อการกระจายรายได้มากเท่าปัจจัยอื่น อย่างไรก็ดี Bayer, Born and Luetticke ชี้ให้เห็นว่าวัฏจักรทางเศรษฐกิจมีผลต่อการกระจายรายได้อย่างมาก มีนัยว่าการดำเนินนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอาจต้องคำนึงถึงผลกระทบของวัฏจักรเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายต่อการกระจายรายได้มากขึ้น

 

ข้อมูลชี้ว่าวัฏจักรเศรษฐกิจน่าจะมีนัยต่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของไทยเช่นกัน

 

ผลการศึกษาของ Bayer, Born and Luetticke ชวนให้ตั้งคำถามว่าวัฏจักรเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ของไทยมีความสัมพันธ์กันหรือไม่

 

บทความฉบับนี้ติดตามพลวัตของการกระจายรายได้ในวัฏจักรทางเศรษฐกิจรอบล่าสุด นั่นคือในช่วงปี 2015-2021 โดยเศรษฐกิจไทยเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้นในช่วงปี 2015-2018 โดยขยายตัวเร่งขึ้นจาก 3.1% ในปี 2015 ขึ้นมาอยู่ที่ 4.0% ในปี 2017 และ 4.1% ในปี 2018 ต่อมาในปี 2019 การค้าระหว่างประเทศที่ลดลงจากความไม่แน่นอนทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยชะลอลงมาอยู่ที่ 2.3% ก่อนที่การระบาดของโควิดจะฉุดให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่วัฏจักรขาลงอย่างเต็มตัว โดยเศรษฐกิจไทยหดตัว -6.2% ในปี 2020 ก่อนที่จะทยอยฟื้นตัวขึ้นในปัจจุบัน

 

เราใช้ข้อมูลรายได้จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) โดยเลือกเฉพาะรายได้จากการทำงานและการลงทุนของครัวเรือน เพื่อควบคุมผลของนโยบายช่วยเหลือจากภาครัฐและการแชร์ความเสี่ยงระหว่างครัวเรือน เราจัดกลุ่มครัวเรือนตามระดับรายได้ในปี 2021 และติดตามกลุ่มครัวเรือนเดิมตลอดช่วงปี 2015-2021 ผลการสรุปข้อมูลแสดงในรูปที่ 1

 

 

ข้อมูลชี้ประเด็นที่น่าสนใจ 2 ประเด็น

 

ประเด็นที่ 1 ในปี 2017 ซึ่งเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงวัฏจักรขาขึ้น รายได้ของครัวเรือนรายได้สูงเพิ่มขึ้นตามวัฏจักร แต่รายได้ของครัวเรือนรายได้น้อยกลับลดลง รายได้ของครัวเรือนรายได้น้อยปรับเพิ่มขึ้นบ้างในปี 2019 แต่ยังไม่กลับไปสูงเท่ากับระดับรายได้ในปี 2015 ข้อมูลสะท้อนว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจอาจไม่ได้มีอานิสงส์ต่อคนในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง

 

ข้อมูลสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2017 ที่เติบโตจากการส่งออกสินค้าและบริการเป็นหลัก ในขณะที่การบริโภคภายในประเทศเติบโตได้ช้ากว่า และมีปัจจัยลบแวดล้อม ทั้งราคาสินค้าเกษตรที่ปรับลดลงในช่วงปลายปี การจ้างงานที่ลดลงจากการใช้เครื่องจักรทดแทน และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ในภาพรวมการส่งออกสินค้าและบริการไม่ได้อาจมีอานิสงส์ต่อมายังเศรษฐกิจในประเทศมากเท่าที่ควร

 

ประเด็นที่ 2 ในปี 2021 ซึ่งเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงวัฏจักรขาลง รายได้ของครัวเรือนรายได้น้อยยังปรับลดลงต่อ แต่รายได้ของครัวเรือนรายได้สูงกลับเพิ่มขึ้น ข้อมูลสอดคล้องกับบทความ ‘เศรษฐกิจไทย พร้อมหรือไม่ หากใช้ยาแรงแก้ปัญหาเงินเฟ้อ?’ ที่เคยพูดคุยกันว่ามีครัวเรือนที่มีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายมากถึง 7 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 31.8% ของครัวเรือนไทย เราพบว่าครัวเรือนกลุ่มนี้มีรายได้น้อย แต่มีรายจ่ายจำเป็นและภาระการจ่ายหนี้ในสัดส่วนที่สูง

 

โดยสรุปในรอบวัฏจักรที่ผ่านมา แนวโน้มรายได้ของครัวเรือนรายได้น้อยกับครัวเรือนรายได้สูงแยกจากกันเป็นรูปตัวอักษร K สะท้อนว่าความเหลื่อมล้ำอาจเพิ่มขึ้นตลอดวัฏจักร

 

วัฏจักรทางเศรษฐกิจมีนัยต่อความเหลื่อมล้ำต่อเนื่องมาจนถึง ‘ระยะฟื้นตัว’ การสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภค (EIC Consumer Survey) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 พบว่ารายได้ของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ‘ฟื้นตัวช้ากว่า’ กลุ่มผู้มีรายได้สูง โดยสัดส่วนของผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวกลับมา ณ ระดับก่อนการระบาดของโควิด มีค่าสูงถึง 85% ในขณะที่สัดส่วนของผู้มีรายได้มากกว่า 100,000 บาทต่อเดือน มีค่าเพียง 47% นอกจากรายได้จะฟื้นตัวช้ากว่าแล้ว ผู้มีรายได้น้อยยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า โดยสัดส่วนของผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ที่ได้รับผลกระทบมากหรือค่อนข้างมาก มีค่าสูงถึง 65% ในขณะที่สัดส่วนของผู้มีรายได้มากกว่า 100,000 บาทต่อเดือน มีค่าเพียง 25%

 

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไปเหมาะกับเศรษฐกิจไทยที่เผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำ

 

เวลานี้เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด ขณะที่ผู้ดำเนินนโยบายการเงินกำลังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามวัฏจักรเศรษฐกิจ ในบริบทที่เศรษฐกิจไทยเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ขณะที่วัฏจักรเศรษฐกิจรอบที่ผ่านมาถ่างความเหลื่อมล้ำให้กว้างขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไปน่าจะช่วยให้รักษาเสถียรภาพทางด้านราคา โดยลดผลข้างเคียงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากวัฏจักรรอบที่ผ่านมา จึงน่าจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างทั่วถึงมากขึ้น

 

นอกจากนี้ ผลการศึกษาของ Bayer, Born and Luetticke เกี่ยวกับสมดุลอำนาจตลาดและนัยต่อการดำเนินนโยบายการเงิน ยังชวนให้คิดถึงบริบทของเศรษฐกิจไทยที่น่าจะมีปัญหาเรื่องสมดุลอำนาจตลาดเหมือนกัน โดยล่าสุด World Economic Forum จัดไทยอยู่อันดับที่ 104 จาก 138 ประเทศ ในด้านการกระจายอำนาจในตลาดสินค้าและบริการ (Extent of Market Dominance) และอยู่อันดับที่ 62 ในด้านประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า (Effectiveness of Anti-Monopoly Policy)

 

ในภาวะที่อำนาจตลาดขาดสมดุลเช่นนี้ การดำเนินนโยบายการเงินแบบ Hawkish มากเกินไปอาจส่งผลลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้มากกว่าผลบวก ดังนั้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไปน่าจะสอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจไทย และเอื้อให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจครั้งนี้เท่าเทียมขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเติบโตที่มีเสถียรภาพและทั่วถึงในรอบวัฏจักรต่อไป

 

อ้างอิง:

 

 

หมายเหตุ:

 

  • Technology shock, ด้วยขนาด 1 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 
  • ข้อมูล SES ไม่ได้เป็น Panel Data เราจึงคำนวณรายได้ของครัวเรือนจากค่ามัธยฐานของรายได้เฉลี่ยต่อหัวของครัวเรือน ณ ระดับจังหวัด, ใน/นอกเขตเทศบาล และกลุ่มอายุของหัวหน้าครัวเรือน โดยนับเฉพาะครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวอย่างน้อย 10 ปี เพื่อควบคุมผลของการย้ายถิ่นที่อยู่

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising