×

‘ถ้า’ สงครามรัสเซีย-ยูเครนเกิดขึ้นจริง เราพลเมืองโลกจะได้รับผลกระทบอย่างไร

18.02.2022
  • LOADING...
‘ถ้า’ สงครามรัสเซีย-ยูเครนเกิดขึ้นจริง เราพลเมืองโลกจะได้รับผลกระทบอย่างไร

HIGHLIGHTS

  • หากสงครามเกิดขึ้นจริงจะกระทบต่อ Supply ของสินค้าทุกประเภท ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ สินแร่โลหะต่างๆ และสินค้าโภคภัณฑ์ รวมไปถึงมาตรการคว่ำบาตรใหม่ๆ จะยิ่งทำให้สภาวการณ์ย่ำแย่ลง
  • ประเทศต่างๆ ในโลกอาจต้องเผชิญกับภาวะที่ต้องเลือกข้างรัสเซียหรือตะวันตก ในเกมขับเคี่ยวการเมืองโลกเกมนี้

วินาทีนี้คงไม่มีใครที่จะไม่ลุ้นสถานการณ์อันร้อนระอุที่กำลังเกิดขึ้นในยูเครนและรัสเซียว่าจะพัฒนาไปทางใด ถ้าหากสงครามเย็นพัฒนาไปเป็นสงครามร้อนเข้าจริงๆ พวกเราในฐานะพลเมืองไทยและพลเมืองโลกจะได้รับผลกระทบอย่างไร ในเมื่อจุดเกิดเหตุอยู่ห่างเราออกไปเกือบครึ่งโลก 

 

แน่นอนที่สุด จากสภาพของเศรษฐกิจโลกในยุคเรานั้นโยงใยและเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุความขัดแย้งต่างๆ ที่ถึงแม้จะอยู่กันคนละมุมโลก แต่ผลกระทบก็สามารถเกิดขึ้นกับคนทั้งโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัสเซียที่เป็นผู้ครอบครองทรัพยากรธรรมชาติเป็นจำนวน 1 ใน 3 ของทั้งโลก และยูเครนที่เป็นแหล่งผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก ซึ่งผลผลิตของทั้งสองประเทศถือเป็นปัจจัยสี่ที่ทุกคนบนโลกจำเป็นต้องบริโภคในชีวิตประจำวัน

 

พลังงานและก๊าซธรรมชาติ

รัสเซียเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของยุโรป และมีเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 11 ของโลกเมื่อใช้มาตรวัด GDP และเป็นอันดับที่ 6 ของโลกเมื่อวัดด้วย PPP 

 

ด้วยพื้นที่ที่กว้างใหญ่ไพศาลของรัสเซียที่ครอบคลุมเทือกเขาอูราล ป่าไซบีเรีย และแคว้นตะวันออกไกล ที่อุดมไปด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิล สินแร่ต่างๆ และป่าไม้ ทำให้รัสเซียเป็นผู้ครอบครอง 30% ของทรัพยากรธรรมชาติที่มีทั้งหมดในโลก จึงไม่ผิดเลยถ้ารัสเซียจะได้ชื่อว่า ‘อภิมหาอำนาจพลังงานของโลก’

 

โดยรัสเซียเป็นผู้ครอบครองแหล่งสำรองก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของโลก เป็นผู้ครอบครองแหล่งสำรองน้ำมันรายใหญ่อันดับ 8 ของโลก เป็นผู้ครอบครองแหล่งสำรองหินน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของยุโรป เป็นผู้ส่งก๊าซธรรมชาติรายใหญ่เป็นอันดับ 1 และผลิตก๊าซธรรมชาติเป็นอันดับ 2 ของโลก

 

โดยตัวอย่างมูลค่าการส่งออกของน้ำมันดิบอยู่ที่ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และก๊าซธรรมชาติ 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

ถ่านหินและสินแร่ต่างๆ

นอกจากนี้รัสเซียยังเป็นผู้ครอบครองแหล่งสำรองถ่านหินรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก รวมไปถึงสินแร่ต่างๆ เช่น ผู้เป็นผู้ส่งออกแพลทินัม วาเนเดียม และโคบอลต์ อันดับ 2 ของโลก เป็นผู้ส่งออกทองคำ นิกเกิล และกำมะถัน เป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นผู้ส่งออกเงินและฟอสเฟตเป็นอันดับ 4 ของโลก เป็นผู้ส่งออกแร่เหล็กเป็นอันดับ 5 ของโลก โดยตัวอย่างมูลค่าการส่งออกคือ ถ่านหิน 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ, แร่เหล็ก 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

เกษตรกรรม

ทั้งรัสเซียและยูเครนต่างเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลกด้วยกันทั้งคู่ โดยรัสเซียแม้มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลที่สุด แต่ด้วยสภาพอากาศที่ทารุณในหลายภาค ดังนั้นจึงมีพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การเพาะปลูกอยู่ที่ 122 ล้านเฮกเตอร์ ซึ่งก็ติด 1 ใน 3 ของโลกอยู่ดี ส่วนยูเครนอยู่ที่อันดับ 9 ที่มีพื้นที่เพาะปลูกอยู่ที่ 33 ล้านเฮกเตอร์ แถมยังเป็นดินดำที่มีความอุดมสมบูรณ์มากเป็นพิเศษ ยูเครนจึงมีอีกฉายาหนึ่งว่าเป็นตะกร้าขนมปังแห่งยุโรป 

 

รัสเซียเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรวมไปถึงผู้ผลิตข้าวบาร์เลย์ บัควีต และข้าวไรย์ อันดับ 1 ของโลก และยังเป็นผู้ผลิตเมล็ดทานตะวันอันดับ 2 ของโลก ในขณะที่ยูเครนเป็นผู้ผลิตเมล็ดทานตะวันเป็นอันดับ 1 ของโลก เป็นผู้ผลิตบัควีต มันฝรั่ง และฟักทอง เป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นผู้ผลิตข้าวโพดและกะหล่ำปลีเป็นอันดับ 5 ของโลก เป็นผู้ผลิตข้าวบาร์เลย์ ข้าวไรย์ ชูการ์บีต และเรปซีด เป็นอันดับ 7 ของโลก เป็นผู้ผลิตข้าวสาลีเป็นอันดับ 8 ของโลก 

 

จะเห็นได้ว่าทั้งรัสเซียและยูเครนครอบครองสัดส่วนจำนวนมากในฐานะผู้ Supply สินค้าโภคภัณฑ์ของโลก

 

จากข้อมูลเบื้องต้นทำให้เราเห็นแล้วว่ารัสเซียเป็น Spplier รายใหญ่ของโลกในด้านของพลังงานธรรมชาติ สินแร่ต่างๆ ถ่านหิน และเป็น Supplier รายใหญ่ร่วมกับยูเครนในด้านของสินค้าโภคภัณฑ์ ถ้าหากเกิดสงครามขึ้น ราคาก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องพุ่งสูงขึ้นกว่าทุกวันนี้แน่นอน เนื่องจากรัสเซียอาจใช้มาตรการงดส่งออก เนื่องจากนอกจากสินค้าดังกล่าวจะเป็นปัจจัยสี่ต่อประชากรในยุโรปแล้ว ยังเป็นยุทธปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเครื่องจักรสงครามของ NATO ให้มาต่อกรกับรัสเซีย แต่ในขณะเดียวกันการที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นก็เป็นผลดีกับทางฝั่งรัสเซียเองเช่นกัน เนื่องจากสถานะเงินรูเบิลค่อนข้างขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาน้ำมันด้วยเช่นกัน

 

หากเราย้อนไปดูพลวัตของทั้งสองหน่วยนี้ ทั้งก่อนและระหว่างเกิดสงครามผู้คนก็เริ่มวิตกกังวลและเริ่มถ่ายโอนทรัพย์สินให้มาอยู่ในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคง ปลอดภัย และได้รับการยอมรับทั่วโลกอย่างดอลลาร์และทองคำมากขึ้น ดังนั้นเราจะได้เห็นเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นและทองคำมีราคาสูงขึ้น

 

ความเสียหายจากสงครามจะเกิดขึ้นในพื้นที่ความขัดแย้งที่ตั้งอยู่บริเวณประเทศยูเครนและพรมแดนรัสเซียทางตอนใต้ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญเช่นกัน ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบต่อ Supply สินค้าโภคภัณฑ์ และสินค้าเหล่านี้จะต้องมีราคาแพงขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย โดยสิ่งที่ตามมาคือประเด็นเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร

 

นอกจากการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังทหารในการรบแล้ว โลกตะวันตกไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ หรือยุโรป ก็จะต้องใช้มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงขึ้นต่อรัสเซีย เพื่อ ‘บีบไข่’ ให้รัสเซียยอมถอยออกจากสมรภูมินี้ สหรัฐฯ ในฐานะผู้คุมเกมการเงินโลกอาจใช้มาตรการขัดขวางไม่ให้มีธุรกรรมการเงินในทุกภาคส่วนจากทุกประเทศบนโลกกับรัสเซียเป็นไปได้โดยสะดวก รวมไปถึงประเทศไทยที่มีมูลค่าการค้ากับรัสเซียค่อนข้างสูง โดยมีมูลค่านำเข้าจากรัสเซียเฉลี่ยที่ 5-6 หมื่นล้านบาท และส่งออกไปรัสเซียอยู่ที่ราว 3.2-3.4 หมื่นล้านบาท หากเกิดการบล็อกเส้นทางการเงินเข้าสู่รัสเซียก็จะเกิดความเสียหายต่อการค้าระหว่างไทยกับรัสเซียเช่นกัน 

 

ที่เลี่ยงไม่ได้คือ การเมืองระหว่างประเทศที่แต่ละประเทศคงจะถูกบีบให้เลือกข้างว่าจะเลือกฝ่ายตะวันตกหรือจะเลือกฝ่ายรัสเซีย โดยเฉพาะกับประเทศไทยที่มีความสัมพันธ์อันดีกับทั้งรัสเซียและยูเครน และลักษณะพิเศษของการทูตไทยคือ การคบค้าได้ทุกฝ่าย หรือที่เราเคยได้ยินคำว่า Siamese Talk แต่ด้วยสภาวการณ์ที่มีความแหลมคมเป็นอย่างยิ่ง การดำเนินนโยบายต่างประเทศในลักษณะนี้คงจะทำได้ไม่นานนัก คงจะต้องเป็นการบ้านที่กระทรวงการต่างประเทศจะต้องไปชั่งน้ำหนักทางเลือกต่างๆ ที่อาจต้องเลือกเพื่อธำรงไว้ซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติและประชาชนของเราให้มากที่สุด

 

ภาพ: Russian Defense Ministry / Handout / Anadolu Agency via Getty Images

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X