×

IMF คาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกปี 2025 ยังขยายตัวต่อเนื่อง อานิสงส์นโยบายการเงินผ่อนคลาย

25.10.2024
  • LOADING...
เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก

Krishna Srinivasan ผู้อำนวยการแผนกเอเชียแปซิฟิกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เผยแพร่ข้อมูลคาดการณ์เศรษฐกิจล่าสุดของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเน้นย้ำถึงความแข็งแกร่งของภูมิภาคนี้ในฐานะเครื่องจักรสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก

 

ภาพรวมเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก

 

ในครึ่งปีแรกของปี 2024 เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเติบโตอย่างแข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ไว้ การเติบโตของทั้งภูมิภาคคาดว่าจะอยู่ที่ 4.6% ในปีนี้ และ 4.4% ในปีหน้า ส่งผลให้เอเชียเป็นทวีปหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตมากถึง 60% แม้สัดส่วนของเศรษฐกิจเอเชียจะคิดเป็นเพียง 40% ของ GDP โลก

 

โดยรวมคาดการณ์ว่า ความต้องการภายในของกลุ่มประเทศในเอเชียจะสูงขึ้น หลังจากนโยบายการเงินผ่อนคลาย

 

การเจริญเติบโตในอินเดียและจีน

 

เศรษฐกิจจีนและอินเดียจะยังคงเติบโตได้ดี แต่คาดว่าการเติบโตของทั้ง 2 ประเทศจะลดลงในปี 2025 กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่นอกเหนือไปจากจีนและอินเดีย คาดว่าจะเห็นการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและกระจายไปสู่ระดับฐานรากมากขึ้น 

 

เงินเฟ้อ

 

เอเชียจัดการกับอัตราเงินเฟ้อได้ดี และทำให้เงินเฟ้อต่ำลงได้เร็วกว่าภูมิภาคอื่นๆ โดยกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียสามารถจัดการปัญหาเงินเฟ้อสำเร็จแล้ว ยกเว้นประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ที่ยังคงเผชิญแรงกดดันจากค่าแรงที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม IMF คาดว่า แรงกดดันจากเงินเฟ้อจะค่อยๆ หายไปในช่วง 12 เดือนข้างหน้า

 

จากนี้ไปธนาคารกลางในเอเชียน่าจะผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับช่วงต้นปีที่ผ่านมา ในช่วงเวลานั้นธนาคารกลางในหลายประเทศอาจกังวลเรื่องการผ่อนคลายอัตราดอกเบี้ย เพราะกังวลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน และการไหลออกของเงินทุน แต่เมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ ใช้มาตรการลดดอกเบี้ยไปแล้ว ทำให้ในหลายประเทศใช้มาตรการผ่อนคลายมากขึ้นเช่นกัน 

 

แนวโน้มของเศรษฐกิจจีน

 

กิจกรรมทางเศรษฐกิจในจีนลดลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีนี้ ส่งผลให้การคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจจีนลดลงเหลือ 4.8% จากที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนกรกฎาคมว่าน่าจะโตได้ 5% 

 

ภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนยังน่าเป็นห่วง และถูกจับตามองอย่างมากว่าจะต้องอัดฉีดเม็ดเงินมากขึ้นเพื่อพยุงภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่การบริโภคของประชาชนจีนลดลงอย่างมาก ท่ามกลางภาวะที่ผู้บริโภคจีนไม่เชื่อมั่นที่จะใช้จ่าย แม้รัฐบาลจีนจะใช้มาตรการทางการเงินในเดือนกันยายนและมาตรการการคลังในเดือนตุลาคม ขณะนี้ยังต้องรอดูผลจากมาตรการว่าจะส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจจีน 

 

ความเสี่ยงที่ต้องจับตา

 

ทั้งนี้ เอเชียยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากการลดลงของความต้องการสินค้าทั่วโลก โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ ซึ่งถือว่าเป็นข่าวร้ายสำหรับภูมิภาคเอเชียที่ต้องพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ เป็นหลักสำหรับสินค้าส่งออก ขณะที่ความต้องการบริโภคในจีนลดลงส่งผลกระทบต่อภูมิภาคเช่นกัน 

 

นอกจากนี้การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและสหรัฐฯ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้นทุนการค้าเพิ่มขึ้น และกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเอเชียที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่การผลิตโลก

 

จีนส่งออกไปยังกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียมากขึ้น และส่งออกไปกลุ่มประเทศที่ก้าวหน้าแล้วลดลง เช่นเดียวกัน กลุ่มประเทศในอาเซียนส่งออกไปจีนและสหรัฐฯ มากขึ้น เพราะความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ส่งผลให้เกิดการปรับห่วงโซ่การผลิต และประเทศที่สามได้อานิสงส์ ซึ่งรวมถึงหลายประเทศในอาเซียนและมีไทยรวมอยู่ด้วย 

 

ในภาพรวมสถานการณ์เช่นนี้ถือว่าต้นทุนการผลิตสูงขึ้นในเชิงเศรษฐกิจ เพราะที่สุดแล้วไม่มีใครชนะจากการแบ่งขั้วทางการค้า ทุกคนมีราคาที่ต้องจ่ายจากการเติบโตในระดับโลกที่ลดลง 

 

เอเชียถือว่าจะเป็นกลุ่มประเทศที่ถูกกระทบอย่างหนักมากกว่าประเทศอื่น เพราะเกี่ยวพันอย่างมากกับห่วงโซ่การผลิตของโลก 

 

มุมมองต่อเศรษฐกิจไทย

 

สำหรับประเทศไทย IMF รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ที่ 2.8% ในปี 2024 ซึ่งนับว่าต่ำกว่าประเทศอื่นในกลุ่ม ASEAN อย่างเช่น อินโดนีเซียที่ 5.0%, ฟิลิปปินส์ที่ 5.8% และเวียดนามที่ 6.1% แม้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยจะเริ่มเกิดขึ้น แต่ยังคงต้องพึ่งพาอุปสงค์ภายในประเทศที่ต้องเติบโตมากขึ้น จากมาตรการทางการที่เงินผ่อนคลายลงแล้ว 

 

โดยรวม IMF ระบุว่า ไทยอาจได้อานิสงส์จากการปรับห่วงโซ่การผลิตของจีน เพราะผลจากความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ แต่ในระยะยาวยังไม่ชัดว่าไทยจะยังได้รับผลดีหรือไม่ ขณะที่การยกระดับการศึกษาและเพิ่มทักษะแรงงานไทยเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่จะช่วยให้ไทยรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ 

 

การปรับตัวระยะยาว

 

IMF ระบุว่า เอเชียต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและรูปแบบการเติบโตในอนาคต การพัฒนาแบบเดิมๆ ด้วยการใช้แรงงานจำนวนมากในภาคเกษตรกรรม และเปลี่ยนผ่านให้ไปทำงานในภาคอุตสาหกรรม ทำให้เอเชียประสบความสำเร็จอย่างสูงมาแล้ว แต่ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจเอเชียต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่การให้บริการมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะถือว่าภาคการบริการที่ทันสมัยมีผลิตภาพมากกว่าการผลิต เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจโลกพึ่งพาสินค้าในภาคการผลิตลดลง และมีความต้องการในภาคบริการมากขึ้น 

 

สรุปภาพรวม

 

เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก แม้จะเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน แต่การปรับโครงสร้างและการพัฒนานโยบายการเงินที่สอดคล้องกับสถานการณ์จะช่วยให้ภูมิภาคนี้ฟื้นตัวและเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X