×

จีนป่วยโลกก็ป่วย? มองผลกระทบเศรษฐกิจจีนในวันที่ปัญหารุมเร้า จะเกิดอะไรต่อโลก

04.10.2023
  • LOADING...
จีน-โลก

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของจีนเป็นที่สนใจของทั่วโลกในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังปรากฏรายงานข่าวที่สะท้อนถึงวิกฤตการณ์ด้านอสังหาริมทรัพย์ จากกรณีการยื่นขอคุ้มครองภาวะล้มละลายของบริษัทอสังหารายใหญ่อย่าง Evergrande และ Sunac China ซึ่งในรายของ Evergrande นั้น ประธานบริษัทและอดีตผู้บริหารก็ถูกตำรวจกักตัวไว้ด้วย ในขณะที่ยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ที่มียอดขายบ้านคิดเป็นกว่า 40% ของอสังหาจีน คือ Country Garden ก็เผชิญปัญหาจนเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้

 

สิ่งที่เกิดขึ้นในวงการธุรกิจอสังหาของจีน ฉายให้เห็นภาพปัญหาเศรษฐกิจที่ก่อตัวมาตั้งแต่ช่วงที่สถานการณ์โควิดยังไม่สิ้นสุด 

 

โดยตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อีกทั้งยังมีอัตราว่างงานของคนหนุ่มสาวที่เพิ่มสูง ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลว่า มหาอำนาจที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก และมีประชากรมากกว่า 1.4 พันล้านคน กำลังเผชิญปัญหาใหญ่ทางเศรษฐกิจอยู่หรือไม่? และปัญหานั้นจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงไทยที่เป็น ‘คู่ค้าสำคัญ’ และมีจีนเป็นตลาดใหญ่หรือเปล่า?

 

THE STANDARD ไขคำตอบความกังวลในเรื่องนี้กับ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

 

สถานการณ์เศรษฐกิจจีนตอนนี้เลวร้ายอย่างที่สื่อต่างชาติกังวลหรือไม่?

 

ดร.อาร์ม ให้คำอธิบายต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของจีนตอนนี้ไว้ 3 ข้อ คือ

 

  1. จุดที่แย่ที่สุดของเศรษฐกิจจีนนั้นผ่านพ้นไปแล้วในไตรมาสที่ 2

 

  1. ตอนนี้เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจจีนแบบค่อยเป็นค่อยไป ตัวเลขการบริโภคเริ่มฟื้น ในระยะกลางอาจไม่ได้เติบโตสูงเหมือนในอดีตที่เคยโตร้อยละ 10 ลงมาจนถึงร้อยละ 6 ผลประเมินโดยทั่วไปชี้ว่า ต่อจากนี้ในช่วง 5 ปี เศรษฐกิจจีนจะเติบโตได้ในระดับประมาณร้อยละ 4-5 

 

  1. เศรษฐกิจจีนมีลักษณะของการซึม และมีอัตราการเติบโตที่ช้าลงหากเทียบกับในอดีต แต่ไม่มีวิกฤตใหญ่ที่ร้ายแรงเหมือนวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 1997 หรือวิกฤตซับไพรม์ ในปี 2008 ที่ก่อผลกระทบไปทั่วโลก

 

คล้ายกับวิกฤตซับไพรม์ที่ต้นตอเกิดจากความซบเซาของตลาดอสังหาในสหรัฐฯ หรือไม่?

 

สำหรับวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ (Subprime Mortgage Crisis) หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger Crisis) ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก สาเหตุหลักเริ่มจากการที่ภาวะฟองสบู่ในตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐอเมริกาแตก และการผิดนัดชำระหนี้ของสินเชื่อซับไพรม์และสินเชื่อดอกเบี้ยลอยตัวที่เริ่มตั้งแต่ปี 2005-2006 โดยนับเป็นวิกฤตการเงินที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1

 

ดร.อาร์ม ชี้ว่า ปัญหาในธุรกิจอสังหาของจีนกับวิกฤตซับไพรม์มีความแตกต่างกัน เพราะลักษณะพิเศษของเศรษฐกิจการเมืองจีนนั้น การกู้ในจีนส่วนใหญ่คือเป็นหนี้ภายในประเทศ และธนาคารทั้งหมดของจีนล้วนเป็นธนาคารของรัฐ ดังนั้นการควบคุมและการปรับโครงสร้างหนี้สามารถทำได้ง่ายกว่า หากเทียบกับระบบของต่างประเทศ 

 

  นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาในเชิงระบบ หรือการล้มแบบโดมิโนเอฟเฟกต์ในจีนนั้นมีไม่สูงนัก เพราะรัฐบาลจีนน่าจะมีมาตรการต่างๆ ที่สามารถควบคุมได้ ไม่ให้ลามจนกลายเป็นวิกฤต

 

ทว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 15-30 ของเศรษฐกิจจีนโดยรวม ดังนั้นหากภาคอสังหาของจีนยังไม่ฟื้น ก็จะส่งผลกระทบไปยังหลายอุตสาหกรรมในห่วงโซ่ และกระทบต่อตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

ขณะเดียวกันความมั่งคั่งของประชากรจีนจำนวนมากก็อยู่ในภาคอสังหา เพราะฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นก็ย่อมกระทบต่อความรู้สึกและความปลอดภัยทางเศรษฐกิจ ทำให้ชาวจีนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอยและลดการบริโภคลง

 

ขณะที่แต่เดิมนั้น รัฐบาลท้องถิ่นของจีนมีรายได้ส่วนสำคัญจากการนำที่ดินของรัฐไปพัฒนาอสังหาร่วมกับเอกชน สถานการณ์ตอนนี้จึงยิ่งทำให้เกิดความกดดันต่อความสามารถทางการคลังของรัฐบาลท้องถิ่น ดังนั้นจึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนในลักษณะที่ทำให้เศรษฐกิจซึมและอัตราการเติบโตลดต่ำลง

 

ไทย-โลกกังวลผลกระทบ หลังชาวจีนลดการบริโภค

 

ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคของจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2022 และต่ำกว่าที่สถาบันวิจัย 14 แห่งคาดการณ์ไว้ที่ประมาณร้อยละ 2.8-10.8 ซึ่งได้รับผลกระทบจากยอดจำหน่ายรถยนต์ที่ชะลอตัว 

 

ขณะที่ตัวเลขการใช้จ่ายสินค้าและบริการ ตลอดจนปัญหาในธุรกิจอสังหาที่ทำให้การสร้างบ้านขายในจีนลดลง ส่งผลให้ความต้องการวัตถุดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง โดยในเดือนสิงหาคม อัตรานำเข้าสินค้าของจีนลดลงเกือบ 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งประเทศยังอยู่ภายใต้ข้อจำกัดจากมาตรการโควิดเป็นศูนย์

 

การลดการบริโภคและการนำเข้าสินค้าของจีนที่เป็นตลาดสำคัญของหลายประเทศรวมถึงไทย ก่อให้เกิดความกังวลไม่น้อยว่า หลายภาคธุรกิจอาจได้รับผลกระทบ

 

โดย ดร.อาร์ม ชี้ว่าปัญหานี้อยู่ที่ประเทศไหนมีความเชื่อมโยงหรือพึ่งพาจีนมากหรือน้อยกว่ากัน ตัวอย่างเช่น หากเราพึ่งพานักท่องเที่ยวจีน แต่เศรษฐกิจจีนเกิดปัญหา ก็อาจทำให้ชาวจีนออกมาเที่ยวต่างประเทศน้อยลง เลือกที่จะเที่ยวในประเทศมากขึ้น และหากการส่งออกของเรามีสัดส่วนตลาดจีนที่สูง ภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนก็ย่อมกระทบกับภาคการส่งออก ซึ่งอันนี้ขึ้นอยู่กับความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับจีน และในแต่ละประเทศก็อาจมีผลกระทบที่แตกต่างกัน

 

แต่แน่นอนว่าประเทศในเอเชียรวมถึงไทยเองก็จะมีความเชื่อมโยงกับจีนที่สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจจีนที่ซึมลงก็จะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศเศรษฐกิจในเอเชียมากตามไปด้วย

 

เศรษฐกิจจีนยังควบคุมได้ ไม่มีผลกระทบลุกลามวงกว้าง?

 

ดร.อาร์ม ย้ำว่า ภาวะเศรษฐกิจจีนที่เป็นไปในลักษณะของการซึม และตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่แย่ในช่วงไตรมาสที่ 2 เพียงไตรมาสเดียว อาจเร็วเกินไปที่จะสรุปได้ว่าเศรษฐกิจจีนนั้นวิกฤต

 

โดยเศรษฐกิจจีนไตรมาสที่ 2 ที่บอกว่าแย่นั้น มีนัย 2 ข้อ 

 

  1. แย่เมื่อเทียบกับการเติบโตในอัตราที่สูงในอดีต 

 

  1. แย่เมื่อเทียบกับความคาดหวังต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ ‘แรงและเร็ว’ ของจีน ภายหลังการเปิดเมืองและผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิดที่เข้มงวด แต่การฟื้นตัวกลับไม่ดีขึ้นชัดเจนอย่างที่คาดไว้ เพราะปัจจัยจากภาคอสังหา ซึ่งมีสัดส่วนที่สูงต่อเศรษฐกิจจีน ส่วนการบริโภคแม้จะมีลักษณะของการฟื้นตัว แต่สัดส่วนการบริโภคต่อ GDP ของจีนไม่ได้สูงเหมือนหลายประเทศตะวันตก จึงทำให้ไม่สามารถพยุงเศรษฐกิจจีนให้ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

 

เศรษฐกิจจีนซึม กระทบไทยตั้งตารอนักท่องเที่ยวจีนกลับมา

 

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า สถิตินักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยในช่วง 8 เดือนของปี 2023 มีจำนวนกว่า 2.2 ล้านคน ซึ่งยังดูห่างไกลจากตัวเลข 11 ล้านคนในช่วงก่อนโควิด และห่างจากเป้าหมาย 5 ล้านคนที่ ททท. ตั้งไว้ 

 

ดร.อาร์ม อธิบายถึงเหตุผลที่นักท่องเที่ยวจีนไม่กลับมาไทยอย่างที่หวังไว้ มีปัจจัย 3 ข้อ ได้แก่

 

  1. กระบวนการทำวีซ่าเข้าประเทศมีความยุ่งยาก

 

  1. ปัญหาเรื่องข่าวที่แพร่หลายในจีนเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในการท่องเที่ยวในภูมิภาค ไม่เฉพาะแค่ไทย

 

  1. ปัญหาเศรษฐกิจจีนที่ส่งผลกระทบ ทำให้คนจีนเลือกท่องเที่ยวในประเทศ อีกทั้งรัฐบาลจีนก็ส่งเสริมให้ประชาชนเที่ยวในประเทศเป็นลำดับแรก

 

โดยหากดูจากทั้ง 3 ปัจจัย จะเห็นว่ารัฐบาลไทยได้ผ่อนคลายปัจจัยที่ 1 ด้วยมาตรการฟรีวีซ่า หรือการยกเว้นวีซ่าชั่วคราวแก่นักท่องเที่ยวจีน ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ช่วง Golden Week หรือวันหยุดยาวฉลองวันชาติจีน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ดังนั้นแนวโน้มตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนก็น่าจะดีขึ้น 

 

ขณะที่หากบรรยากาศหรือสภาพทางเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มปรับดีขึ้น ก็อาจส่งผลในแง่บวกมากขึ้นด้วย

 

ปัญหาเศรษฐกิจที่เผชิญอยู่จะทำให้จีนต้องลดความช่วยเหลือหรือการลงทุนในต่างประเทศไหม?

 

ที่ผ่านมาจีนถือเป็น ‘พ่อบุญทุ่ม’ ที่ให้ความช่วยเหลือมากมายแก่หลายประเทศ โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุน แต่ภาวะเศรษฐกิจที่ประสบปัญหา ทำให้เกิดคำถามว่าความช่วยเหลือเหล่านี้จะยังดำเนินต่อไปหรือไม่

 

ดร.อาร์ม มองเรื่องนี้โดยชี้ว่า จีนยังคงเดินหน้านโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ แต่แน่นอนว่าความสามารถทางการคลังและการลงทุนของจีนอาจไม่ได้สูงเช่นในอดีต ทำให้ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญต่อโครงการและการลงทุนในประเทศต่างๆ มากขึ้น ไม่สามารถลงทุนในลักษณะเหวี่ยงแหได้แบบเดิม

 

“จีนยังมีเรื่องในประเทศที่ต้องใส่ใจและแก้ไขปัญหา จึงอาจจะไม่สามารถที่จะเดินเกมในลักษณะเชิงรุกเท่ากับในอดีต แต่คงไม่ได้เปลี่ยนแปลงแนวคิดพื้นฐานของนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ที่เป็นการแสวงโอกาสให้ธุรกิจจีนในการหาตลาดใหม่เพิ่มเติม และตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ใหญ่ของจีนในการเพิ่มบทบาทในเวทีโลก”

 

‘จีน’ กับ ‘โลก’

 

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์บางคนตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ที่ปัญหาเศรษฐกิจอาจทำให้จีนที่กำลังอ่อนแอ มีความพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกใหญ่ โดยมาตรการที่เป็นข้อจำกัดทางการค้าของสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งส่งผลให้การส่งออกของจีนไปยังสหรัฐฯ ลดลงถึง 25% ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ 

 

แต่การปรับเปลี่ยนทิศทางหรือนโยบายเศรษฐกิจของจีนให้อ่อนลงเพื่อฟื้นความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ นั้น ยังเป็นคำถามใหญ่ที่ผู้ให้คำตอบอาจไม่ใช่จีนฝ่ายเดียว

 

“ปัญหาไม่ได้อยู่ที่จีนฝ่ายเดียว ถึงจีนอยากจะฟื้นความสัมพันธ์ ก็อาจจะไม่ได้อยู่ในจุดที่สหรัฐฯ ต้องการฟื้นความสัมพันธ์ด้วย ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ก็อยู่ที่จุดยืนในหลายๆ เรื่อง เช่น เรื่องไต้หวัน สงครามเทคโนโลยี สงครามการค้า ซึ่งสหรัฐฯ ก็ไม่มีท่าทีที่จะเปลี่ยนแปลงจุดยืนเหล่านี้ต่อจีน จึงยังเป็นเรื่องที่ลำบาก หากจะบอกว่าจะเห็นทั้ง 2 ประเทศฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างกัน” ดร.อาร์ม กล่าว

 

ความเห็นหนึ่งจากผู้สังเกตการณ์ในวอชิงตัน มองว่าการที่ภาวะเศรษฐกิจจีนอยู่ในช่วงขาลงนั้น อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินการกรณีไต้หวัน ซึ่งจีนยืนยันมาตลอดว่าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตน

 

ไมค์ กัลลาเกอร์ สส. จากพรรครีพับลิกัน และประธานคณะกรรมการวิสามัญด้านจีนของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ กล่าวว่า ปัญหาภายในที่จีนกำลังเผชิญอยู่ ทำให้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง “คาดเดาได้ยากมากขึ้น” และอาจส่งผลให้เขา “ทำสิ่งที่โง่เขลา” ในกรณีไต้หวัน

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนปฏิเสธแนวคิดนี้ รวมถึงประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ซึ่งมองว่าขณะนี้ผู้นำจีนมีเรื่องยุ่งเหยิงเต็มมือในการจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจของตนเอง

 

“ผมไม่คิดว่ามันจะทำให้จีนบุกไต้หวัน แต่ในความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม จีนอาจจะไม่มีความสามารถเท่าเมื่อก่อน” ไบเดนกล่าว

 

แต่ ดร.อาร์ม มองว่า การที่จีนจะบุกหรือไม่บุกไต้หวัน หรือมีจุดยืนอย่างไรในด้านการต่างประเทศนั้น อาจไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับประเด็นความเข้มแข็งหรืออ่อนแอในทางเศรษฐกิจ โดยอาจเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของผู้นำจีน หรือจุดยืนของฝ่ายตรงข้ามต่อประเด็นนี้ เช่น จุดยืนของสหรัฐฯ ต่อไต้หวัน และจุดยืนของไต้หวันต่อสถานะของตนเอง

 

อ้างอิง:

 

📌 ไม่พลาด! งาน THE STANDARD Economic Forum 2023 บัตรจำนวนจำกัด ซื้อวันนี้!

Early Bird 2,500 บาท (ราคาเต็ม 3,990 บาท)

🔥 เข้างานได้ทั้ง 3 วัน

🔥 รับสิทธิ์ดูย้อนหลัง ฟรี! 3 เดือน

🔥 จำนวนจำกัด 1,000 ใบ

Corporate Tickets 2,000 บาท (เมื่อสั่งซื้อ 10 ใบขึ้นไป)

🔥 เข้างานได้ทั้ง 3 วัน

🔥 รับสิทธิ์ดูย้อนหลัง ฟรี! 3 เดือน

https://thestandard.co/zipeventapp/e/Economic-Forum-2023/056

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X