×

NASA เปิดภาพดาวพฤหัสบดีสีแปลกตา ในช่วงคลื่นอัลตราไวโอเลตจากกล้องฮับเบิล

10.11.2023
  • LOADING...
Jupiter

NASA เปิดภาพถ่ายดาวพฤหัสบดีโทนสีพาสเทล จากการบันทึกภาพโดยอุปกรณ์บนกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ในช่วงที่ดาวอยู่ตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในปี 2023 เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

 

ภาพดังกล่าวไม่ใช่สีจริงของดาวพฤหัสบดี โดยเป็นการสำรวจในช่วงคลื่นอัลตราไวโอเลต และแทนค่าสีในช่วงที่ตามนุษย์มองเห็นในข้อมูลจากฟิลเตอร์ที่ต่างกัน ได้แก่ สีน้ำเงินกับฟิลเตอร์ F225W สีเขียวกับฟิลเตอร์ F275W และสีแดงกับฟิลเตอร์ F343N

 

สำหรับภาพดาวพฤหัสบดีรูปนี้ แสดงให้เห็นจุดแดงใหญ่เป็นเอกลักษณ์ โดยอนุภาคของเมฆหมอกในบรรยากาศชั้นบนของจุดแดงใหญ่สามารถสะท้อนรังสีอัลตราไวโอเลตได้น้อยกว่าแถบเมฆส่วนอื่นของดาว ทำให้มืดกว่าบริเวณโดยรอบอย่างเห็นได้ชัด โดยนักดาราศาสตร์คาดว่าจะใช้ข้อมูลล่าสุดจากกล้องฮับเบิลประกอบการศึกษาเมฆและพายุบนดาวพฤหัสบดีให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงสร้างโมเดล 3 มิติของโครงสร้างเมฆในบรรยากาศของดาวเคราะห์ยักษ์ดวงนี้

 

กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลได้สำรวจดาวพฤหัสบดีมาตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มของการปฏิบัติภารกิจในวงโคจร โดยมีโอกาสได้ศึกษาการพุ่งชนของดาวหางชูเมกเกอร์-เลวี 9 ในปี 1992 มาจนถึงการสำรวจความเปลี่ยนแปลงของพายุบนดาว และบรรดาดวงจันทร์บริวารที่โคจรล้อมรอบ โดยร่วมมือกับกล้องโทรทรรศน์ทั้งบนภาคพื้นและในอวกาศ เพื่อศึกษาดาวพฤหัสบดีจากช่วงคลื่นที่ต่างกัน ไล่ตั้งแต่คลื่นวิทยุ, อินฟราเรดช่วงที่ตามองเห็น, อัลตราไวโอเลต ไปจนถึงรังสีเอ็กซ์

 

นอกจากการศึกษาระยะไกลแล้ว ปัจจุบัน NASA ยังมียานจูโน เป็นยานสำรวจเพียงหนึ่งเดียวที่ปฏิบัติการอยู่ในวงโคจรรอบดาวพฤหัสบดี โดยร่วมสำรวจองค์ประกอบของดาว ศึกษาสนามแม่เหล็ก และไขปริศนาไปถึงการกำเนิดของดาวเคราะห์ก๊าซที่ถือเป็น ‘พี่ใหญ่’ ของระบบสุริยะดวงนี้ ซึ่งข้อมูลจากกล้องฮับเบิลมีส่วนช่วยให้ทีมภารกิจของจูโนวางแผนการสำรวจได้เช่นกัน

 

ภาพ: NASA, ESA, and M. Wong (University of California-Berkeley)

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X