×

IMF ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียเป็นโต 4.5% ในปีนี้ เหตุอินเดีย-จีนหนุน แต่หั่น GDP ไทยปีนี้เหลือ 2.7%

30.04.2024
  • LOADING...
เศรษฐกิจเอเชีย

ไทยกลายเป็นประเทศเดียวในกลุ่มอาเซียน 5 ประเทศที่ถูก IMF ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้เหลือ 2.7% หลัง IMF ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียเป็นโต 4.5% ด้วยเหตุอินเดีย-จีนช่วยหนุน

 

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกรายงาน Regional Economic Outlook: Asia and Pacific ฉบับเดือนเมษายน 2024 โดยปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียเป็น 4.5% ในปีนี้ จาก 4.2% ในประมาณการเดิมเมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน เนื่องจากมีการเติบโตของอินเดียและจีนเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก

 

โดย IMF ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP อินเดียและจีนในปีนี้เป็น 6.8% และ 4.6% ตามลำดับ

 

นอกจากนี้ ในงานแถลงข่าว เจ้าหน้าที่ IMF ยังเรียกอินเดียว่าเป็น ‘เศรษฐกิจหลักที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก’ โดยปัจจุบันอินเดียมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก โดยมี GDP ขนาด 3.7 ล้านล้านดอลลาร์ และตั้งเป้าที่จะเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกภายในปี 2570

 

ไทยประเทศเดียวในกลุ่ม ASEAN-5 ที่ถูกหั่นประมาณการ

 

อย่างไรก็ดี IMF ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือ 2.7% จาก 3.2% ในประมาณการเดิมเมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน สำหรับปีหน้า IMF คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะโต 2.9%

 

ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศเดียวในกลุ่มอาเซียน 5 ประเทศ (ASEAN-5) ที่ถูกปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ ส่วนประเทศอื่นๆ อย่างมาเลเซียและฟิลิปปินส์ถูกปรับขึ้นประมาณการเป็น 4.4% และ 6.2% ตามลำดับ ขณะที่อินโดนีเซียและสิงคโปร์ IMF คงประมาณการ GDP ไว้ที่ 5.0% และ 2.1% ตามลำดับ

 

IMF กล่าวว่า ด้วยการลดลงที่รวดเร็วของเงินเฟ้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว (Resilient) ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกกำลังใกล้เข้าสู่การลงจอดที่นิ่มนวล (Soft Landing) ซึ่งหมายถึงเป็นภาวะที่แม้ธนาคารกลางจะพยายามคุมเงินเฟ้อด้วยการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด แต่เศรษฐกิจก็ไม่ชะลอตัวมากเกินไปจนนำไปสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)

 

อย่างไรก็ดี ประมาณการการเติบโตเอเชียที่ 4.5% ในปีนี้ก็นับว่าชะลอตัวจากปีก่อนที่ 5% สำหรับคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจเอเชียปี 2025 อยู่ที่ 4.3%

 

สำหรับเหตุผลที่ IMF ตัดสินปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจของภูมิภาคเนื่องจากมองว่าความเสี่ยงด้านลบและบวกในระยะสั้นได้มีความสมดุลในวงกว้างแล้ว (Broadly Balanced) เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกลดลง และมีความเป็นไปได้ที่นโยบายการเงินจะผ่อนคลาย อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนก็ยังคงเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ ท่ามกลางความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทำให้แนวโน้มระยะกลางมีความไม่แน่นอน

 

IMF ยังแนะผู้กำหนดนโยบายว่า เมื่อพิจารณาถึงภูมิทัศน์เงินเฟ้อที่หลากหลาย นโยบายของธนาคารกลางแต่ละแห่งจำเป็นต้องปรับให้ตรงกับสถานการณ์และความต้องการภายในประเทศ

 

สำหรับนโยบายทางการคลัง รัฐบาลต่างๆ ควรเร่งสร้างสมดุลทางการคลัง หรือใช้มาตรการรัดเข็มขัด (Fiscal Consolidation) เพื่อลดภาระหนี้และต้นทุนการชำระหนี้ เพื่อรักษาพื้นที่งบประมาณ (Budgetary Space) สำหรับจัดการกับความท้าทายเชิงโครงสร้าง รวมถึงการสูงวัยของประชากรและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X