IMF หั่นประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจโลกปีนี้ลงเหลือ 2.8% จาก 3.3% เหตุภาษีทรัมป์กระทบเศรษฐกิจแทบทุกประเทศ พร้อมหั่น GDP ไทยปีนี้ลงเหลือ 1.8% ส่งผลให้ไทยจ่อเป็นประเทศที่เศรษฐกิจโตต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของเอเชียในปีนี้
วันนี้ (22 เมษายน) ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (The World Economic Outlook: WEO) ฉบับเดือนเมษายนปี 2025 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี 2025 ลงเหลือ 2.8% จากประมาณการก่อนหน้านี้ที่ 3.3% ในรายงาน WEO ฉบับอัปเดตเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา นับเป็นการปรับลดลงถึง 0.5%
สำหรับประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2026 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3% ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ในเมื่อเดือนมกราคม 0.3%
โดยปัจจัยสำคัญมาจาก IMF มีการดาวน์เกรดประมาณการ GDP ลงเกือบทุกประเทศ ซึ่งสะท้อนถึงผลกระทบโดยตรงของมาตรการการค้าใหม่ของสหรัฐฯ และผลกระทบทางอ้อมจากความเชื่อมโยงการค้า ความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น และความเชื่อมั่นที่ลงเป็นส่วนใหญ่
สำหรับประมาณการการเติบโตของ GDP สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ออกมาตรการเพิ่มภาษีศุลกากร และเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก IMF ได้ปรับลดประมาณการลงถึง 0.9% เหลือโต 1.8% ในปี 2025 และ 1.7% ในปี 2026
ทั้งนี้ IMF ระบุว่า ผลกระทบของภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ต่อการเติบโตของ GDP ประเทศต่างๆ จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ทางการค้า องค์ประกอบของอุตสาหกรรม การตอบสนองของนโยบาย และโอกาสในการกระจายความเสี่ยงทางการค้า การสนับสนุนทางการคลัง (Fiscal support) ที่ช่วยชดเชยผลกระทบเชิงลบได้บางส่วน
IMF หั่น GDP ประเทศไทยเหลือโต 1.8% โตต่ำสุดในกลุ่ม
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังได้ปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2025 ลงเหลือ 1.8% จากประมาณการก่อนหน้านี้ที่ 2.9% เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา นับเป็นการปรับลดลงถึง 1.1% ส่วนประมาณการเติบโตของ GDP ไทยปี 2026 คาดการณ์ว่าจะชะลอตัวต่อเนื่องอยู่ที่ 1.6% เท่านั้น
ประมาณการล่าสุดของ IMF นี้ยังคาดว่า เศรษฐกิจไทยจะโตต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเอเชียและตลาดเกิดใหม่เอเชีย ที่ IMF ประเมินการเติบโตของ GDP ปี 2025 ไว้ ตัวอย่างเช่น
- อินเดีย 6.2 %
- ฟิลิปปินส์ 5.5%
- เวียดนาม 5.2%
- อินโดนีเซีย 4.7 %
- มาเลเซีย 4.1 %
- จีน 4.0%
- ไทย 1.8%
ทั้งนี้ ไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายอันดับต้นๆ ที่สหรัฐฯ ต้องการลดการขาดดุลทางการค้ามากที่สุด เนื่องจากไทยเป็นอันดับที่ 10 ที่สหรัฐฯ ขาดดุลด้วยอยู่ที่ -45,609 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 3.8% ของการขาดดุลในปี 2024
รายงานของ IMF ยังกล่าวถึงความท้าทายในการดำเนินนโยบายในรอบนี้ นั้นคือพื้นที่ในการดำเนินนโยบายเหลือน้อยลง หรือหมดไปแล้วในหลายประเทศ ทำให้ผู้กำหนดนโยบายอาจช่วยฟื้นหรือกระตุ้นเศรษฐกิจได้จำกัด เนื่องจากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายประเทศได้ใช้กระสุนทางนโยบายไปจำนวนมาก เพื่อรับมือกับวิกฤตโควิด และผลกระทบจากสงครามในยูเครน เป็นต้น โดยจะเห็นได้ว่า หนี้สาธารณะหลายประเทศทั่วโลกเพิ่มสูง ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้ในปัจจุบันพื้นที่ทางคลังทั่วโลกมีความตึงตัวขึ้นมากกว่าเมื่อทศวรรษที่แล้วอย่างมาก