โห พี่คนนั้นเขาเก่งจัง…น้องคนนี้เจ๋งว่ะ ทำสไลด์โคตรเทพ…เฮ้ย ทำไมเพื่อนเราคนนี้ถึงรู้ไปหมดเลยนะ! แล้วตัวเราล่ะ…จะทำได้แบบเขาไหม?
หากบทสนทนาในหัวใจและความรู้สึกข้างต้นเคยเกิดขึ้นกับใครสักคนที่ผ่านมาและได้อ่านเรื่องราวนี้ก็อย่าได้แปลกใจไป เพราะมันไม่ใช่เรื่องแปลก เรื่องใหม่ หรือเรื่องใหญ่อะไรสำหรับโลกยุคปัจจุบันที่การแข่งขันรุนแรงและรวดเร็วทุกด้าน การเปรียบเทียบเกิดขึ้นมากมาย การฉายภาพของความสำเร็จกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญ
รวมถึงการพยายามทำตัวให้พร้อมสำหรับการแข่งขันด้วยการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา กลายเป็นหนึ่งในเรื่องที่คนยุคนี้ต้องเผชิญ และมันนำไปสู่อาการที่เรียกว่า ‘Imposter Syndrome’ หรืออาการของคนที่ชอบคิดไปเองว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่มีค่า โดยเฉพาะเมื่อเห็นความเก่งและความสำเร็จของคนอื่น
Imposter Syndrome เป็นโรคชนิดหนึ่งที่อาจจะฟังดูเหมือนไม่ได้รุนแรงนัก แต่หากปล่อยให้เป็นไปแบบนี้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาการจะพัฒนาไปสู่โรคที่หนักกว่าเดิม เช่น โรควิตกกังวลหรือโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพไปจนถึงอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
คำถามคือแล้วแบบนี้เราจะมีวิธีในการรับมือกับ Imposter Syndrome บ้างไหม?
คำตอบคือมี แต่ก่อนจะไปหา ‘วิธีรับมือความไม่เก่ง’ ของตัวเอง ต้องสำรวจตัวเองสักนิดก่อนว่าเราอยู่ในข่ายของคนป่วยเป็นโรคนี้หรือเปล่า
- พวกเพอร์เฟกชันนิสต์ (Perfectionist) หรือกลุ่มคนที่รักความสมบูรณ์แบบ กลุ่มนี้ถ้าทำอะไรไม่สมบูรณ์แบบแล้วโทษความสามารถตัวเองถือว่าเข้าข่าย
- พวกคนบ้างาน (The Superperson) ใครทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ ทำเกินกว่าเวลา คิดว่าทำงานได้ดีขึ้นกว่านี้อีก ไม่เคยพอใจในมาตรฐานการทำงานของตัวเอง แบบนี้มีโอกาส
- พวกอัจฉริยะ (The Genius) แน่นอนว่าคนเป็นอัจฉริยะทำอะไรก็ดีไปหมด แต่ลองให้ไปทำอะไรที่ไม่ถนัดแล้วทำได้ไม่ดีจะมีความเฟล และอาจรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง
- พวกข้ามาคนเดียว (The Soloist) คนประเภทชอบจัดการจัดแจงทุกอย่างคนเดียว เพียงแต่บนโลกใบนี้มันมีบางอย่างที่เราไม่สามารถทำคนเดียวได้ ซึ่งถ้าทำไม่สำเร็จก็จะเกิดคำถามกับตัวเองขึ้นมา
- พวกผู้เชี่ยวชาญ (The Expert) ขนาดกาแฟยังมี Specialty คนก็มี Specialist หรือ Expert เหมือนกัน ซึ่งถ้าเป็นเรื่องที่รู้จริงก็สบายไป แต่บางทีก็จะกังวลกับคำว่า ‘รู้จริง’ ว่าตกลงที่เรารู้น่ะ รู้จริงใช่ไหม? ความไม่มั่นคงทางความคิดจะนำไปสู่ความไม่มั่นคงทางอารมณ์
ทีนี้ถ้าเรารู้สึกว่าอยู่ใน 5 พวกนี้ ถึงไม่ได้แปลว่าเราจะเป็น Imposter Syndrome กันทุกคน แต่ก็ถือว่ามีโอกาสที่จะเป็นในอนาคตได้ หากจิตใจของเราไม่แข็งแรงและมั่นคงพอ ดังนั้นเราต้องรู้วิธีในการรับมือความไม่เก่งของตัวเองด้วย ซึ่ง นรพันธ์ ทองเชื่อม นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น นักจิตบำบัดความคิดและพฤติกรรมจากมีรักคลินิก ได้เคยแนะนำไว้ดังนี้
- รู้ทันความคิดอัตโนมัติที่ผ่านเข้ามา โดยเฉพาะความคิดอัตโนมัติเชิงลบที่เกี่ยวกับตนเองและคุณค่าในงาน โดยการรู้เท่าทันความคิดเป็นทักษะที่ฝึกฝนได้ผ่านการทบทวนและจดบันทึก
- ทบทวนความคิด เพราะความคิดว่าฉันไม่เก่งเกิดจากความขัดแย้งกับความเชื่อในตัวเอง และการวางเงื่อนไขที่ไม่สมเหตุสมผล เช่น หากฉันได้รางวัลแสดงว่ากรรมการตัดสินผิด, ที่ฉันทำได้ดีเพราะโชคช่วย ฯลฯ ให้ลองทำตารางแล้วเขียนสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงแบ่งเป็น 2 ฝั่ง ว่าส่วนไหนของความคิดเป็นส่วนที่เป็นจริง ส่วนไหนไม่เป็นจริง หลังจากทบทวนความคิดตามความเป็นจริงแล้ว กลับมาสังเกตความรู้สึกต่อตนเองว่าเปลี่ยนไปอย่างไร
- จากการทบทวนความคิดที่มีต่อตนเองอาจพบได้ว่า มีความคิดบางส่วนไม่เป็นความจริง ซึ่งจะช่วยให้เกิดความผ่อนคลายทางอารมณ์ได้ระดับหนึ่ง ในส่วนความจริงที่อาจจะเป็นจริงว่า ‘ฉันมีส่วนไม่เก่ง’ อันเกิดจากความผิดพลาด อาจฝึกการยอมรับว่า ความสมบูรณ์แบบไม่มีจริง แม้จะตั้งใจทำอย่างดีที่สุด การเกิดข้อผิดพลาดบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา ความผิดพลาดคือการเรียนรู้ และการยอมรับในความผิดพลาดเป็นหนึ่งวิธีในการพัฒนาตนเอง
- นอกเหนือจากความสุขในผลงาน มองหาความสุขจากการลงมือทำ ความตั้งใจ ความรู้สึกดีในความพยายาม และความสำเร็จทางใจจากการทำงานหรือการเรียนที่ยุ่งยากและมีอุปสรรค ความร่วมมือกับตนเอง ความช่วยเหลือและเอื้ออำนวยจากผู้อื่น ล้วนแล้วแต่เป็นมุมมองความรู้สึกดีที่อาจถูกละเลยไป
- ความสำเร็จไม่ได้มาจาก ‘เรา’ เท่านั้น เพราะปัจจัยของความสำเร็จอาจประกอบด้วยหลายอย่าง ทั้งความสามารถ ทีมงาน หรือจังหวะเวลา การมองปัจจัยของความสำเร็จได้ตามความเป็นจริงจะช่วยลดความกังวลต่อความสามารถของตนเองได้
- สื่อสารความต้องการ อุปสรรค และความผิดพลาดที่ได้เรียนรู้กับผู้ร่วมงาน เพื่อเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพราะในบางงานปัจจัยของความสำเร็จขึ้นอยู่กับทั้งตนเองและผู้อื่น การสื่อสารระหว่างกันเป็นระยะก่อนการต้องแสดงผลงานอาจช่วยให้เราเกิดประสบการณ์ทางความคิดต่อเรื่องความสำเร็จในรูปแบบใหม่
- ลดการเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ เพราะในโลกออนไลน์ที่คนมักแสดงความสำเร็จให้ผู้อื่นเห็น อาจมีที่มาที่ไปที่ยากลำบากโดยที่เราไม่เข้าใจทั้งหมด ความสำเร็จที่เรามองเห็นอาจไม่จริงเสมอไปในแบบที่เรากำลังรับรู้
- ในฐานะพ่อแม่ ควรให้คำชมและตำหนิลูกตามความเป็นจริง ไม่พร่ำเพรื่อ ไม่สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง ควรระมัดระวังการตีตราลูกและลดการเปรียบเทียบ เพราะมนุษย์แต่ละคนมีคุณลักษณะที่แตกต่างกัน และความสำเร็จไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะทำให้คนเรามีความสุข
นี่คือวิธีเบื้องต้นในการรับมือสำหรับคนที่คิดว่าตัวเองไม่เก่ง แต่จะบอกอะไรให้อย่างหนึ่งนะว่าบนโลกใบนี้ไม่มีใครที่จะเก่งไปหมดทุกอย่าง หรือจะไม่เก่งอะไรเลยสักอย่างหรอก เราทุกคนต่างมีค่าและความหมายของเราเอง
ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับใครให้มากมาย ขอให้ใช้ชีวิตให้ดีและมีรอยยิ้มในทุกวันนะ 🙂
อ้างอิง: