สีเหลืองน้ำเงินเป็นสง่าของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติสวีเดนอย่าง ‘อิเกีย’ (Ikea) กำลังจะเฉิดฉายให้ผู้คนหันไปเฝ้าจับตามองดูความเคลื่อนไหวของพวกเขาอีกครั้ง กับการเปิดสโตร์แรกอย่างเป็นทางการในประเทศอินเดียไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (9 ส.ค.) ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจทั้งในฐานะการลงทุนครั้งใหม่กับตลาดใหม่ ที่อิเกียใช้เวลาศึกษาวิจัยตลาดกว่า 12 ปี รวมไปถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ กลายร่างเป็นทูตวัฒนธรรมคนใหม่ของอินเดีย
สโตร์แรกและใบเบิกทางของการจ้างงาน
อิเกียสาขาแรกในอินเดียปักเสาอยู่ที่เมืองไฮเดอราบัด ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย บนพื้นที่กว่า 400,000 ตารางเมตร ซึ่งมีสินค้ามากมายกว่า 7,500 รายการที่วางขายอยู่ในสโตร์แห่งนี้ ด้วยความโดดเด่นของราคาที่ถูกมากๆ ได้มาจากไอเดียที่ผลิตเฟอร์นิเจอร์ให้ลูกค้านำกลับไปประกอบเอง เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายแรงงาน แต่กลับกลายเป็นว่าภายหลังที่อิเกียได้ทำการสำรวจข้อมูลของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ค้นพบว่าไอเดียของการ ‘ประกอบเอาเอง’ สำหรับคนอินเดียนั้นถือเป็นเรื่องใหม่
อิเกียจึงลดช่องว่างและแก้ไขปัญหานี้ด้วยการจ้างแรงงานเพิ่มเสียเลย ด้วยการร่วมมือกับบริษัทสตาร์ทอัพท้องถิ่นที่ชื่อ UrbanClap ปรบมือทีเดียว เรียกปุ๊บมาปั๊บ โดยว่าจ้างพนักงานเพิ่มเติมนอกเหนือจากในสโตร์กว่า 150 คน เพื่อนำเสนอทางเลือกให้กับลูกค้า ในการตรงดิ่งไปยังบ้านของคุณและประกอบเฟอร์นิเจอร์ให้ ในขณะที่ภายในสโตร์สาขาไฮเดอราบัดเองก็มีพนักงานกว่า 950 คนที่คอยให้บริการลูกค้าอยู่ ทั้งนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้รับตำแหน่งงานที่หลากหลายอีกด้วย
อิเกียอินเดียมีแผนจะขยายสาขาอีกกว่า 25 แห่งในหลายๆ เมือง พร้อมทั้งยังวางแผนการจ้างงานไว้อีกกว่า 15,000 ตำแหน่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นภายในปี ค.ศ. 2025 ที่จะถึงนี้
12 ปีที่รอคอย ทำไมต้องรอนานขนาดนั้น
คุณรู้หรือไม่ว่าแท้จริงแล้วระยะเวลากว่า 12 ปีในการศึกษาวิจัยข้อมูลตลาดสำหรับโครงการการเปิดสโตร์ของอิเกียในประเทศอินเดียนั้น ได้ผ่านการพูดคุยอย่างเป็นทางการระหว่างอิเกียกับทางรัฐบาลอินเดียในหลายๆ เรื่อง ทั้งเรื่องเม็ดเงินลงทุน โครงการการสร้างสโตร์สาขาอื่นๆ ในเมืองต่างๆ แต่ที่สำคัญที่สุดคือการปฏิบัติตามข้อกฎหมายเรื่องการลงทุนของบริษัทต่างชาติในประเทศอินเดีย โดยตามกฎหมายได้กำหนดไว้ว่า บริษัทหรือเจ้าของต่างชาติสามารถลงทุนในประเทศอินเดียได้ เว้นเพียงแต่ต้องเป็นผู้ถือหุ้นในฐานะเจ้าของได้มากที่สุดเพียงแค่ 51% เท่านั้น ซึ่งหมายความว่าอิเกียจะต้องร่วมลงขันกับท้องถิ่นเพื่อเปิดธุรกิจของตนเอง
อิเกียเองได้มีการเข้าไปพูดคุยกับรัฐบาลอินเดียโดยตรงหลายครั้ง เพื่อปรับเปลี่ยนข้อกฎหมายหรือละเว้นข้อกำหนดดังกล่าวในปี ค.ศ. 2009 เพื่อให้สามารถลงทุนในประเทศอินเดียได้โดยตรง แต่ก็ไม่เป็นผล ต้องรอคอยไปอีก 3 ปีให้หลัง เพราะในปี ค.ศ. 2012 รัฐบาลอินเดียได้แก้ไขข้อกฎหมายดังกล่าวเพื่อยื่นโอกาสให้แบรนด์ต่างชาติสามารถทำการค้าในประเทศอินเดียได้ โดยไม่ต้องมีการร่วมมือหรือมีหุ้นส่วนเป็นคนท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นใบเบิกทางที่ดีให้กับแบรนด์ต่างชาติอื่นๆ อีกด้วย
หาซื้อได้ที่นี่เท่านั้น
อิเกียอินเดียมีอะไรโดดเด่นกว่าที่อื่นหรือ แน่นอนว่าอิเกียเองได้ปรับตัวโดยเฉพาะในเรื่องผลิตภัณฑ์ของเขาให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในท้องถิ่น ดังนั้นจึงมีผลิตภัณฑ์ที่วางขายเพียงแห่งเดียว เช่น กล่องใส่เครื่องเทศที่มีความเฉพาะตัวมากขึ้น หรือเครื่องมือสำหรับทำอิดลี อาหารเช้ายอดฮิตของชาวอินเดียใต้ ที่มีลักษณะเป็นแป้ง ทำมาจากข้าวและถั่วเขียว
มีตบอลไก่ รสชาติเลื่องชื่อเพื่อตอบรับฮินดูวิถี
อีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่เมื่อไปเยือนอิเกียแล้วคุณจะไม่พลาดสั่งเด็ดขาดนั่นก็คือ ‘สวีดิชมีตบอล’ ลูกชิ้นเนื้อบดราดเกรวีสุดเลิศ แกล้มด้วยแยมสูตรเฉพาะของพวกเขา แต่ถ้าหากอิเกียนำเมนูนี้เข้าไปเสิร์ฟในสโตร์ มีหวังได้หอบกระเป๋ากลับสวีเดนแน่นอน เพราะด้วยชุดความเชื่อและความศรัทธาที่แข็งแรงมากๆ ของชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดู เนื้อวัวคือส่ิงต้องห้าม เพราะผู้นับถือศาสนาฮินดูจะนับถือวัวเป็นเสมือนสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ในฐานะสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งและอุดมสมบูรณ์
ซึ่งอิเกียเองก็ตอบรับวิถีชีวิตตรงนี้อย่างถูกครรลอง โดยการเลือกเสิร์ฟเฉพาะมีตบอลไก่ในร้านอาหารเท่านั้น ซึ่งเราจะคุ้นเคยกันดี หากใครเป็นแฟนอิเกีย เพราะในสโตร์ของประเทศไทยเองก็เสิร์ฟมีตบอลไก่อยู่พักหนึ่ง เนื่องด้วยเหตุผลของมีตบอลแท้ๆ นั้นขาดตลาด และประสบปัญหาการผลิต นอกจากนี้ในร้านอาหารอิเกียสาขาอินเดียนี้จะไม่มีการเสิร์ฟเมนูที่ทำจากเนื้อหมูอีกด้วย โดยหากคุณหิว สิ่งที่คุณจะสามารถสั่งได้ก็เช่น ฮอตด็อกมังสวิรัติ บริยานี หรือข้าวหมกไก่ รวมไปถึงซาโมซ่า ที่มีลักษณะคล้ายๆ กะหรี่ปั๊บของบ้านเรา
แต่นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกของอิเกียที่ปรับตัวเพื่อให้เข้ากับท้องถิ่นเช่นนี้ เพราะในสโตร์ที่มาเลเซียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เอง ก็ไม่ปรากฏเมนูที่ทำจากหมูเลย หรือการเสิร์ฟเครย์ฟิชในสโตร์ญี่ปุ่น และการเสิร์ฟฟิชแอนด์ชิปส์ในสโตร์อังกฤษ เป็นต้น
หากคุณมีเวลาว่างพอ ก็ลองโฉบไปช้อปปิ้งที่อิเกียสาขาใหม่นี้ดูสิ… แต่เผื่อเวลาหน่อยนะ เพราะรถติดมาก
How #Ikea brought #Hyderabad to a halt. pic.twitter.com/Wh6QPdUQDW
— Raj Devar 🇮🇳 (@rkdevar) August 9, 2018
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- www.bloomberg.com/news/articles/2018-08-07/ikea-eyes-world-s-fastest-growing-middle-class-with-india-store
- www.bloomberg.com/news/articles/2018-08-08/ikea-s-first-india-store-has-chicken-meatballs-11pm-opening
- www.bloomberg.com/news/articles/2018-08-09/ikea-s-long-road-to-india-timeline
- mashable.com/2018/08/10/ikea-store-india/#0NCIV6dfL5qr
- www.firstpost.com/business/how-ikea-plans-on-beating-competition-in-india-503444.html
- www.campaignindia.in/article/opinion-can-ikea-crack-indian-retail/446553
- ด้วยวัฒนธรรมการทำงานของคนในเมืองไฮเดอราบัดนั้นมีชั่วโมงการทำงานที่แตกต่าง กล่าวคือ เลิกงานกันค่อนข้างค่ำ ดังนั้นอิเกียสาขานี้จึงเปิดให้บริการถึง 23.00 น. ของทุกวัน เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้ช้อปปิ้งหลังเลิกงาน ซึ่งในสาขาบ้านเกิดที่สวีเดนนั้นเปิดให้บริการถึงเพียง 20.00 น. เท่านั้น
- อิเกีย ไฮเดอราบัดนี้ใช้เม็ดเงินลงทุนกว่า 8.1 พันล้านรูปี หรือประมาณ 3.9 หมื่นล้านบาทไทย