×

อนุทินคาดอีก 9 เดือน ได้วัคซีนโควิด-19 ชนิด DNA ฉีดให้คนไทย เตรียมวิจัยในคนเฟสแรกช่วง ก.ค.-ส.ค. นี้

โดย THE STANDARD TEAM
25.06.2020
  • LOADING...

วันนี้ (25 มิถุนายน) อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยบุคคลที่เกี่ยวข้อง ประชุมหารือร่วมกับ วิฑูรย์ วงศ์หาญกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด และ ดร.ฟาม ฮอง ไทย กรรมการผู้จัดการร่วม เพื่อรับฟังความคืบหน้าการวิจัยและผลิตวัคซีนโควิด-19 ชนิด DNA

 

โดยอนุทินเปิดเผยภายหลังการหารือว่า เป็นเรื่องน่ายินดีมากที่ทางบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ในฐานะภาคเอกชนไทย มีความคืบหน้าเรื่องการทดลองวัคซีนโควิด-19 ชนิด DNA ผ่านการทดลองในสัตว์ทดลองพบว่า มีความปลอดภัยและสร้างภูมิคุ้มกันในหนูได้ พร้อมทั้งส่งผลเลือดหนูทดลองให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทดสอบประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันโรค เพื่อเตรียมยื่นเรื่องพิจารณาความปลอดภัยในการขอวิจัยในคนอย่างเร่งด่วนในระยะที่ 1 ต่อทางคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งจะข้ามการทดลองในสัตว์ระยะที่ 2 

 

โดยทาง อย. จะพิจารณาเทียบความปลอดภัยจากงานวิจัยอ้างอิง ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วบนพื้นฐานความปลอดภัยตามขั้นตอนที่กำหนด รวมทั้งการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคน หากทุกขั้นตอนเป็นไปด้วยดี ไม่มีอุปสรรค คาดว่าอีก 9 เดือนจากนี้ จะสามารถผลิตวัคซีนฉีดให้กับประชาชนไทยได้ 

 

อย่างไรก็ตาม อนุทินกล่าวเสริมว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขเห็นความสำคัญและมีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะให้การสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยวัคซีนโควิด-19 เพื่อสร้างความมั่นคงทางสาธารณสุขให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองและดูแลประชาชนชาวไทยได้ ขณะนี้ได้จัดสรรงบจาก พ.ร.ก. เงินกู้ ให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ 3 พันล้านบาท เพื่อสนับสนุนและร่วมค้นคว้าวิจัยวัคซีนโรคโควิด-19 กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน ขอยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุขจะสนับสนุนการผลิตวัคซีนโควิด-19 ให้สำเร็จให้ได้ 

 

ขณะเดียวกัน วิฑูรย์กล่าวว่า บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด มีความเชี่ยวชาญการผลิตวัคซีน มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีการวิจัยและผลิตวัคซีนหลายชนิด จนเป็นที่ยอมรับระดับโลก อาทิ วัคซีนไอกรนชนิดไร้เซลล์เชื้อ ซึ่งองค์การอนามัยโลกให้การรับรอง สำหรับการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ชนิด DNA ได้ร่วมมือกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติในการดำเนินงานในขั้นตอนศึกษาวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง 

 

ทั้งนี้ วิฑูรย์ยืนยันว่า หากทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดโดยไม่มีอุปสรรค จะสามารถเริ่มการวิจัยในคนระยะแรกได้ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมหรือต้นเดือนสิงหาคม 2563 และจะสามารถผลิตวัคซีนโควิด-19 ในเชิงอุตสาหกรรมได้ในราวต้นปี 2564

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising