×

‘IEA’ ชี้แผนคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียกำลังส่งผลกระทบตามที่ตั้งใจไว้

17.02.2023
  • LOADING...
IEA

Toril Bosoni จากสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่า มาตรการคว่ำบาตรของของชาติตะวันตก นำโดยสหภาพยุโรป (EU) ที่สั่งห้ามและจำกัดราคาน้ำมันของรัสเซียกำลังมี “ผลกระทบตามที่ตั้งใจไว้” แม้ว่าการผลิตและการส่งออกจะฟื้นตัวได้อย่างน่าประหลาดใจในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา 

 

โดยเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กฎหมายที่ทาง EU ได้สั่งห้ามลำเลียงน้ำมันเข้ามาจากรัสเซียเริ่มมีผลบังคับใช้ ควบคู่ไปกับการกำหนดเพดานราคาน้ำมันของรัสเซียไว้ที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ที่ทางกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ 7 ประเทศ หรือ G7 ประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 

 

ทั้งนี้ ในฐานะหัวหน้าแผนกอุตสาหกรรมน้ำมันและตลาดของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ Bosoni อธิบายกับทาง CNBC ว่าการผลิตและการส่งออกน้ำมันของรัสเซียนั้น “ดีกว่าที่คาดไว้มาก” ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลรัสเซียสามารถเปลี่ยนเส้นทางลำเลียงน้ำมันดิบจำนวนมากที่เคยไปยุโรปไปยังตลาดใหม่ในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีน อินเดีย และตุรกี ที่เพิ่มการซื้อขึ้น ช่วยชดเชยการส่งออกน้ำมัน 400,000 บาร์เรลต่อวันที่รัสเซียส่งออกไปยังยุโรปในเดือนมกราคม 

 

ด้วยเหตุนี้ผลผลิตน้ำมันสุทธิของรัสเซียจึงลดลงเพียง 160,000 บาร์เรลต่อวันจากระดับก่อนสงครามในเดือนมกราคมก่อนหน้า โดยน้ำมัน 8.2 ล้านบาร์เรลถูกส่งไปยังตลาดทั่วโลก ซึ่ง IEA กล่าวว่า การจำกัดราคาของกลุ่ม G7 อาจช่วยหนุนการส่งออกของรัสเซียได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากรัสเซียถูกบังคับให้ขายน้ำมันในราคาที่ต่ำกว่าให้กับประเทศเหล่านั้น ทำให้รัสเซียเร่งส่งออกน้ำไปยังประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้ให้ความสนใจกับแหล่งที่มาของน้ำมันดิบมากมาย 

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัสเซียจะมีปริมาณการส่งออกจำนวนมาก แต่ Bosoni แย้งว่านี่ไม่ได้หมายความว่าการคว่ำบาตรของ EU ไม่ส่งผลกระทบสักทีเดียวนัก เพราะการกำหนดเพดานราคาจำกัดการนำเข้า ผลอย่างน้อยทำให้รายได้ของรัสเซียลดลง แม้จะมีการผลิตของรัสเซียออกสู่ตลาด แต่ตลาดก็ได้เห็นแล้วว่ารายได้ที่รัสเซียได้รับจากน้ำมันและก๊าซก็ลดลงอย่างมากเช่นกัน 

 

ตัวอย่างเช่น ในเดือนมกราคม รายได้จากการส่งออกของรัสเซียอยู่ที่ประมาณ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งลดลง 36% จากปีที่แล้ว ขณะที่รายรับทางการคลังของรัสเซียจากอุตสาหกรรมน้ำมันลดลง 48%

 

ดังนั้น ตามข้อมูลดังกล่าวทำให้สามารถพูดได้ว่ามาตรการการจำกัดราคามีผลตามที่ตั้งใจไว้

 

Bosoni เน้นย้ำถึงความแตกต่างที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างราคาน้ำมันดิบ Urals ของรัสเซีย และน้ำมันดิบ Brent ที่เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศ เดิมราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 49.48 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเดือนมกราคม ตามรายงานของกระทรวงการคลังรัสเซีย ขณะที่ Brent ซื้อขายสูงกว่า 85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในวันพฤหัสบดี

 

ที่สำคัญงบประมาณปี 2023 ของรัสเซียอิงจากราคาเฉลี่ยของน้ำมันดิบ Urals ที่ 70.10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ดังนั้นรายได้ทางการคลังที่ลดลงจากการประกอบกิจการน้ำมันเมื่อเทียบเป็นรายปีของรัสเซียจึงทำให้เกิดช่องโหว่มากมายในด้านการเงินสาธารณะ

 

ขณะเดียวกันแม้ว่าทางการรัสเซียจะตอบโต้ด้วยการประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าจะลดการผลิตลง 500,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนมีนาคม เพื่อตอบสนองต่อคำสั่งแบนของชาติตะวันตกรอบล่าสุด ซึ่งคิดเป็นประมาณ 5% ของผลผลิตน้ำมันดิบในปัจจุบัน แต่ก็ยังจำเป็นต้องรอดูดีมานด์การฟื้นตัวในหลายประเทศ โดยเฉพาะจีน ซึ่งถ้าดีมานด์เพิ่มขึ้น มาตรการตอบโต้ของรัสเซียในการควบคุมซัพพลายก็จะมีบทบาทต่อราคาน้ำมันอีกครั้ง แต่ขณะนี้ในระยะสั้นมาตรการดังกล่าวของรัสเซียยังไม่น่าจะมีผลอะไร เพราะปริมาณซัพพลายน้ำมันในขณะนี้มีเพียงพอต่อความต้องการ 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X