การชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือ Fed กำลังสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับสกุลเงินเอเชียไม่ทางตรงก็ทางอ้อม โดยทำให้หลายสกุลเงิน เช่น รูปีอินเดีย เยนญี่ปุ่น หยวนจีน รูเปียห์อินโดนีเซีย และวอนเกาหลีใต้ อ่อนค่าหนักสุดในรอบหลายปี นำมาสู่คำถามที่ว่า จะเกิดอะไรขึ้นหาก Fed ไม่ลดอัตราดอกเบี้ยทั้งปีนี้?
ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา (YTD) ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นราว 4% โดยดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index: DXY) ในปีนี้เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบราว 102-106 แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวอาจไม่ดูหวือหวาเท่าปีที่ผ่านๆ มา เนื่องจากดัชนียังคงต่ำกว่าระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (เดือนกันยายนปี 2022) ซึ่งตอนนั้น DXY ไปแตะระดับ 113.31
อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ก็มีส่วนสร้างความปั่นป่วนให้กับสกุลเงินในเอเชียไม่น้อย โดยในช่วงก่อนการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) Fed ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 เมษายน – 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ (ทั้งในอิหร่านและอิสราเอล รวมไปถึงเมียนมา) ได้ทำให้สกุลเงินในเอเชียหลายสกุลอ่อนค่าแตะระดับสูงสุดในรอบหลายปี ตัวอย่างเช่น
- รูปีอินเดีย ที่แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
- เยนญี่ปุ่น ที่อ่อนค่าทะลุ 160 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าหนักสุดในรอบ 34 ปี
- หยวนจีน ที่อ่อนค่าหนักสุดในรอบ 31 ปี
- ดอลลาร์ไต้หวัน ที่อ่อนค่าหนักสุดในรอบ 8 ปี
- รูเปียห์อินโดนีเซีย และวอนเกาหลีใต้ ที่อ่อนค่าหนักสุดในรอบ 4 ปี
เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2024 ในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน และยังเป็นแหล่งที่มาของความผันผวนของตลาดในวงกว้าง และเริ่มส่งผลกระทบต่อนโยบายการเงินบางประเทศ นั่นคืออินโดนีเซีย ที่ธนาคารกลางต้องขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 6.25% เพื่อสนับสนุนค่าเงินรูเปียห์อินโดนีเซีย
นัยสำคัญของผลการประชุม FOMC ล่าสุดต่ออัตราแลกเปลี่ยนเอเชีย
ในการแถลงผลประชุม FOMC เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2024 เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ระบุว่า เวลานี้ยังคงไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังไม่เข้าสู่เป้าหมายที่ 2%
อย่างไรก็ดี พาวเวลล์ยืนยันว่า Fed ไม่ได้พิจารณาเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ย (ณ ขณะนี้) และต้องดูไปเป็นรายครั้ง (Meeting by Meeting) ซึ่งการตัดสินใจจะขึ้นกับข้อมูลเศรษฐกิจ การเคลื่อนไหวครั้งนี้ทำให้การเดิมพันของตลาดที่ว่า Fed จะปรับลดดอกเบี้ย ‘หลายครั้ง’ ในปีนี้เริ่มเลือนรางออกไป
กระนั้นทีมเศรษฐศาสตร์มหภาคของ UOB ก็ยังคงคาดการณ์ที่ว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ 25 bps ในเดือนกันยายนและธันวาคม รวมเป็น 2 ครั้งในปี 2024 แต่ยังมีความเสี่ยงที่ต้องจับตาว่า Fed อาจชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกไปอีก
โดยผลกระทบที่เกิดจากแนวโน้มการชะลอ (Delay) การลดดอกเบี้ยของ Fed ต่อตลาดปริวรรตเงินตรา (Foreign Exchange Market) สามารถสรุปคร่าวๆ ได้ดังนี้
ดอลลาร์สหรัฐ (USD) ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับที่แข็งค่าไปจนถึง 2Q24 คาดการณ์ DXY ที่ระดับ 106.6 ก่อนจะค่อยๆ อ่อนค่าลงตามการลดดอกเบี้ยใน 3Q24 และ 4Q24 ที่ 104.9 และ 103.8 ตามลำดับ
ยูโรเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐ (EUR/USD) คาดว่าจะอยู่ที่ราว 1.06 ต่อดอลลาร์สหรัฐใน 2Q24
ส่วนสกุลเงินเอเชีย (Asia FX) คาดว่าจะยังคงอ่อนค่าในช่วง 2Q24 และมีโอกาสกลับมาแข็งค่าขึ้นบางส่วนจากการอ่อนตัวลงของเงินดอลลาร์สหรัฐหลังการลดดอกเบี้ยของ Fed
กระนั้น UOB ยังคงคาดการณ์ว่า หากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ลดลงในอนาคต เงินดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่าลงในช่วง 3Q24 คาดการณ์ DXY ที่ระดับ 104.9 และ 4Q24 ที่ 103.8 ด้านสกุลเงินเอเชียคาดว่าจะทยอยแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดยเริ่มตั้งแต่ 3Q24 ตามทิศทางการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อ Fed ชะลอการลดดอกเบี้ย ส่งผลอย่างไรต่อทิศทางค่าเงินบาท
เงินบาทเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่อ่อนค่าค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา ค่าเงินบาทอ่อนค่ามาแล้ว 7.33% อยู่ที่ระดับ 36.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลจากคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ที่ตลาดคาดว่าจะเกิดขึ้นช้าออกไป รวมถึงทิศทางของสกุลเงินในภูมิภาคที่อ่อนค่าลง เช่น ญี่ปุ่น และจีน ประกอบกับกระแสเงินทุนต่างชาติที่ไหลออกจากตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ไทยก็ส่งผลต่อค่าเงินบาทด้วย
ตามมุมมองด้านค่าเงินในเอเชียที่กล่าวไปในข้างต้น UOB คาดว่าค่าเงินบาทยังคงอยู่ในโซนอ่อนค่าในช่วง 2Q24 ที่ระดับ 37.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่จะค่อยๆ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ 36.8 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐใน 3Q24, 36.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐใน 4Q24 ตามทิศทางการลดดอกเบี้ยของ Fed และการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐ และแม้จะมีคาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทยลงในปีนี้ UOB คาดว่าค่าเงินบาทจะไม่อ่อนค่าเพิ่มเติม เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลของไทยจะเป็นตัวช่วยหนุนให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นผลมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่กลับมาในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสม 4 เดือนแรกของปีนี้ทะลุ 12 ล้านคน คิดเป็นการเติบโต 39% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 583,902 ล้านบาท ในขณะที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ภาพรวมไตรมาส 2 (เมษายน-มิถุนายน) ปี 2024 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 8,272,300 คน เพิ่มขึ้น 29% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2023 สร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 367,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% และตัวเลขการส่งออกที่คาดว่าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น โดยได้อานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกซึ่งเป็นคู่ค้าที่ยังเติบโตได้
ทั้งนี้ท่านสามารถขอคำแนะนำกับที่ปรึกษาทางการเงิน (Client Advisor) ของ UOB Privilege Banking เพื่อให้ช่วยค้นหากองทุนที่คุณพร้อมจะอดทนรอผลตอบแทนที่คุ้มค่า ติดต่อที่โทร. 0 2081 0999 หรือคลิก www.uob.co.th/privilegebanking
อ้างอิง: