×

นักวิเคราะห์ชี้ผลกระทบอิหร่านหลังประธานาธิบดีเสียชีวิต ‘อาจไม่มีอะไรเปลี่ยนมากนัก’

21.05.2024
  • LOADING...

กรณีการเสียชีวิตของประธานาธิบดีอิบราฮิม ไรซี จากเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกในจังหวัดอาเซอร์ไบจานตะวันออก ส่งผลให้หลายฝ่ายจับตามองถึงผลกระทบที่จะตามมาและอนาคตของอิหร่าน โดยขณะนี้อำนาจประธานาธิบดีอิหร่านถูกส่งต่อให้แก่ โมฮัมหมัด มอกห์เบอร์ รองประธานาธิบดีลำดับที่ 1 ซึ่งทำหน้าที่รักษาการตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะมีการจัดเลือกตั้งใหม่ภายใน 50 วัน

 

IRNA สื่อทางการอิหร่านรายงานว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่จะมีขึ้นในวันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน โดยการหาเสียงจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน จนถึงเช้าวันที่ 27 มิถุนายน

 

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการเลือกตั้งมีแนวโน้มที่จะจัดขึ้นอย่างเร่งรีบและอาจไม่มีประชาชนออกมาใช้สิทธิลงคะแนนมากนัก ซึ่งเห็นได้จากการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติที่จัดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบว่ามีประชาชนออกมาลงคะแนนน้อยที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านในปี 1979 โดยสาเหตุหนึ่งคาดว่ามาจากการห้ามนักการเมืองสายกลางลงสมัคร ทำให้ผู้สมัครส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองสายอนุรักษนิยมสุดโต่ง

 

อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตของไรซีอาจไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากนักต่อการบริหารประเทศของอิหร่าน เนื่องจากผู้ที่ตัดสินใจขั้นสุดท้ายในนโยบายระดับภูมิภาคนั้นคือ อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุด และกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (IRGC)

 

โดย อาลี วาเอซ (Ali Vaez) ผู้อำนวยการโครงการอิหร่านของ International Crisis Group เชื่อว่าการดำเนินนโยบายต่างๆ จะเป็นไปอย่างต่อเนื่องจากที่ผ่านมามากกว่าที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ

 

ผลกระทบระยะยาว

 

ที่ผ่านมาไรซี ซึ่งเป็นนักการเมืองสายอนุรักษนิยมสุดโต่ง และมีบทบาทในการบริหารประเทศที่เข้มงวด ถูกจับตามองในฐานะหนึ่งในผู้ที่มีแนวโน้มจะได้สืบทอดตำแหน่งผู้นำสูงสุดต่อจากคาเมเนอี ที่ปัจจุบันมีอายุ 85 ปี และถือเป็นตำแหน่งที่ทรงอิทธิพลที่สุดในประเทศ

 

คาริม ซาดจาดปูร์ (Karim Sadjadpour) สมาชิกอาวุโสของ Carnegie Endowment for International Peace มองว่า “การเสียชีวิตของไรซีอาจก่อให้เกิดวิกฤตการสืบทอดตำแหน่งผู้นำสูงสุดของอิหร่าน”

 

ตามรัฐธรรมนูญอิหร่าน กำหนดให้สมัชชาผู้เชี่ยวชาญ (Assembly of Experts) ที่มีสมาชิก 88 คน ทำหน้าที่คัดเลือกผู้สืบทอดตำแหน่งผู้นำสูงสุด

 

อย่างไรก็ตาม สมาชิกสมัชชาซึ่งไรซีได้รับเลือกให้เข้าร่วมอีกครั้งในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จะต้องผ่านการตรวจสอบจากสภาผู้พิทักษ์ (Guardian Council) ซึ่งมีสมาชิก 12 คน และมีอำนาจหน้าที่ดูแลการเลือกตั้งและการออกกฎหมาย

 

นอกเหนือจากไรซี หนึ่งในตัวเต็งที่ถูกจับตามองว่ามีศักยภาพในการชิงตำแหน่งคือ มอจตาบา คาเมเนอี (Mojtaba Khamenei) บุตรชายของผู้นำสูงสุด ซึ่งปัจจุบันเป็นนักการศาสนาระดับกลาง แต่การเลือกเขาให้ดำรงตำแหน่งต่อจากบิดาจะเป็นการหักล้างหลักการของสาธารณรัฐอิสลาม ซึ่งล้มล้างระบอบกษัตริย์ในปี 1970 และละทิ้งกฎระเบียบทางกรรมพันธุ์

 

ผลกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

 

ไรซีเสียชีวิตพร้อมกับ ฮอสเซน อามีร์-อับดุลลาเฮียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน โดยทั้งสองทำหน้าที่ดูแลนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาหรับ และมีส่วนช่วยให้ความสัมพันธ์ทางการทูตกับคู่อริอย่างซาอุดีอาระเบียกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งเป็นผลจากความช่วยเหลือของจีน

 

ทั้งสองยังมีบทบาทสำคัญในการโจมตีโดยตรงต่อศัตรูหลักอย่างอิสราเอลเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังจากที่อิสราเอลโจมตีทางอากาศถล่มสถานกงสุลอิหร่านในซีเรียจนทำให้ผู้บัญชาการ IRGC เสียชีวิต ซึ่งผลที่ตามมาทำให้อิสราเอลตอบโต้กลับแบบเปิดเผยอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าการเสียชีวิตของไรซีไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อนโยบายต่างประเทศของอิหร่าน ซึ่งการตัดสินใจที่สำคัญแทบทั้งหมดเป็นของผู้นำสูงสุด

 

โมฮัมหมัด อาลี ชาบานี ผู้เชี่ยวชาญอิหร่านและบรรณาธิการของสำนักข่าว Amwaj.media ชี้ว่า นโยบายต่างประเทศของอิหร่านจะถูกตัดสินใจโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติสูงสุด (Supreme National Security Council) และสามารถวีโต้ยับยั้งได้โดยผู้นำสูงสุด

 

แผนพิธีศพ

 

สำหรับพิธีศพของไรซีจะมีขึ้นต่อเนื่องหลายวัน เริ่มจากช่วงเช้าวันนี้ (21 พฤษภาคม) ซึ่งจะมีขบวนแห่ที่เมืองทาบริซ ในจังหวัดอาเซอร์ไบจานตะวันออก จากนั้นจะเคลื่อนย้ายศพไปทำพิธีต่อในเมืองกอม และมีพิธีใหญ่ในกรุงเตหะรานและเมืองมาแชด

 

โดยผู้นำสูงสุดจะนำประกอบพิธีสวดมนต์ ขณะที่สำนักงานรัฐบาลทั่วประเทศจะปิดทำการ และผู้ว่าราชการในจังหวัดที่มีการจัดพิธีศพสามารถประกาศให้วันพรุ่งนี้ (22 พฤษภาคม) เป็นวันหยุดราชการได้

 

ภาพ: Majid Saeedi / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X