ในการประชุมหารือทวิภาคีระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไทยและ IMF ไทยได้รับคำชื่นชมจาก IMF เรื่องการบริหารหนี้สาธารณะของไทย เนื่องจากเงินกู้รัฐบาลไทยเกือบทั้งหมดเป็นสกุลบาท ทำให้ได้รับผลกระทบจากดอลลาร์สหรัฐแข็งน้อย
พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ร่วมประชุมหารือทวิภาคีกับ คริสตาลินา จอร์จีวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ในระหว่างการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ครั้งที่ 29 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ วันที่ 18 พฤศจิกายน ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กูรูชี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังเขย่าห่วงโซ่การผลิตโลก เตือนไทยมัวแต่เหยียบเรือสองแคม สุดท้ายอาจตกขบวน
- วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค
- ต่างชาติแห่ปักหมุด ลงทุนเวียดนาม ยอด FDI พุ่งแซงไทยแบบไม่เห็นฝุ่น สัญญาณบ่งชี้ ไทยเริ่มไร้เสน่ห์?
โดยจอร์จีวาได้ชื่นชมการบริหารจัดการนโยบายการคลังของไทย โดยเฉพาะการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ เนื่องจากเงินกู้ของรัฐบาลเกือบทั้งหมดอยู่ในรูปของสกุลเงินบาท ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากการที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งตัว
นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายยังได้มีการหารือถึงภาพรวมในประเด็นด้านเศรษฐกิจ โดย IMF มีความเห็นว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของสมาชิกเขตเศรษฐกิจ APEC ในปี 2022 จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่เศรษฐกิจโลกยังคงมีความเสี่ยงจากปัญหาเงินเฟ้อและสถานการณ์ที่ส่งผลต่อราคาพลังงานที่สูงขึ้น
จอร์จีวายังเห็นว่า ความท้าทายทางเศรษฐกิจที่สำคัญในขณะนี้ ได้แก่ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยได้เสนอให้ประเทศไทยแบ่งปันประสบการณ์การรับมือกับปัญหาดังกล่าวแก่ประเทศอื่น และความท้าทายอีกประการหนึ่งคือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย IMF สนับสนุนการใช้กลไก Carbon Pricing
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้แจ้งว่า การใช้กลไกทางการเงินการคลังเพื่อจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นนโยบายที่กระทรวงการคลังให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังได้กล่าวว่า ประเทศไทยมีโครงการธนาคารต้นไม้ที่ดำเนินการโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทำหน้าที่สนับสนุนการปลูกต้นไม้ในชุมชน สนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก กิจกรรมชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) รวมถึงโครงการสินเชื่อสีเขียว (Green Credit) โดยกระทรวงการคลังยินดีจะหารือในรายละเอียดกับ IMF ในเรื่องของแนวทางการใช้มาตรการการลดคาร์บอนให้สอดคล้องกับบริบทการพัฒนาของประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมต่อไป
นอกจากนี้จอร์จีวายังได้กล่าวสนับสนุนประเทศไทยในการส่งเสริมความร่วมมือในการเสริมสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค (Connectivity) โดย IMF พร้อมให้ความร่วมมือกับประเทศไทย กลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง และอาเซียน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืน