×

IMF มอง ธปท. ยังเหลือพื้นที่ลดดอกเบี้ย เหตุเงินเฟ้อต่ำ เศรษฐกิจจ่ออ่อนแอ แนะรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจแบบมุ่งเป้าและชั่วคราว

28.04.2025
  • LOADING...
imf-bot-interest-rate-cut

IMF มอง ธปท. ยังเหลือพื้นที่ในการลดดอกเบี้ยอยู่ เหตุเงินเฟ้อต่ำ เศรษฐกิจจ่ออ่อนแอลงเพราะภาษีทรัมป์ ย้ำลดดอกเบี้ยช่วยลดผลกระทบจากความเสี่ยงทางการค้าได้ แนะรัฐบาลออกแบบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบมุ่งเป้า (Targeted) และชั่วคราว (Temporary) เท่านั้น เพื่อเก็บพื้นที่การคลังไว้รอรับความไม่แน่นอนอื่นๆ

 

Rupa Duttagupta รองผู้อำนวยการ ฝ่ายเอเชียและแปซิฟิกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ธปท. ยังมีช่องว่างเหลือให้ลดดอกเบี้ยนโยบายเหลืออยู่ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยยังต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย นอกจากนี้ นโยบายภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ยังอาจทำให้เศรษฐกิจอ่อนแอลง ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง

 

“เนื่องจากตอนนี้เศรษฐกิจอ่อนแอลง ช่องว่างระหว่าง GDP และการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Potential Growth) หรือ Output Gap ยังคงกว้างขึ้น อัตราเงินเฟ้อก็อยู่ในระดับต่ำมาก เราจึงมองว่า (ธนาคารแห่งประเทศไทย) ยังมีช่องว่างในการปรับลดเพิ่มเติมอีก” Duttagupta กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม Duttagupta ปฏิเสธที่จะระบุว่า กนง. ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยเท่าไร หรือควรลดเมื่อไร เนื่องจากมองว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับว่ามีสถานการณ์เฉพาะของแต่ละประเทศ และความไม่แน่นอนยังคงมีอยู่ทั้งสองด้าน

 

ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ก่อน IMF ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงเหลือ 1.8% โดย Duttagupta เปิดเผยว่า หนึ่งในเหตุผลหลักที่มีการปรับลดประมาณการดังกล่าว เป็นเพราะไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชียนั้นพึ่งพาการส่งออกจากต่างประเทศเป็นหลัก โดยสัดส่วนสินค้าต่อ GDP อยู่ที่มากกว่า 50% และจากการประมาณการของ IMF พบว่ามากกว่า 15% ของสินค้าส่งออกของไทยทั้งหมดนั้นส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา 

 

Duttagupta อธิบายอีกว่า อัตราเงินเฟ้อในเอเชียสูงขึ้นในปี 2022 และบางส่วนของปี 2023 เช่นเดียวกับส่วนอื่นๆ ของโลกแต่ลดลงเร็วกว่าด้วย เนื่องมาจากเหตุผลสำคัญประการหนึ่งคือ นโยบายการเงินเชิงรุก (Proactive Monetary Policies) และสำหรับเอเชียส่วนใหญ่ รวมถึงอาเซียนด้วย อัตราเงินเฟ้อกลับมาอยู่ในช่วงเป้าหมาย สำหรับประเทศไทยอันที่จริงแล้ว อัตราเงินเฟ้ออยู่ต่ำกว่าช่วงเป้าหมาย 1-3% ดังนั้น IMF จึงคิดว่ายังมีช่องว่างในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอยู่

 

Duttagupta

 

ลดดอกเบี้ยช่วยลดผลกระทบภาษีทรัมป์ได้หรือไม่?

 

Duttagupta กล่าวว่า การลดอัตราดอกเบี้ยสามารถช่วยบรรเทาต้นทุนบางส่วนที่เกิดจากภาษีศุลกากรที่สหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นได้ ยิ่งไปกว่านั้น ภาษีศุลกากรยังทำให้โอกาสทางเศรษฐกิจอ่อนแอลง ซึ่งยังเปิดพื้นที่ให้กระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง

 

Duttagupta ยังมองว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย 2 ครั้ง เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วและเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ‘ถือเป็นเรื่องน่ายินดี’

 

ทั้งนี้ กรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีกำหนดประชุมอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในวันที่ 30 เมษายนนี้

 

คำแนะนำนโยบายการเงินเพิ่มเติม 

 

Duttagupta กล่าวอีกว่า ธปท. ควรดำเนินอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่น เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากเงื่อนไขการค้าที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ อย่างไรก็ตาม หากตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมีความผันผวนมากเกินไป ก็สามารถจัดการได้ด้วยการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน

 

พร้อมมองว่า หาก กนง. ลดอัตราดอกเบี้ยไปพร้อมๆ กับการดำเนินนโยบาย Macro Prudential เพื่อควบคุมความเสี่ยงมหภาค เพื่อให้แน่ใจว่าการกู้ยืมจะยังอยู่ในลักษณะที่รับผิดชอบ จะเป็นการช่วยเศรษฐกิจและบรรเทาภาระการชำระหนี้ของลูกหนี้ไปพร้อมๆ กัน

 

Duttagupta

 

นโยบายการคลังรับมือภาษีทรัมป์ควรมุ่งเป้าและชั่วคราว

 

สำหรับนโยบายการคลัง Duttagupta มองว่า ควรเป็นส่วนเสริมของนโยบายการเงิน เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าช็อกที่เกิดจากเงื่อนไขการค้าจะยืดเยื้อ 

 

“เราไม่คิดว่าจำเป็นต้องมีการตอบสนองทางการคลังแบบวงกว้าง (Broad) เพื่อรับมือกับวัฏจักรนี้ อย่างไรก็ตาม ในบางภาคส่วนในบางครัวเรือนและในบางบริษัทจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก อาจต้องการมาตรการการคลังขนาดเล็ก (Small) กำหนดเป้าหมาย (Targeted) และชั่วคราว (Temporary) เพื่อบรรเทาและช่วยเหลือการปรับตัวให้เข้ากับดุลยภาพใหม่นี้

 

เกี่ยวกับแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 5 แสนล้านบาทที่รัฐบาลเพิ่งประกาศมา Duttagupta มองว่ายังเร็วเกินไปที่จะวิเคราะห์ประกาศนี้ เนื่องจากยังต้องมีการหารือเกี่ยวกับระดับความเร็วที่จะดำเนินการ วิธีการจัดหาเงินทุน และองค์ประกอบของการใช้จ่าย

 

“เราจะมีเจ้าหน้าที่ของ IMF เยี่ยมชมกรุงเทพฯ ในเดือนหน้า และเราจะหารือในบริบทนั้น ขอย้ำอีกครั้งว่าขนาดและความเร็วของมาตรการการคลังทางการคลังใดๆ ควรจะขึ้นอยู่กับการหารือ เพื่อลดความตึงเครียดทางการค้า”

 

Duttagupta ยังแนะว่า นอกจากรัฐบาลไทยควรใช้มาตรการทางการคลังแบบชั่วคราวและพุ่งเป้าหมายแล้ว ในแผนการคลังระยะปานกลางควรมีมาตรการชดเชยรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนด้วยมาตรการอื่นๆ เพื่อให้ไทยเดินหน้าสู่การลดหนี้สาธารณะ ซึ่งจะสร้างประโยชน์อย่างมากต่อเศรษฐกิจ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising