×

ปิดกั้น ICO เท่ากับตัดโอกาสบล็อกเชน ถามตรงตอบตรงกับ กรณ์ จาติกวณิช – ดร.การดี เลียวไพโรจน์

25.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • กรณ์ จาติกวณิช ประธานสมาคมฟินเทคประเทศไทย มองว่ากฎหมายชุดใหม่ที่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มคริปโตเคอเรนซีและการเก็บภาษี 15% จาก ICO เป็นเรื่องที่ ‘เกินไป’
  • ดร.การดี เลียวไพโรจน์ คาดหวังว่าหลักสูตร CAR จะสร้างความเข้าใจอันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อโอกาสของสตาร์ทอัพและนักลงทุนไทย

หลังจากที่เนื้อหาของกฎหมาย 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการกำกับดูแลเรื่องคริปโตเคอเรนซีและการระดมทุนผ่าน ICO เผยแพร่ออกไป ก็เกิดเสียงวิจารณ์ดังลั่นไปทั้งวงการการเงินและการลงทุน

 

ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่เคลื่อนไหวเรื่องดังกล่าวผ่านตัวบทกฎหมาย

 

สำนักข่าว THE STANDARD ร่วมพูดคุยกับ ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ ICORA และ กรณ์ จาติกวณิช ในฐานะประธานสมาคมฟินเทคประเทศไทย เพื่อหาคำตอบเรื่องผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการตีกรอบครั้งใหญ่ของภาครัฐในวันที่คนจำนวนมากเชื่อว่าไม่มีใครหยุดพลังของบล็อกเชนได้กับบทสัมภาษณ์พิเศษนี้

 

คุม ICO ใครได้เปรียบ-เสียเปรียบ หรือไม่มีใครได้อะไรเลย

 

 

THE STANDARD: มองบทบาทของภาครัฐผู้กำกับดูแลในขณะนี้อย่างไร กฎหมาย 2 ฉบับที่ออกมานี้จะกระทบกับใครบ้าง

 

กรณ์: ท่าทีของฝ่ายกำกับมีส่วนสำคัญต่อคำตอบว่าอนาคตแนวโน้มการลงทุนจะเป็นอย่างไร ต้องยอมรับว่าทางฝ่ายกำกับมีท่าทีกังวลเรื่องคริปโตเคอเรนซี ประเด็นหลักคงเป็นเรื่องความหวือหวาทางด้านราคา ภาวะไร้การกำกับดูแล โอกาสที่มิจฉาชีพจะเข้ามาหาผลประโยชน์จากตรงนี้ ซึ่งรวมถึงการฟอกเงินด้วย ไม่มีรัฐบาลหรือฝ่ายกำกับไหนที่ไม่มีความกังวลกับเรื่องที่เขาควบคุมหรือดูแลไม่ได้

 

ทางสมาคมฟินเทคฯ เองก็พยายามชักชวนฝ่ายกำกับให้เข้ามามีส่วนดูแลตั้งแต่ปีที่แล้ว เพราะเราอยากเห็นการกำกับดูแล มีกฎกติกาที่ชัดเจน ประเทศไทยเราเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกฎหมายควบคุมเรื่องนี้อย่างชัดเจนเป็นประเทศแรกๆ ในโลกเลย ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่เราต้องเข้าใจว่าเราออกกฎมาในสภาพแวดล้อมที่ยังไม่ค่อยมีกฎเกณฑ์ มันก็เลยเป็นข้อจำกัดเมื่อเทียบกับประเทศที่ไม่มีเลย

 

ล่าสุดเราออกกฎหมายมา 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งคือการกำกับดูแลการทำธุรกิจที่เกี่ยวกับคริปโตเคอเรนซี มีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เป็นผู้ดูแล ไม่ได้มีอะไรที่เหนือความคาดหมาย เพราะที่ผ่านมาก็ปรึกษากับทาง กลต. อย่างใกล้ชิด กลต. ก็รับฟังความคิดเห็นกัน ซึ่งค่อนข้างชัดเจนว่าจะเอาไปปฏิบัติได้จริงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นเรื่องคริปโตเคอเรนซีและการระดมทุนผ่านการเสนอขายเหรียญในระยะเริ่มต้น หรือ ICO

 

ที่เป็นประเด็นคือกฎหมายอีกฉบับหนึ่งซึ่งแก้ไขประมวลรัษฎากรในประเด็นที่เกี่ยวกับภาษีมันมีเรื่องที่ยังไม่ลงตัวสองประเด็น หนึ่งคือการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ซึ่งกระทรวงการคลังมองว่าคริปโตเคอเรนซีไม่ใช่สกุลเงิน แต่เป็นสินทรัพย์ ดังนั้นควรเสียภาษี VAT ถ้าเป็นแบบนี้ก็คือจบเลย ผมเชื่อว่าจะไม่มีการซื้อขายคริปโตเคอเรนซีในระบบของประเทศไทย นักลงทุนจะไปซื้อขายในตลาดต่างประเทศแทน

 

THE STANDARD: ทำไมต้องไปทำ ICO ที่ต่างประเทศ ข้อจำกัดคืออะไร

 

กรณ์: ถ้าเก็บภาษี VAT 7% ทุกๆ ครั้งที่ซื้อขาย มันก็จะเป็นต้นทุนที่สูงมากถ้าเทียบกับการซื้อขายหุ้นซึ่งไม่มีภาษีตรงนี้ และจะไปเก็บกับค่าคอมมิชชันที่จ่ายให้กับโบรกเกอร์แทน กรณีนี้คือซื้อขายคริปโตเคอเรนซี 1 ล้านบาทก็จะเก็บ 7% จาก 1 ล้านบาท คือ 7 หมื่นบาท

 

ส่วนการเก็บภาษี 15% จากกำไรการซื้อขายคริปโตเคอเรนซีที่เกิดขึ้น ผมไม่ค่อยกังวลส่วนนี้ แต่ที่เป็นปัญหาคือความตั้งใจที่จะเก็บภาษีจากการประเมินเงินที่สตาร์ทอัพระดมได้ผ่าน ICO ซึ่งจะเก็บภาษีเสมือนรายได้ที่ 15% ตรงนี้ผมว่าเป็นปัญหา เพราะ ICO ไม่ใช่รายได้ แต่เป็นทุน เหมือนเวลาที่หุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ ตอนเสนอขายหุ้นต่อประชาชนครั้งแรก หรือ IPO เงินก็เข้าบริษัทโดยไม่ต้องเสียภาษี เพราะนั่นคือทุน จะเก็บไว้ใช้ทันทีหรือใช้เมื่อไรก็ได้ ไม่ได้เป็นภาระทางด้านภาษี ซึ่งมอง ICO ต่างออกไป ถ้าเป็นเช่นนั้นก็คงไม่มีใครออก ICO ในประเทศไทย แต่อาจจะหันไปออกในประเทศใกล้ๆ อย่างสิงคโปร์ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญของ ICO นี่เอง

 

ถ้าไปออก ICO ที่สิงคโปร์หรือประเทศอื่น ข้อจำกัดจะมีอย่างเดียวคือประชาสัมพันธ์ขายในประเทศไทยไม่ได้อย่างเป็นทางการ แต่นักลงทุนก็สามารถไปซื้อคริปโตเคอเรนซีหรือเหรียญของบริษัทไทยที่ไปจดทะเบียนที่ต่างประเทศได้

 

ถ้าทางการเราตั้งเป้าหมายจากกฎหมายนี้เป็นเรื่องการสร้างรายได้ มันจะไม่มีรายได้เข้ามา เพราะไม่เกิดธุรกรรมในประเทศ บรรดาสตาร์ทอัพก็จะไปออกเหรียญในต่างประเทศแทน แต่ถ้าบอกว่าเป้าหมายคือการควบคุมดูแล มันจะทำได้เพียงแค่ผลักความรับผิดชอบไปให้ผู้อื่น เพราะธุรกรรมไปเกิดที่อื่น ผู้ที่กำกับดูแลหรือทางการก็ไม่ต้องมารับผิดชอบ

 

THE STANDARD: มันไม่สมเหตุสมผลกับสถานการณ์ที่เป็นจริงและกระทบกับการลงทุนอย่างไร

 

 

กรณ์: เรื่องภาษี ถ้าเก็บส่วนของเงินที่ระดมทุนได้โดยตีความว่าเป็นรายได้แล้วเก็บภาษี ผมคิดว่านั่นคือเกินไป เช่นเดียวกันกับการเก็บภาษี VAT จากมูลค่าของคริปโตเคอเรนซีที่ซื้อขายผ่านตลาดในประเทศไทยก็เป็นต้นทุนที่สูงเกินไปเช่นกัน

 

ดร.การดี: ถึงเวลาที่เราต้องเข้าใจว่าการทำ ICO เป็นการระดมทุนที่ได้เร็ว ยืดหยุ่น เข้าถึงโอกาสได้ง่ายสำหรับสตาร์ทอัพและบริษัทที่ต้องการทุน แต่กระบวนการออก ICO ในขณะนี้มีต้นทุนที่สูง ปัจจัยด้านราคาที่ออก กำลังคน และทรัพยากรต่างๆ ที่จำเป็น มันไม่ใช่โอกาสสำหรับสตาร์ทอัพแล้ว แต่กลายเป็นโอกาสของบริษัทขนาดกลางหรือขนาดใหญ่มากกว่า

 

THE STANDARD: มองบทบาทเรื่อง ICO ต่อไปอย่างไรในอนาคต เป็นไปได้หรือไม่ที่องค์กรต่างๆ จะพากันหนีจากตลาดทุนแบบเดิมๆ มาที่การระดมทุนรูปแบบใหม่นี้

 

กรณ์: ไม่ครับ ตรงกันข้ามกันเลย ในขั้นแรกสตาร์ทอัพจะระดมทุนผ่าน ICO แต่สุดท้ายก็เหมือนเฟซบุ๊กหรือแบรนด์เทคโนโลยีใหญ่ๆ เขาต้องเข้าสู่ตลาดหุ้นเพื่อทำ IPO อยู่ดี

 

THE STANDARD: ถ้าเป็นแบบนั้นเราจะเสียโอกาสอะไร

 

กรณ์: คริปโตเคอเรนซีและ ICO มีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะกับการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่ง ICO กับบล็อกเชนเป็นเรื่องที่ไปด้วยกัน บล็อกเชนมีประโยชน์ต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในทุกๆ เรื่อง ลดความจำเป็นในการพึ่งพาคนกลาง ช่วยยืนยันข้อเท็จจริง ซึ่งขั้นตอนตรงนี้มีต้นทุนทั้งสิ้นไม่ว่าจะสำหรับธนาคาร รัฐบาล หน่วยงานราชการ บริษัทประกัน หรือใครก็แล้วแต่ที่มีหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ใช้บริการร่วมกัน หรือผู้ซื้อกับผู้ขาย บล็อกเชนจะเข้ามาช่วยตรงนี้

 

ถ้าสมมติว่าเราไปปิดทางโดยการเพิ่มต้นทุนของกระบวนการเข้าไปก็จะเหลือแต่บริษัทขนาดใหญ่หรือองค์กรรัฐเองที่มีต้นทุนในการพัฒนาบล็อกเชนได้ ทุกๆ การเปลี่ยนแปลงจะมีผู้ที่เสียผลประโยชน์ ในกรณีนี้ก็คือคนที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในปัจจุบัน

 

THE STANDARD: ใครที่น่าจะกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้และอาจจะเสียผลประโยชน์ที่เคยมีได้

 

ดร.การดี: สถาบันการเงินอย่างธนาคารและโบรกเกอร์ต่างๆ คือผู้เล่นรายใหญ่ในตอนนี้ ในมุมของการออก ICO ผู้ที่จะกระทบชัดเจนก็หนีไม่พ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพราะพื้นที่ในการระดมทุนไม่ใช่แค่บน SET อีกต่อไป แต่กฎหมายที่ออกมานี้กลายเป็นว่าไปเอื้อต่อการทำธุรกิจของกลุ่มอุตสาหกรรมฐานเดิม

 

กฎหมายสำหรับเรื่องนี้ควรที่จะปรับเพื่อให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของบล็อกเชนว่าคืออะไร มันคือเทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่ทำให้คนตัวเล็กๆ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ บล็อกเชนมีผลอย่างมากต่อรูปแบบการทำธุรกิจ ระบบเดิมที่มีคือระบบปิด บล็อกเชนมันจะทำให้คนอื่นๆ ที่ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับบริษัทหรือไม่ได้เป็นเจ้าของเข้ามาเป็นกลไกในธุรกิจด้วย เป็นกลไกที่ทำให้เรื่อง Crowdsource และ Crowd Participation เกิดขึ้น ทำให้เกิดระบบที่น่าเชื่อถือ

 

กรณ์: สำหรับสตาร์ทอัพ การจะเข้าถึงแหล่งเงินได้ด้วยตัวเองก็คือการระดมทุนผ่าน ICO นี่ล่ะ เพราะเขาไม่มีทุนหรือสินทรัพย์อะไร จะไปกู้จากธนาคารก็ไม่เข้าเกณฑ์ เพราะยังไม่เกิดรายได้ หลักประกันหรือทุนบริษัทก็ไม่มี ดังนั้นถ้าเราไปปิดกั้นเรื่อง ICO โดยสร้างต้นทุนผ่านกฎหมายที่เป็นอยู่นี้ นวัตกรรมด้านนี้ก็จะมีข้อจำกัด

 

THE STANDARD: วงการธุรกิจ การเงินการลงทุน พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าจะไม่มีใครหยุดการเข้ามาของเทคโนโลยีบล็อกเชนได้ ในเมื่อเกิดข้อจำกัดแบบนี้จะทำอย่างไรต่อดี

 

 

ดร.การดี: ถึงเวลาที่เราต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้ชัดเจน เราจึงจัดหลักสูตร Crypto Asset Revolution หรือ CAR ขึ้นมา หลักสูตรนี้เป็นการให้ความรู้ความเข้าใจด้านการลงทุน ICO และคริปโตเคอเรนซีแก่นักลงทุน ผู้ประกอบการ และบุคลากรในสถาบันต่างๆ ให้ถูกต้อง โดยมีวิทยากรที่มีประสบการณ์ตรงด้านนี้ ซึ่งคอร์สนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 มิถุนายนถึง 14 สิงหาคม 2561 ค่ะ

 

กรณ์: สมาคมฟินเทคฯ ของเราก็จะเข้ามาให้ความรู้ด้วย ความกลัวเกิดจากความไม่รู้ หนึ่งในหน้าที่ของสมาคมฟินเทคฯ คือการให้ความรู้ แลกเปลี่ยนมุมมอง ลดความหวาดกลัวและความกังวลกับเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นในอนาคต แม้แต่ประเทศจีนที่อำนาจรัฐของเขาเด็ดขาดมากก็ยังห้ามซื้อขายคริปโตเคอเรนซีในบางช่วงเท่านั้นเพื่อทำให้เขาได้มีเวลาปรับตัวสู่เทคโนโลยีใหม่ จากนั้นจึงจะกำหนดกฎเกณฑ์ได้

 

THE STANDARD: ถ้าบอกว่าต้องการทำความเข้าใจที่ถูกต้อง แสดงว่าทุกวันนี้ก็ยังเข้าใจกันผิด

 

ดร.การดี: ไม่เชิงค่ะ แต่คิดว่าสิ่งที่เป็นอยู่มันยึดติดกับอดีตมากเกินไป อย่างเรื่องภาษี เราไม่สามารถตีความสถานการณ์ปัจจุบันที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีใหม่โดยใช้ทฤษฎีเดิมๆ ที่มีมานานแล้วได้ มันเป็นการพูดกันคนละเรื่อง ไม่ใช่ว่าเขาผิดหรือเราถูก แต่อยากบอกว่านี่คือสิ่งใหม่ที่เราน่าจะศึกษาร่วมกันมากกว่า เจ้าหน้าที่จากภาครัฐให้ความสนใจหลักสูตร CAR นี้เยอะมาก มีคนจากทั้ง กลต. กรมสรรพากร ตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือกระทั่งธนาคารแห่งประเทศไทยค่ะ

 

THE STANDARD: ฟังดูเหมือนนี่จะไม่ใช่หลักสูตรเรียนเสียทีเดียว เหมือนเป็นเวทีอะไรบางอย่าง ทั้งสองท่านคาดหวังไหมว่าจบหลักสูตร CAR ไปแล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงตัวบทกฎหมายเพื่อทำให้ผลักดันเรื่องพวกนี้ง่ายขึ้น

 

ดร.การดี: หวังไว้ค่ะ เราจะมี CAR White Paper ออกไป นี่คือความคาดหวังส่วนหนึ่งของ CAR ค่ะ

 

กรณ์: ทางสมาคมฟินเทคฯ ก็จะมีเอกสารไปเสนอทางการ เราก็จะนำมาแลกเปลี่ยนในหลักสูตรนี้ด้วย บอกอย่างชัดเจนว่าทำไมเราจึงเสนอแบบนี้ และทางผู้ที่เกี่ยวข้องคิดเห็นอย่างไร

 

THE STANDARD: สิ่งที่น่าสนใจของหลักสูตรนี้คืออะไร

 

ดร.การดี: เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้จากทั่วโลกทั้งจากอเมริกาหรือในเอเชียมาถ่ายทอดและทำเวิร์กช็อปด้วยกัน นี่จะเป็นหลักสูตที่เราจะทำภาพใหญ่ของบล็อกเชน คริปโตเคอเรนซี และ ICO ให้ชัดเจน นี่เป็นการปรับจูนมุมมองให้ตรงกันในทุกระดับ เป็นการให้ความรู้เบื้องต้นกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ และนักลงทุน

 

กรณ์: ตอนนี้เรามีบริษัทเล็กบริษัทน้อยหรือสตาร์ทอัพมากมายที่อยากจะสร้างธุรกิจในประเทศไทย แต่ถ้าเราจะเก็บภาษีพวกเขาตั้งแต่วันแรกๆ เลย มันก็เท่ากับดันให้เขาไปอยู่ต่างประเทศแทน มันเป็นตรรกะที่แปลกมาก แทนที่จะให้เขาแจ้งเกิดที่นี่ ในอนาคตเขาอาจจะเป็นแบบเฟซบุ๊กหรือเป็นแอมะซอนขึ้นมาก็ได้ ภาษีจากรายได้ของธุรกิจเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยมหาศาล แต่ถ้าเราดันเขาไปสำเร็จที่ต่างประเทศ เราก็ไม่ได้รายได้จากภาษีตรงนั้น

 

ถือเป็นหลักสูตรที่น่าจับตาอย่างยิ่ง เพราะไม่ใช่พื้นที่ที่ ‘ใครก็ได้’ จะเข้าเรียนได้ การรวมตัวกันของผู้มีอำนาจด้านนโยบาย ผู้กำกับดูแล นักลงทุน และผู้ประกอบการครั้งนี้จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลง หรือกระทั่ง ‘ผ่อนปรน’ บางข้อจำกัดสำหรับ ICO และคริปโตเคอเรนซีได้จริงหรือไม่ คงต้องติดตามต่อไป

 

ไม่มีใครต้านทานการเปลี่ยนแปลงได้


ที่เป็นปัญหาก็คือผู้ที่ไม่รู้ว่าจะต้องเปลี่ยนและผู้ที่ไม่เต็มใจจะเปลี่ยนเท่านั้น

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising