ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) หรือศาลโลก เตรียมตัดสินคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮีนจา ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในเมียนมาที่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยความรุนแรงโดยกองทัพเมียนมา และนำไปสู่การอพยพครั้งใหญ่ที่ชาวโรฮีนจากว่า 700,000 คนต้องลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างบังกลาเทศ คาดการตัดสินจะมีขึ้นในวันที่ 23 มกราคมนี้
การใช้กระบวนการยุติธรรมของสหประชาชาติในครั้งนี้เริ่มต้นจากประเทศแกมเบีย ประเทศเล็กๆ ในแอฟริกาใต้ ที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ได้ยื่นฟ้องต่อเมียนมาในนามตัวแทน 57 ชาติสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยอ้างว่าเมียนมาละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แห่งองค์การสหประชาชาติ เพื่อให้ศาลโลกใช้อำนาจผ่านทุกมาตรการที่ช่วยป้องกันการก่ออาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้อีก
โดยทีมนักกฎหมายได้นำหลักฐาน ทั้งแผนที่ ภาพถ่ายทางดาวเทียม ที่บ่งชี้ว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจาได้เกิดขึ้นจริงในรัฐยะไข่ ทางตอนเหนือของเมียนมาเมื่อปี 2017 ชาวโรฮีนจาถูกเข่นฆ่า ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยถูกข่มขืน อีกทั้งยังถูกเผาไล่ที่จนทำให้ต้องอพยพหนีตายในท้ายที่สุด
ทางด้าน ออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาประเทศเมียนมา และรัฐมนตรีต่างประเทศแก้ต่างแทนกองทัพเมียนมา พร้อมยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลลัพธ์จากการเริ่มใช้ความรุนแรงของกลุ่มติดอาวุธของชาวโรฮีนจาก่อน ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของประเทศ
โดยการใช้ศาลโลกพิจารณาตัดสินคดีความถือเป็นหนึ่งในสองวิธีการหลัก เพื่อระงับข้อพิพาททางกฎหมายในประชาคมโลก ร่วมกับการใช้อนุญาโตตุลาการ ซึ่งศาลโลกเป็นองค์กรอิสระที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการจัดตั้งของคู่พิพาทฝ่ายใด อีกทั้งจะเป็นผู้พิจารณาเองว่าคู่พิพาทฝ่ายใดมีสิทธิ์หรือไม่มีสิทธิ์นำคดีขึ้นสู่ศาลโลก ต่างจากอนุญาโตตุลาการตรงที่คู่พิพาทต่างตกลงกันนำเรื่องให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ตัดสิน โดยรัฐเท่านั้นที่มีคุณวุฒิที่จะสามารถฟ้องต่อศาลโลกได้
ภาพ: International Court of Justice / Handout/Anadolu Agency via Getty Images
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: